คนมี "รอยสัก" เพิ่มความเสี่ยงป่วยเป็น "มะเร็งต่อมน้ำเหลือง" สูงขึ้น 21%

คนมี "รอยสัก" เพิ่มความเสี่ยงป่วยเป็น "มะเร็งต่อมน้ำเหลือง" สูงขึ้น 21%

นักวิจัยพบคนมีรอยสัก เพิ่มความเสี่ยงป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสูงขึ้น 21% ขณะที่ยังมีความเสี่ยงจากปฏิกิริยาแพ้สี มีโอกาสติดโรค

KEY

POINTS

  • งานวิจัยเผยกลุ่มคนผที่มีรอยสัก เพิ่มความเสี่ยงป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสูงขึ้น 21% หมึกบางชนิดมีองค์ประกอบสารก่อมะเร็ง  นักวิจัยคาดการณ์ว่ารอยสักจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบระดับต่ำในร่างกาย นำไปสู่มะเร็ง
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย สามารถพบได้ทุกช่วงอายุแล้วแต่ชนิด โดยพบได้ประมาณ 3,000-4,000 คนต่อปี มี 2 ประเภท
  • รอยสักยังมีความเสี่ยงอันตรายในเรื่องของสีที่ใช้ในสักทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ และการมีโอกาสติดโรคหรือติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อวัณโรค โรคเรื้อน โรคเอดส์

"รอยสัก"ในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่แต่เฉพาะของลวดลายต่างๆที่เป็นงานศิลปะ หรือภาพตามความเชื่อเท่านั้น  ยังมีการสักเพื่อความสวยงามด้วย อย่างเช่น สักปาก สักคิ้ว สักขอบตา โดยมีการสักในบริเวณทั่วร่างกายตามที่ผู้สักต้องการ

อย่างไรก็ตาม  มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยลุนด์ ในประเทศสวีเดน ออกมาว่า  การสักเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สูงขึ้น 21 % ในกลุ่มคนที่มีรอยสัก

เมื่อเร็วๆนี้ เฟซบุ๊ก “หมอหมู วีระศักดิ์” หรือ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) โพสต์ว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลุนด์ในสวีเดน ตรวจสอบพบว่า การสักเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยศึกษาจากชาวสวีเดน 11,905 คน และพบว่า 2,938 คนเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในช่วงอายุ 20 ถึง 60 ปี

หลังจากพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสูบบุหรี่และอายุ พบว่า ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นสูงขึ้น 21 % ในกลุ่มคนที่มีรอยสัก โดยองค์ประกอบของหมึกสักบางชนิดมีสารก่อมะเร็ง แม้ว่าจะไม่มีการพิสูจน์ความสัมพันธ์โดยตรงก็ตาม สารเคมีเหล่านี้จัดอยู่ในประเภทสารก่อมะเร็งที่เป็นไปได้โดยองค์การอนามัยโลก


นักวิจัยคาดการณ์ว่า รอยสักจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบระดับต่ำในร่างกาย อาจนำไปสู่มะเร็ง ซึ่งกลไกที่แท้จริงยังคงซับซ้อนและต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม แม้ว่ารอยสักจะได้รับความนิยมในการแสดงออก แต่ควรตระหนักถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น หากพบอาการที่เกี่ยวข้องกับรอยสัก ควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ


ทั้งนี้ รศ.นพ.วีระศักดิ์ ให้ความเห็นส่วนตัวด้วยว่า งานวิจัยนี้เป็นเพียงการศึกษาที่เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ และจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลที่ชัดเจนระหว่างรอยสักกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองพบได้บ่อยในคนไทย

ข้อมูลกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย สามารถพบได้ทุกช่วงอายุแล้วแต่ชนิด โดยพบได้ประมาณ 3,000-4,000 คนต่อปี

 มะเร็งที่เกิดกับต่อมน้ำเหลืองเกิดได้ทุกบริเวณของร่างกาย ตั้งแต่บริเวณรักแร้ คอ ขาหนีบ ตามข้อพับ และในช่องอก ช่องท้อง นอกจากนี้แล้ว เซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีอยู่ทุกอวัยวะในร่างกาย สามารถ เกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง เป็นต้น
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งประเภทออกเป็น

  •  มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin lymphoma) ผู้ป่วยมักจะมีต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอและช่องอก ให้การรักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง โอกาสหายขาดสูง
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-hodgkin lymphoma) พบมาก และแบ่งย่อยออกได้อีกประมาณ 30 ชนิด

