FWD พัฒนาชุมชนลาหู่ดอยปู่หมื่น ต้นแบบอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง-ยั่งยืน
“ปลูกชา ปลูกชีวิต อยากให้ชาดอยปู่หมื่นเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการยอมรับ นำมาสู่การสร้างรายได้และสังคมที่ยั่งยืนของชาวบ้าน” นี่คือเป้าหมายร่วมของชุมชนและ FWD ประกันชีวิต ในการเข้ามาดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
ในการคัดเลือกชุมชนของFWD ประกันชีวิต มองที่ผู้นำชุมชนมีความเข้มแข็งเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น มีจุดเด่น 3 ประการ ได้แก่ 1.มีความตั้งใจ 2.ศักยภาพและ3.ความพร้อมทั้งภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่เป็นป่าต้นน้ำ มีคนรุ่นใหม่ๆพร้อมสารต่อการทำงาน ทั้งนี้การส่งเสริมพัฒนาเรื่องของ “ชา”ทั้งห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เนื่องจาก “การปลูกชาอัสสัมเป็นอาชีพหลักของชุมชน หลังเปลี่ยนมาจากอดีตที่เคยปลูกฝิ่น”
เดวิด โครูนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือFWD ประกันชีวิต กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2564 หลังจากที่ FWD ประกันชีวิต ได้คัดเลือกชุมชน ลงพื้นที่และเริ่มทำงานร่วมกับชุมชนลาหู่ ในโครงการพัฒนาชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างประโยชน์ให้สังคมสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายของ FWD ที่สนับสนุนให้ผู้คนในสังคมไทยได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่แบบไม่ต้องกังวล
ภายใต้กรอบแนวคิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3 ด้าน คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการทำงานได้รับความร่วมมือจากหลายส่วนในการร่วมพัฒนาและทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (อพท.) ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.เชียงใหม่
โครงการพัฒนาชุมชนของ FWD ประกันชีวิต ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการธนาคารต้นกล้า เป็นความต้องการที่สำคัญและเร่งด่วนของชุมชน ช่วยแก้ปัญหาเรื่องจำนวนต้นกล้าไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับพื้นที่ และต้องการเพิ่มผลผลิตชาให้มากขึ้น ด้วยการมอบต้นกล้าชาและเมล็ดพันธุ์ให้กับสมาชิกในโครงการ โดยให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการต้นกล้าอย่างเป็นระบบด้วยตัวเอง มีนายธนาคารเพื่อช่วยในการดำเนินการ พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเพาะปลูก ตั้งแต่การเพาะเมล็ด คัดเลือกต้นกล้าที่แข็งแรง การดูแลต้นกล้า การใช้ปุ๋ยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการเก็บเกี่ยวตามมาตรฐาน
ปี 2565 ได้มอบต้นกล้าให้สมาชิกรุ่นที่ 1 รวม 2,100 ต้น และเมล็ดพันธุ์รวม 21 กก.และในปีนี้มอบต้นกล้าให้แก่สมาชิกรุ่นที่ 2 รวม 1,200 ต้น และเมล็ดพันธุ์อีก 12 กก. ซึ่งชุมชนได้รับต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์ที่ลงแปลงเพาะแล้วกว่า 5,000 ต้น มีครัวเรือนเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มจาก 21 เป็น 33 ครัวเรือน และผลการสำรวจพบว่า 86.6% สมาชิกได้นำองค์ความรู้ ไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรของตนเองและเห็นการเปลี่ยนแปลง
2.โครงการพัฒนาคุณภาพชา ให้สมาชิกมีองค์ความรู้ในเชิงบูรณาการ เข้าใจรูปแบบการผลิตที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ มีส่วนร่วมเพิ่มคุณภาพของผลผลิตตามหลักเกษตรอินทรีย์โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ในการอบใบชา การเพาะปลูกที่ใช้ปุ๋ยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการพัฒนาโรงอบใบชา เป็นนวัตกรรม “โรงอบชาอัจฉริยะ” (SMART) ที่ใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์
