"ไข้หวัดนก"ในไทย เฝ้าระวังในทุกสัตว์ที่เสี่ยง ทุกสายพันธุ์ในคน

"ไข้หวัดนก"ในไทย เฝ้าระวังในทุกสัตว์ที่เสี่ยง ทุกสายพันธุ์ในคน

“สมศักดิ์”ลั่นไทยยังไม่มีความเสี่ยง “ไข้หวัดนก” ขณะที่กรมควบคุมโรคยืนยันไทยมีแผน One Health เฝ้าระวังทั้งในสัตว์และคน ยืนยันดูทุกสัตว์เสี่ยง สุ่มตรวจในคนดูทุกสายพันธุ์

KEY

POINTS

  • กางแผนเฝ้าระวังไข้หวัดนกของประเทศไทย One Health ร่วม 3 หน่วยงานหลัก ยืนยันเฝ้าระวังในสัตว์ทุกชนิดที่เสี่ยง ไม่เฉพาะสัตว์ปีก ในคนมีสุ่มตรวจหาสายพันธุ์จากผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 
  • กรมควบคุมย้ำล้าน % ขณะนี้ในไทยยังไม่มีผู้ป่วยไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์ และยังไม่ได้รับรายงานจากกรมปศุสัตว์ว่าสัตว์ปีก หรือสัตว์อื่นๆ ตายโดยผิดปกติ
  • สถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญในไทย 4 กลุ่ม  1.โรคระบบทางเดินหายใจ 2. โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ได้แก่ โรคหัดและโรคไอกรน 3.โรคติดต่อนำโดยแมลง ไข้เลือดออก มาลาเรีย  4.วัณโรค

"สถานการณ์โรคไข้หวัดนก"แม้ในประเทศไทยจะไม่มีรายผู้ป่วยติดเชื้อมาตั้งแต่ปี  2550 แต่การพบเหตุการณ์ในต่างประเทศที่มีรายงานมากขึ้น อย่างกรณีการพบคนติดเชื้อสายพันธุ์H5N1หลังสัมผัสโค ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การพบเด็กชาวออสเตรเลียติดH5N1หลังเดินทางกลับจากประเทศอินเดียแต่ไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก

และล่าสุด องค์การอนามัยโลก(WHO) แถลงว่า คนไข้วัย 54 ปี ในกรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดนก H5N2 เป็นรายแรกของโลก โดยไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรือสัตว์อื่น และมีโรคประจำตัวหลายโรค

ไทยยังไม่มีความเสี่ยงไข้หวัดนก            

 “ณ วันนี้ประเทศไทยยังไม่มีความเสี่ยง” นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ตอบคำถามเรื่องสถานการณ์โรคไข้หวัดนกสำหรับประเทศไทย  ภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2567

ก่อนย้ำว่า  ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์เรื่องโรคไข้หวัดนก หลังพบผู้ติดเชื้อที่ประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย โดยเฉพาะในประเทศเม็กซิโกที่เกิดการติดเชื้อและเสียชีวิตทั้งที่ไม่ได้มีประวัติการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง ถือเป็นข้อมูลใหม่

 ทั้งนี้ ไทยมีการเตรียมความพร้อมระวังเหตุ แม้ว่าวันนี้จะยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมานานหลายปีก็ตาม มีทีมวิชาการคอยติดตามอยู่แล้ว ต้องเปิดตำรามาดู และเก็บข้อมูล รวมถึงนำข้อมูลต่างประเทศมาใช้ ตลอดจนการมองหายารักษาโรค ส่วนในต่างประเทศก็ต้องติดตามสถานการณ์ผ่านองค์การโรคระบาดสัตว์อย่างใกล้ชิด

“ในอดีตตอนที่ไทยเจอการระบาดก็มีการทำลายสัตว์ปีกจำนวนมหาศาลโดยใช้ระเบียบกำกับด้วย แต่ปัจจุบันมีการปรับปรุงระเบียบให้ทันสมัยมากขึ้น ไม่จำเป็นที่ต้องไปทำลายสัตว์เป็นจังหวัดๆ แต่ให้ดำเนินการในกลุ่มหมู่บ้านเล็กๆ ”นายสมศักดิ์กล่าว   

3 หน่วยงานร่วม One Health

ขณะที่นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีระบบในการติดตามเฝ้าระวังไข้หวัดนกตลอด โดยดำเนินการที่เรียกว่า วัน เฮลธ์ (One Health) ร่วมกันของ 3 หน่วยงานหลัก คือ กรมปศุสัตว์ ดูแลสัตว์ กรมควบคุมโรคดูเรื่องคน ก็จะดูว่าบริเวณที่มีสัตว์ปีกป่วยตาย มีใครมีอาการไข้ เหมือนไข้หวัดนกหรือไม่  และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูเรื่องของสัตว์ป่า  ซึ่งไม่ได้ร่วมมือกันระดับกรมเท่านั้น แต่ร่วมมือถึงระดับจังหวัด  รวมถึงระดับต่างประเทศ อย่างเช่น ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ หรือ CDC มีการส่งข้อมูลแลกเปลี่ยนกันตลอด

