"อย่าอุ้มลูกนั่งตักบนรถยนต์" ถ้าไม่อยากสูญเสีย รพ.สธ. 6 แห่งให้ยืมคาร์ซีท

"อย่าอุ้มลูกนั่งตักบนรถยนต์" ถ้าไม่อยากสูญเสีย  รพ.สธ. 6 แห่งให้ยืมคาร์ซีท

"อุ้มลูกนั่งตักบนรถยนต์" เสี่ยงรับบาดเจ็บรุนแรงสูง 5 เท่าหากเกิดอุบัติเหตุ เผยการนั่งคาร์ซีทช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กทารกถึง 70 % และ54 – 80% ในเด็กโต แต่คนไทยยังติดขัดเรื่องการใช้ จากการจัดซื้อจัดหา นำร่องตั้ง “ธนาคารคาร์ซีท”ให้ยืมใน 6 รพ.สธ.

KEY

POINTS

  • ในช่วง 5 ปี มีเด็กไทยอายุ 0 - 6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1,010 คน โดย 117 คน เป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ เฉลี่ย 24 คนต่อปี
  • เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ใช้ที่นั่งนิรภัย(คาร์ซีท) จะช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กทารก ได้ถึง 70 % และ54 – 80% สำหรับเด็กโต แต่คนไทยยังขาดความพร้อมในการใช้ จากการจัดหา จัดซื้อ และขาดความตระหนักในอันตรายบนท้องถนน
  • ธนาคารคาร์ซีทให้ยืมใช้ นำร่องโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(รพ.สธ.) 6 แห่ง จำนวน 30 ชุด ต่อโรงพยาบาล

ข้อมูลจากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ระบุว่า 10 ปีที่ผ่านมา()2554-2563มีเด็กและเยาวชนอายุ 10-19 ปีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 26,930 คน เฉลี่ยปีละ 2,693 คน

5 ปีที่ผ่านมา (2559-2563) อุบัติเหตุทางถนนที่เข้ารักษาผู้ป่วยนอก บาดเจ็บเล็กน้อย 1,459,383 คน เฉลี่ยปีละ 291,877 คน ผู้ป่วยใน บาดเจ็บรุนแรง 254,178 คน เฉลี่ยปีละ 50,836 คน  การประมาณการพิการ 11,692 คน เฉลี่ยปีละ 2,338 คน 

หากไม่มีการยกระดับการแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชนเป็นวาระเร่งด่วนของชาติ ในอีก 10 ปีจากนี้ตั้งแต่ 2564-2573 เด็กและเยาวชนไทยจะมีโอกาสเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นอีก 30,204 คน  มีโอกาสพิการอีก 2,338 คน และบาดเจ็บรุนแรง 508,360 คน

คาร์ซีท 3 แบบเลือกใช้ให้เหมาะช่วงวัยเด็ก

ทั้งนี้ กรณีเด็กเล็ก การที่ผู้ปกครองอุ้มเด็กบนตักนั่งในรถยนต์ เมื่อเกิดอุบัติเหตุเด็กจะมีโอกาสถูกแรงกระแทกมหาศาล จากการปะทะกับอุกรณ์ในรถหรือทะลุกระจกออกนอกตัวรถ มีโอกาสเสียชีวิตสูง  ซึ่งเด็กที่นั่งโดยสารหน้ารถยนต์ ไม่ได้ใช้คาร์ซีท มีความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บรุนแรงสูงถึง 5 เท่า มากกว่าเด็กที่นั่งเบาะหลังของรถยนต์และใช้คาร์ซีทสำหรับเด็ก 

ประเภทที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กและการเลือกใช้ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1.แบบติดตั้งหันหน้าไปทางด้านหลังรถ เหมาะสำหรับเด้กทารกตั้งแต่แรกเกิด- 2 ปี

2.แบบติดตั้งหันหน้าไปทางด้านหน้ารถ เหมาะสำหรับเด็กเล็กตั้งแต่ 2-4 ปี

3.แบบเสริม เหมาะสำหรับเด็กโตตั้งแต่อายุ 6-12 ปี คาร์ซีทประเภทนี้ จะช่วยเสริมก้นให้สูงขึ้นจนสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้พอดี

ข้อแนะนำการใช้คาร์ซีทสำหรับเด็ก

1.ควรเลือกใช้คาร์ซีทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.)หรือมาตรฐานสากล(ECE R44/ ECE R129)

2.ควรเลือกคาร์ซีทให้เหมาะกับอายุและส่วนสูงของเด็ก ปรับให้กระชับ โดยสังเกตว่าเด็กอึดอัดหรือหลวมเกินไปหรือไม่