ผลปรากฏว่า สามารถแก้ไขข้อจำกัดในกระบวนการผลิตชาให้มีคุณภาพมากขึ้นจากโรงอบเดิมที่ตากชาได้เพียง 60 ถาด ตากใบชาสดได้ 200 กก./รอบ จำนวนใบชาแห้งที่ได้ 40 กก./รอบ เป็นตากชาได้ 100 ถาด ตากใบชาสดได้เพิ่มขึ้นเป็น 300 กก./รอบ จำนวนใบชาแห้งที่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 60 กก./รอบ
นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตั้งระบบ SMART Device ภายในโรงอบชา เพื่อแสดงผลฐานข้อมูลอุณหภูมิและความชื้นของโรงอบชาผ่านโทรศัพท์มือถือมาใช้ในการอ่านข้อมูล นำมาวิเคราะห์และหาแนวทางการพัฒนาโรงอบชาต่อไป
และ3.โครงการเพิ่มมูลค่าชาอัสสัม มีแนวคิดในการนำใบชาไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เพื่อยกระดับชาอัสสัมจากดอยปู่หมื่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจาก “เชฟชุมพล แจ้งไพร” เชฟมิชลิน 2 ดาว ผู้นำเสนอประสบการณ์อาหารไทยแบบ Fine Dining นำใบชามารังสรรค์ 3 เมนูอาหารคาว และ 2 เมนูเครื่องดื่ม
มีแผนที่จะนำชาอัสสัมไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆด้วย นอกจากนี้ แนะนำชุมชนถึงวิธีการทำการตลาด การจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆทั้งออนไลน์ และต่อยอดสู่การออกบูธแสดงสินค้าของชุมชนในอนาคต
ด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนมีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ความรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อเป็นช่องทางการตลาดในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การทำธุรกิจออนไลน์ การทำคอนเทนต์ การถ่ายภาพออนไลน์ ตลอดจนการเล่าเรื่องราว เพื่อสื่อสารอัตลักษณ์เด่นและเรื่องเล่าของชุมชน
“การทำงานขั้นตอนต่อไป จะนำข้อมูลที่ได้เกี่ยวกับผลผลิตใบชาที่มีคุณภาพ เพื่อให้ได้รับมาตรฐานที่เป็นสากล โดยมุ่งหวังให้ชุมชนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน หลังจากได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมความรู้ทั้งในเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ FWD ประกันชีวิต จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้เป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาชุมชนอื่นๆ ต่อไป” เดวิด กล่าว
ขณะที่สมคิด จะนะ และสมนึก วัชรนิธิกุล เกษตรกรผู้ปลูกชาและนายธนาคารต้นกล้า ดอยปู่หมื่น บอกว่า การปลูกชาเป็นอาชีพหลักของคนดอยปู่หมื่น ที่ผ่านมาพบว่ายังมีพื้นที่เกษตรว่างสามารถปลูกชาได้เพิ่มเติม แต่เจอปัญหาเรื่องของการไม่มีต้นกล้า เมื่อมีธนาคารต้นกล้าทำให้เกษตรกรสามารถปลูกชาอัสสัมในปริมาณเพิ่มขึ้น ที่สำคัญ ยังมีความรู้เรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งภายใต้การพัฒนาร่วมกันมั่นใจว่าในอนาคตชาดอยปู่หมื่นจะผลักดัน ก้าวสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อสร้างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้แก่สมาชิกสามารถนำไปต่อยอดในการจำหน่ายชาให้มีราคาขายมากยิ่งขึ้น เพิ่มรายได้ในระยะยาว และพัฒนาคุณภาพชีวิต
“จุดเด่นของการปลูกชาดอยปู่หมื่น คือตั้งแต่ อดีตถึงปัจจุบันการปลูกชา ไม่เคยใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้สารเคมี เพราะที่ตั้งชุมชนอยู่ต้นน้ำ หากใช้สารเคมีพื้นที่กลางน้ำ ปลายน้ำก็จะได้รับผลกระทบไปหมด หวังว่าในอนาคตชุมชนจะมีแบรนด์ชาดอยปู่หมื่นของตัวเองที่มีตรารับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เพราะการปลูกชาเป็นเหมือนการปลูกชีวิตของคนที่นี่”สมคิด กล่าว