“ขอยืนยัน 100% และล้านเปอร์เซ็นต์ว่า ในไทยขณะนี้ยังไม่มีไข้หวัดนกไม่เฉพาะสายพันธุ์ H5N1 แต่รวมถึงสายพันธุ์อื่นด้วย ที่สำคัญยังไม่ได้รับรายงานจากกรมปศุสัตว์ว่า มีสัตว์ปีก หรือสัตว์อื่นๆ ตายโดยผิดปกติ” นพ.ธงชัยกล่าว 

เฝ้าระวังไข้หวัดนกสัตว์ทุกชนิด-ในคนทุกสายพันธุ์

เมื่อถามว่าการเฝ้าระวังไข้หวัดนกของประเทศไทยดำเนินการในสัตว์ชนิดอื่นนอกจากสัตว์ปีกและเฝ้าระวังคนป่วยทุกสายพันธุ์ไม่เฉพาะสายพันธุ์H5N1หรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า  ปศุสัตว์มีแผนการเฝ้าระวังในสัตว์ชนิดอื่นด้วย ส่วนในคนที่กรมควบคุมโรคดูแลนั้น ในพื้นที่ที่มีสัตว์ป่วยตายผิดปกติไม่เฉพาะสัตว์ปีก ต้องมีการตื่นตัว ต้องไม่คิดว่าเป็นโรคทั่วไป ต้องมีเฝ้าระวัง ซึ่งไข้หวัดนก ส่วนใหญ่จะต้องเจอที่สัตว์ก่อนถึงจะมาที่คน

นอกจากนี้  มีกรณีที่มีการสุ่มตรวจในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เป็นประจำ เพื่อดูสายพันธุ์ว่าเป็นไวรัสอินฟลูเอนซาชนิดไหน  ถ้าเจอสายพันธุ์ที่แปลกก็จะลงไปดูละเอียด รวมถึง ไวรัสอินฟลูเอนซาสายพันธุ์ของโรคไข้หวัดนกด้วย ส่วนการเฝ้าระวังระหว่างประเทศ กรณีของคน ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค ก็มีการพิจารณามาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 
ท้ายที่สุดถามย้ำว่า 4 ระดับของการเฝ้าระวังไข้หวัดนกในประเทศไทยอยู่ในระดับใด นพ.ธงชัย กล่าวว่า เขียวปี๋หรือยังไม่มีสีเลย วันนี้ต้องบอกว่าคนไทยป่วยไข้หวัดนกเป็น 0 ราย

แนวทางเฝ้าระวังไข้หวัดนกและระดับระบาด

แนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังไข้หวัดนกและระดับการระบาดของไข้หวัดนก ที่จัดทำโดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เมื่อต้นปี  2566 ระบุการเฝ้าระวังใน 4 ระดับ คือ

1.การเฝ้าระวังเฉพาะพื้นที่เฉพาะกลุ่ม (Sentinel surveillance) ในสถานพยาบาล โดยการสุ่มตัวอย่างจากผู้ป่วยทางเดินหายใจ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ หากผลเป็นบวกจะจำแนกสายพันธุ์ย่อยต่อไป

2.การเฝ้าระวังผู้ป่วยเฉพาะรายแบบยกระดับ(Enhanced cased-based surveillance) ได้แก่ การซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก ณ จุดคัดกรองโรคของสถานพยาบาล ในกรณีที่พบผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และติดป้ายแจ้งเตือนบริเวณจุดคัดกอรงกรณีมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกให้แจ้งเจ้าหน้าที่รพ.

3.การเฝ้าระวังเหตุการณ์(Event-based surveillance) เฝ้าระวังเหตุการณ์ผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงหรือเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุในชุมชนที่มีประวัติสัมผัสสัตวืปีกหรืออยู่ในพื้นที่สัตว์ปีกป่วยตาย  เฝ้าระวังสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติในชุมชน และการเฝ้าระวังกลุ่มก้อนผู้ป่วยทางเดินหายใจที่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก โดยให้อสม.หรืออาสาสมัครปศุสัตว์ ช่วยแจ้งเหตุการณ์ผิดปกติให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ตรวจสอบ

และ4.การเฝ้าระวังเชิงรุก(Active surveillance) เฝ้าระวังในผู้สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ปีกติดเชื้อ โดยการสังเกตอาการและการตรวจหาเชื้อ