3.ควรฝึกให้เด็กคุ้นเคยกับการนั่งคาร์ซีทเป็นประจำเพื่อลดการต่อต้าน

4.หากจำเป็นต้องใช้คาร์ซีทมือสอง ควรตรวจสอบสภาพความปลอดภัยก่อนนำไปใช้

นำร่อง 6 รพ.ให้ยืมคาร์ซีท

เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2567 ที่สถาบันบำราศนราดูร  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวในการเปิดตัวโครงการรณรงค์ส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก “ลูกรอดปลอดภัย ที่นั่งนิรภัยอย่ามองข้าม” โดยมีนพ.จอส ฟอนเดลาห์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยร่วมด้วยว่า การดูแลให้ทุกคนปลอดภัย เป็นหนึ่งในนโยบาย 5+5 เร่งรัด พัฒนา สานต่อ ที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดการบาดเจ็บและเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติด้วย

โดยอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่สูง สร้างความสูญเสียต่อครอบครัว และประเทศชาติอย่างประเมินค่าไม่ได้ พรบ.จราจรทางบก ที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2565 กำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ใช้ที่นั่งนิรภัยหรือคาร์ ซีท(Car seat) หรือ ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก เพราะจะช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กทารก ได้ถึง 70 % และ54 – 80% สำหรับเด็กโต

กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินโครงการป้องกัน ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ เพราะจากข้อมูลเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ปีละ 44 ราย จึงมีการจัดโครงการรณรงค์และให้ยืมที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก โดยสสส.ได้สนับสนุนที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก จำนวน 30 ชุด ต่อโรงพยาบาล โดยจะเริ่มนำร่องในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 6 แห่ง ได้แก่

  •  สถาบันบำราศนราดูร
  • โรงพยาบาลสมุทรปราการ
  • โรงพยาบาลน่าน
  • โรงพยาบาลบุรีรัมย์
  •  โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
  • โรงพยาบาลสุโขทัย

ขอเชิญชวนไปใช้เพื่อความปลอดภัยของเด็ก พร้อมขอเชิญชวนผู้ที่ไม่ได้ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กแล้ว ให้นำมาบริจาคได้ทุกโรงพยาบาล เพื่อเป็นคาร์ซีทแบงก์ และช่วยลดการเสียชีวิตของเด็ก เพื่อเป็นต้นแบบในการส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็กในโรงพยาบาล และขยายผลไปสู่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งต่อไป

เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 1พันคน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. กล่าวว่า จากข้อมูลสธ.และการบูณาการข้อมูล พบว่า 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2562 - 2566) มีผู้เสียชีวิตจาอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 89,569 คน เฉลี่ย 17,914 คนต่อปี ซึ่งในช่วง 5 ปี มีเด็กไทยอายุ 0 - 6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1,010 คน โดย 117 คน เป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ เฉลี่ย 24 คนต่อปี

\"อย่าอุ้มลูกนั่งตักบนรถยนต์\" ถ้าไม่อยากสูญเสีย  รพ.สธ. 6 แห่งให้ยืมคาร์ซีท

ในส่วนของการบาดเจ็บ มีเด็กไทยบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์และรถกระบะ 8,810 คน เฉลี่ย 1,763 คนต่อปีและจากข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า การใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตของเด็กได้มากถึง 70% ซึ่งเด็กที่นั่งเบาะหน้ารถยนต์และไม่ได้ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก จะมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงสูงกว่าเด็กที่นั่งด้านหลังและใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ถึง 5 เท่า

คนไทยใช้คาร์ซีทน้อย

ด้านนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  กรมควบคุมโรคเห็นว่าประชาชนยังขาดความพร้อมในการใช้คาร์ซีทสำหรับเด็ก จากปัญหาอุปสรรค ทั้งการจัดหา จัดซื้อ รวมทั้งขาดความรู้ ขาดความตระหนักในอันตรายบนท้องถนน และไม่นิยมใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เพื่อส่งเสริมและสร้างความตระหนักในการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และมารดาหลังคลอดในโรงพยาบาล

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ริเริ่ม โครงการศึกษาพฤติกรรม และพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็กในโรงพยาบาลเพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองใช้คาร์ซีทสำหรับเด็ก สร้างความปลอดภัยขณะที่โดยสารบนรถยนต์ สำหรับในวันนี้ สสส. และภาคีเครือข่ายได้สนับสนุนที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ให้กับโรงพยาบาลนำร่องทั้ง 6 แห่ง

และดำเนินการศึกษาพฤติกรรมการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็ก พร้อมจัดทำคู่มือ-ชุดนิทรรศการ-สื่อการเรียนรู้การส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็ก ฝึกอบรมวิทยากรให้ความรู้การใช้ที่นั่งนิรภัยเด็ก และความปลอดภัย ให้แก่ พยาบาล นักสุขศึกษา นักส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงจัดกิจกรรมธนาคารสำหรับยืมที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก