ฉลากน้ำเมา ไม่เปลี่ยน ไม่ต้องเพิ่ม "ภาพคำเตือนสุขภาพ"
คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นชอบ "ฉลากน้ำเมา" ยังไม่เปลี่ยน ใช้คำเตือนตามเดิม ขณะที่ผลศึกษาพื้นที่นำร่องขยายเวลาขายน้ำเมา รายได้เพิ่มแต่ต่ำกว่าอีก 17 จังหวัดเมืองหลัก ส่วนคดีเมาแล้วขับเพิ่มขึ้น 117% “สมศักดิ์” ลั่น สธ.ไม่หนุนขยายเวลา - สถานที่จำหน่ายสุรา
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 3/2567 ซึ่งมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ.เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการติดตามการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำปีงบประมาณ 2567 และผลการศึกษาข้อเท็จจริงกรณีการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ซึ่งมีการศึกษาโดยคณะอนุกรรมการวิชาการ ภาพรวมพบข้อมูลสถานบริการในพื้นที่ ที่มีขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มเกิดผลกระทบมากกว่าพื้นที่ ที่ไม่ขยาย พบว่า
1.การเสียชีวิตช่วงตี 2 ถึง 6 โมงเช้าเพิ่มขึ้น 13.4% จากปี 2566 โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีสถานบริการมาก เช่น ชลบุรี ภูเก็ต กทม.เพิ่มถึง 23%
2.สถิติคดีเมาแล้วขับธ.ค.2566 - มี.ค.2567 ในจังหวัดนำร่องเพิ่มมากขึ้น
3.ความรับผิดชอบของผู้ขายในเขตโซนนิ่งยังไม่เป็นไปตามที่คาดทั้งหมด เช่น การดำเนินการของสถานบันเทิงที่เรียกรถบริการมาให้ลูกค้าหากวัดแอลกอฮอล์เกิน 50 มก. พบไม่ดำเนินการ 85.6% ไม่วัดแอลกอฮอล์ลูกค้าก่อนออกจากร้าน 84% ไม่ตามญาติมารับหากลูกค้าที่เมาไม่ยอมให้เรียกรถบริการ 75.8% ยังจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คนมึนเมาไม่ได้สติ 56.2% ไม่ตรวจบัตรประชาชนบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีห้ามเข้า 13.8%
4.รายได้ที่เพิ่มอาจไม่ใช่เรื่องการขยายเวลาขายแอลกอฮอล์อย่างเดียว และ 17 จังหวัดเมืองหลักที่ไม่ขยายเวลาก็มีอัตราการเติบโตมากกว่า
และ 5.ปัญหาอื่นๆ ที่กำลังติดตามมาจากการเยี่ยมพื้นที่ และหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ภูเก็ต และกทม.ซึ่งพบเหตุเดือดร้อนรำคาญจากคนเมาสุรา กัญชา และเสียงดังรบกวน ภาระงานของตำรวจ และห้องฉุกเฉิน รพ.เพิ่ม และมีขีดจำกัด แหล่งกำเนิดของธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ ทั้งยาเสพติด การมั่วสุมของเยาวชน
นพ.ธงชัย กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังพิจารณาขอความร่วมมือกับหน่วยงานราชการร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์วันงดดื่มสุราแห่งชาติประจำปี 2567 ในวันวิสาขบูชา และพิจารณาอนุบัญญัติเรื่องการเยียวยารักษาผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผู้ประสานในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการเลิกหรือรักษา เพื่อจัดหาหน่วยบริการที่จะรักษา
และอนุบัญญัติฉลากบรรจุภัณฑ์ และคำเตือน ที่จะต้องเสร็จภายในเดือนพ.ย.2567 สรุปยังจะใช้ฉลากคำเตือนและบรรจุภัณฑ์ตามกฎหมายที่มีการออกไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งของสรรพสามิต และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดก็ยังจะใช้ฉลากเครื่องดื่มเดิมอยู่ก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่าแปลว่าคณะกรรมการฯ ไม่ผ่านร่างอนุบัญญัติเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลากพร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตและนำเข้า พ.ศ.... นพ.ธงชัย กล่าวว่า ผ่าน โดยคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการมีอีกร่าง ซึ่งเป็นร่างที่กำหนดให้ตอนนี้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงจะต้องแจ้งไปที่องค์การการค้าโลก(WTO)
เนื่องจากมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพันธกรณีในข้อตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade Agreement : TBT Agreement) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องแจ้ง (Notification) กฎระเบียบ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการค้าของประเทศสมาชิกอื่น จึงต้องมีการแจ้งเวียนร่างประกาศดังกล่าวให้กับประเทศสมาชิก WTO เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ใน WTO ด้วย
ดังนั้น อนุบัญญัตินี้อาจจะดำเนินการไม่ทัน เนื่องจากต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในพ.ย.2567 จึงร่างอนุบัญญัติโดยเอาของเก่าที่มีกฎหมายอยู่แล้วมารวบรวมไว้ในร่างฉบับนี้คือ กฎหมายเรื่องบรรจุภัณฑ์ของสรรพสามิต และเรื่องฉลาก และคำเตือนของ อย. เช่น ห้ามจำหน่ายสุราแก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ,การดื่มสุราทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง ,บุคคลซึ่งอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ไม่ควรดื่ม เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรา 26 ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ระบุเรื่องของบรรจุภัณฑ์ ฉลากพร้อมทั้งข้อความคำเตือนยังคงอยู่ต่อไป
จากนั้นหากจะมาเปลี่ยนแปลงร่างอนุบัญญัติในภายหลังจะยังสามารถทำได้ WTO จะไม่เห็นด้วย และมีการสอบถามกลับมา จนมาตรา 26 นี้ต้องหลุดออกไป ไม่ถูกบังคับใช้แล้ว เพราะไม่สามารถดำเนินการได้เสร็จทันภายในพ.ย.2567 ก็จะทำให้มาตรานี้ต้องหลุดไม่สามารถทำอะไรได้เลย จะไปออกประกาศบรรจุภัณฑ์ ฉลากคำเตือนไม่ได้อีก เพราะถือว่ามาตรานี้เลิกใช้ไปโดยอัตโนมัติ
“ตอนนี้บรรจุภัณฑ์ ฉลากพร้อมข้อความคำเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะฉะนั้น ผู้ผลิตยังไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนฉลาก”นพ.ธงชัย กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนทำเรื่องภาพ และคำเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นภาพสดเหมือนภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ จะมีคำเตือนเป็นภาพแบบฮีสโตแกรม เช่น ภาพหญิงตั้งครรภ์ หรืออายุ 18 ปีแล้วเป็นเครื่องหมายกากบาท หากประเทศไทยจะไปกำหนดฉลากคำเตือนรูปแบบที่เป็นเจ้าแรกของโลกต้องระวัง จึงได้มอบหมายให้ไปติดตามการดำเนินของประเทศต่างๆ จะได้มีบรรทัดฐานนำมาปรับใช้ในไทย ตอนนี้จึงให้ใช้ตามกฎหมายเดิมที่มีอยู่ไปก่อน
ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ข้อมูลผลการศึกษาดังกล่าวจะต้องนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ และพิจารณา แต่จุดยืนของ สธ.เราไม่ได้สนับสนุนให้มีการขยายเวลา และพื้นที่การจำหน่ายโดยดูจากข้อมูลสถิติตัวเลข และกฎหมายทุกมุม อย่างไรก็ตามการ สธ.ไม่ได้ทำงานด้านนี้ และจบที่ สธ.ฝ่ายเดียว ขณะเดียวกันยังมีการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ....ถึง 5 ฉบับที่นำเสนอจากฝ่ายต่างๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในส่วนของฉลาก พร้อมข้อความคำเตือนนั้น ก่อนหน้านี้ มีการยกร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. .... โดยมีสาระกำหนดแตกต่างจากเดิม คือ ให้ภาพมีคำเตือนเกี่ยวกับสุขภาพอยู่บนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คล้ายกับภาพคำเตือนบนซองผลิตภัณฑ์บุหรี่ หรือ Graphic Health Warnings เพื่อให้รับรู้ถึงโทษ และพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์