ไข้หวัดนก ระดับของการระบาด          

ส่วนระดับของการระบาดและมาตรการเฝ้าระวังโรคในคน แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่

ระดับ 1 (สีเขียว) ระยะปกติ ไม่มีรายงานการระบาดของโรคในสัตว์ปีกในประเทศ  ดำเนินการเฝ้าระวังเฉพาะราย(Case-based)  การเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ(Lab-based surveillance) และการเฝ้าระวังเฉพาะพื้นที่เฉพาะกลุ่ม (Sentinel surveillance)
ระดับ 2  (สีเหลือง) สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคนต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น (ประเทศเพื่อบ้าน) หรือพบการระบาดของโรคในสัตว์ภายในประเทศ  จะยกระดับมาตรการเฝ้าระวังโรคในประเทศไทย โดยมาตรการคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ เน้นผู้ป่วยปอดอักเสบส่งต่อรักษาที่ไทย  เน้นซักประวัติเสี่ยงกรณีผู้ป่วยทางเดินหายใจ ในสถานพยาบาลโดยเฉพาะพื้นที่ระบาดในสัตว์และติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ 

\"ไข้หวัดนก\"ในไทย เฝ้าระวังในทุกสัตว์ที่เสี่ยง ทุกสายพันธุ์ในคน

 ระดับ 3 (สีส้ม) พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศและพบการแพร่โรคจากสัตว์สู่คน แบบเฉพาะจุดบางพื้นที่   ต้องเฝ้าระวังเชิงรุกในชุมชน คัดกรองผู้สัมผัสสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติในชุมชน,ค้นหาผู้ป่วยสงสัยตามนิยามโรค เอ็กซเรย์พื้นที่ระบาดของโรคในสัตว์ พื้นที่พบผู้ป่วย และเน้นสอบสวนเฉพาะรายปอดอักเสบรุนแรงอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มก้อน

ระดับ 4 (สีแดง) พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศ และพบการติดต่อจากสัตว์สู่คน คนสู่คนแบบเป็นวงกว้าง หลายจังหวัด  ดำเนินการเฝ้าระวังเชิงรุกในชุมชน คัดกรองผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้สัมผัสสัตว์ปีกประจำสัปดาห์ พร้อมรายงานจำนวนผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อประจำสัปดาห์ ,เพิ่มศักยภาพทางห้องปฏิบัติการในระดับจังหวัด และติดตามข้อมูลผู้ป่วยผู้เสียชีวิตและผู้สัมผัสใกล้ชิด รวมทั้งการแยกกักและการดูแลรักษาในสถานพยาบาล

\"ไข้หวัดนก\"ในไทย เฝ้าระวังในทุกสัตว์ที่เสี่ยง ทุกสายพันธุ์ในคน

3 สถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ

ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ(6มิ.ย.2567)ยังได้รับทราบสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ คือ

1.โรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคโควิด 19 ซึ่งมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น คาดว่าสูงสุดในช่วงมิถุนายน – กรกฎาคม แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยมาก เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันในระดับประชากรร่วมกับเชื้อเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง และโรงพยาบาลมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยได้ดี ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ พบมากในกลุ่มเด็กเล็ก 0 - 4 ปี และเด็กวัยเรียน 5 - 14 ปี ส่วนใหญ่ระบาดในเรือนจำ โรงเรียนและสถานปฏิบัติธรรม

2. โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ได้แก่ โรคหัดและโรคไอกรน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ระบาดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ขอให้ผู้ปกครองตรวจสอบประวัติวัคซีนเด็ก หากได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด ควรเข้ารับวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้านและรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล  

3. โรคติดต่อนำโดยแมลง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 พฤษภาคม 2567 พบผู้ป่วยสะสม 29,554 ราย เสียชีวิต 36 ราย จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยเรียน 5 - 14 ปี ส่วนโรคไข้มาลาเรีย พบผู้ป่วยสะสม 4,498 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แนวชายแดนไทย-เมียนมา มากสุดที่จ.ดตากและแม่ฮ่องสอน จึงยกระดับมาตรการควบคุมโรค

และ 4.วัณโรค พบเสียชีวิต 13,700 ราย มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษา 72,274 ราย อัตราความสำเร็จการรักษาร้อยละ 85 ได้กำหนดมาตรการสำคัญ คือ ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง , วินิจฉัยให้พบโดยเร็วด้วยวิธีมาตรฐาน ,ติดตามผู้ป่วยวัณโรคจนการรักษาสำเร็จมากกว่าร้อยละ 90 และให้ยารักษาการติดเชื้อวัณโรค เพื่อยุติวัณโรคและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)