แต่แบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เป็น 2 แบบ คือ

  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรง (Aggressive lymphoma) การแบ่งตัวและแพร่กระจายเกิดอย่างรวดเร็ว มีอาการรุนแรง ดังนั้น จึงตอบสนองกับยาเคมีบำบัดซึ่งออกฤทธิ์กับเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็วอยู่ค่อนข้างดี กลุ่มนี้ต้องรักษาทันที หากไม่รักษาผู้ป่วย อาจเสียชีวิตใน 6 เดือน ถึง 2 ปี แต่ถ้าได้รับการรักษาทันท่วงที มีโอกาสหายขาดจากโรคได้มาก แม้จะอยู่ในระยะไหนก็ตาม
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent lymphoma) การแบ่งตัวและแพร่กระจายค่อนข้างช้า อาการเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง กลุ่มนี้มักไม่ค่อยหายขาดด้วยเคมีบำบัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงรักษาเมื่อมีข้อบ่งชี้ และติดตามอาการเป็นระยะ

ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เกิดได้จากทั้ง การติดเชื้อทั้ง virus เช่น HIV, HCV, EBV การติดเชื้อ bacteria ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง, พันธุกรรม, ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำจากการได้รับยา, สารเคมีที่มีสารก่อมะเร็งอยู่ เช่น สารกำจัดศัตรูพืช

การป้องกันของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จึงทำได้โดยการหมั่นสังเกตตัวเอง ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากเจ็บป่วยให้รีบไปรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีโดยตรง และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งเป็น อาการทางระบบหรือ B-symptom เช่น อาการไข้ที่ไม่ทราบสาเหตุเป็นเวลานานกว่าสองสัปดาห์, เหงื่อออกตอนกลางคืน, น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเบื่ออาหารผิดปกติ อาการเฉพาะที่ที่เกิดจากต่อมน้ำเหลืองโตในบริเวณนั้นๆ เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ปวดแน่นท้อง ท้องอืด ปวดศีรษะ เป็นต้น

คนมี \"รอยสัก\" เพิ่มความเสี่ยงป่วยเป็น \"มะเร็งต่อมน้ำเหลือง\" สูงขึ้น 21%

2 ประเภทสถานบริการรอยสัก

การสักโดยทั่วไปจะมี 2 ประเภท ได้แก่

1.สักเพื่อการรักษา จัดอยู่ในประเภทการประกอบวิชาชีพเวชกรรม วัตถุประสงค์เพื่อบำบัดโรค แก้ไขความผิดปติของร่างกาย เช่น การสร้างขอบปากให้ผู้ป่วยภายหลังผ่าตัดปากแหว่ง หรือการทำหัวนมและลานหัวนมเทียมภายหลังการผ่าตัดเต้านมเป็นต้น ผู้ให้การรักษาจะต้องเป็นแพทย์ ที่ขึ้นทะเบียนกับแพทยสภา และมีความรู้ความสามารถในหัตถการ

สถานพยาบาลที่ให้บริการต้องขึ้นทะเบียนขออนุญาตจากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541

2.สักเพื่อความสวยงาม ไม่จัดเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ไม่ได้อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข สถานที่สัก ส่วนใหญ่เป็นร้านเสริมสวยหรือร้านที่ให้บริการสักโดยเฉพาะ

อันตรายจากรอยสัก

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้ข้อมูล อันตรายจาการสักว่าสีที่ใช้ในสักทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ แล้วเกิดเป็นผื่นหรือตุ่มแดง คันในตำแหน่งของรอยสักนั้นๆ ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ผื่นเห่อมากขึ้นได้

 นอกจากนี้ สีแดงที่ใช้ใน การสักอาจก่อให้เกิดการแพ้เมื่อโดนแดดมากๆ หรือบ่อยครั้งได้ ในคนที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิม เช่น โรคสะเก็ดเงิน อาจพบว่ามีผื่นของโรคสะเก็ดเงินขึ้นในตำแหน่งของรอยสักได้

การมีโอกาสติดโรคหรือติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส จากการสักผิวหนัง โดยอาจเกิดจากการใช้เข็มที่ไม่สะอาดพอ หรือผ่านการทำให้ปลอดเชื้อที่ไม่ได้มาตรฐาน เชื้อโรคที่มีโอกาสติดต่อได้ เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อวัณโรค โรคเรื้อน โรคเอดส์ ซึ่งในบางโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่บางโรคก็ยังไม่มียารักษาหรือยาที่ใช้รักษายังอยู่ในขั้นทดลอง

ส่วนการรักษาหรือการลบรอยสักสามารถทำได้ แต่ต้องทำการรักษาต่อเนื่องหลายครั้ง เช่น การรักษาโดยการใช้เลเซอร์ ผลข้างเคียงจากการรักษาที่อาจพบได้ คือ การเกิดเป็นรอยแผลเป็นแดงนูน ที่เรียกว่า คีลอยด์ ( Keloid )

บางครั้งผู้ป่วยทำการรักษาเองโดยใช้น้ำกรดกัด ก็อาจจะทำให้เกิดเป็นรอยแผลเป็นได้ ทำให้ต้องมาทำการรักษารอยแผลเป็น

ก่อนตัดสินใจสักผิวหนัง ควรคำนึงถึงผลดีผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการสัก และหาข้อมูลสถานประกอบการที่เชื่อถือได้ และหากภายหลังต้องการลบรอยสัก ผิวหนังบริเวณนั้นจะไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้
อ้างอิง : กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ,สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์