"15 เห็ดพิษ" กรมควบคุมโรคเตือนห้ามกิน! ปีนี้ตายแล้ว 4 ราย
15 เห็ดพิษ กรมควบคุมโรคเตือนประชาชนหน้าฝนระมัดระวังการซื้อหรือเก็บเห็ดป่า เห็ดขึ้นเองตามธรรมชาติมากิน อาจเสี่ยงเสียชีวิตได้ ปีนี้เกิดแล้ว 4 ราย แนะเห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2567 พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้เข้าสู่หน้าฝนทำให้มีเห็ดป่าหรือเห็ดขึ้นเองตามธรรมชาติหลากหลายชนิด ทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกันมากมักแยกได้ยาก จึงทำให้พบผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษเป็นประจำทุกปีในทุกภูมิภาค
โดยเฉพาะพื้นที่ป่าเขา ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค 5 ปีย้อนหลัง พบสถานการณ์อาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดพิษ 90 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยรวม 371 ราย เสียชีวิต 32 ราย
ในปี 2567 ตั้งแต่ 1 มกราคม - 10 มิถุนายนมีรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดพิษแล้ว 10 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยรวม 36 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย เสียชีวิต 4 ราย โดยมีรายงานใน 5 จังหวัด ได้แก่
- จังหวัดเลย 5 เหตุการณ์ ป่วย 15 ราย เสียชีวิต 1 ราย
- จังหวัดตาก 2 เหตุการณ์ ป่วย 9 ราย เสียชีวิต 2 ราย
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 เหตุการณ์ ป่วย 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย
- จังหวัดยโสธร 1 เหตุการณ์ ป่วย 6 ราย ไม่เสียชีวิต
- และจังหวัดชัยภูมิ 1 เหตุการณ์ ป่วย 5 ราย ไม่เสียชีวิต
แหล่งที่มาของเห็ดได้มาจากป่าเขาหรือสวนแถวบ้าน หรือพื้นที่เคยเก็บเป็นประจำทุกปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย 36-60 ปี 23 ราย คิดเป็น 64% รองลงมาคือ วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 ราย คิดเป็น 19% และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 18-35 ปี 6 ราย คิดเป็น 17 %
สำหรับผู้เสียชีวิต 4 ราย อยู่ในช่วงอายุ 19-45 ปี เห็ดที่พบเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต ได้แก่ เห็ดระโงกพิษ 3 ราย และอีก 1 ราย ไม่ทราบชนิดเห็ด
การประเมินปัจจัยเสี่ยงพบว่า ผู้เสียชีวิต 3 ราย ไม่มีความรู้ในการแยกชนิดเห็ด และผู้เสียชีวิต 1 ราย มีอาชีพเก็บเห็ดป่า
ระยะเวลาที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการหลังกินเห็ดพิษ มีตั้งแต่เร็วเป็นนาที หรือนานถึงหลายชั่วโมง โดยผู้ป่วยมีอาการตั้งแต่เล็กน้อย ได้แก่ วิงเวียน อาเจียนปวดท้อง ถ่ายเหลว จนถึงอาการรุนแรง ไตวาย ตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้กินผงถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal) เพื่อดูดซับพิษและจิบน้ำเพื่อชดเชยของเหลวที่เสียไป และควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด พร้อมแจ้งประวัติ การกินเห็ดและนำตัวอย่างเห็ดที่เหลือหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย รวมถึงแจ้งผู้กินเห็ดจากแหล่งเดียวกันให้สังเกตอาการ
กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนซื้อและกินเห็ดที่มีการเพาะพันธุ์จากฟาร์มเห็ดหรือแหล่งที่มีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการเก็บหรือกินเห็ดป่าหรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่
นอกจากนี้ ยังไม่ควรเก็บเห็ดบริเวณที่มีการใช้สารเคมี รวมถึงไม่กินเห็ดดิบ และไม่กินเห็ดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ดังนั้น “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน” หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422