ผ่า 5 ทางรอด “กองทุนประกันสังคม” ก่อนเจอวิกฤติเงินไม่พอ
ยอดเงินกองทุนประกันสังคมปี 2568 สะสม 5 ล้านล้านบาท เสี่ยงเหลือ 0 ในปี 2597 จาก 2 ปัจจัยเสี่ยง คนอายุยืน อัตราเกิดต่ำ วัยทำงานน้อยลง อัตราเงินสมทบต่ำเกินไป “ทีดีอาร์ไอ - บอร์ดฝ่ายผู้ประกันตน” เสนอทางรอด
KEY
POINTS
- รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 1 ปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุถึงความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม มีแนวโน้มที่จะต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ จำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต
- ยอดเงินกองทุนประกันสังคมปี 2568 สะสม 5 ล้านล้านบาท เสี่ยงเหลือ 0 ในปี 2597 จาก 2 ปัจจัยเสี่ยง คนอายุยืน อัตราเกิดต่ำ วัยทำงานน้อยลง อัตราเงินสมทบต่ำเกินไป
- ทางรอดกองทุนประกันสังคม “ทีดีอาร์ไอ-บอร์ดฝ่ายผู้ประกันตน” เสนอ ปรับเกณฑ์จ่ายเงินบำนาญชราภาพ คำนวณประกันสังคมใหม่ เพิ่มอายุเกษียณ ปรับเพดานเงินสมทบ และเพิ่มจำนวนผู้ประกันตนมาตราอื่นๆ เชื่อจะทำให้เงินงอกเงยกองทุนไม่เจ๊ง
รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 1 ปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุถึงความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต สวนทางกับแนวโน้มจำนวนแรงงานรุ่นใหม่ ที่จะส่งเงินสมทบเข้าสู่กองทุนฯ ลดลง
ผลการศึกษางบประมาณด้านการคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2566 พบว่าช่องว่างระหว่างรายรับ และรายจ่ายของกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก โดยในปี 2556 สัดส่วนรายจ่ายต่อรายรับอยู่ที่ 34.6% เพิ่มขึ้นเป็น 73.4% ในปี 2564
ในปี 2575 จำนวนผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพอาจมีมากถึง 2.3 ล้านคน จากเดิมที่ในปี 2565 มีจำนวนเพียง 7.6 แสนคนเท่านั้น เป็นความเสี่ยงที่กองทุนฯ จะประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง และความยั่งยืน จะส่งผลต่อเนื่อง ไปยังผลประโยชน์ของผู้ประกันตนในอนาคต
ระดมสมองกันกองทุนประกันสังคมล้มละลาย
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวว่า ข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2566 มีเงินกองทุนประกันสังคมประมาณ 2.55 ล้านบาท อนาคตจะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนต่อเนื่องทุกปี เข้าสูงสุดในปี 2568 มีเงินสะสม 5 ล้านล้านบาท แต่หลังจากนั้นหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร กองทุนประกันสังคมจะเหลือศูนย์บาทในปี 2597
เพราะสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ มีคนเสียชีวิตมากกว่าคนเกิดใหม่ต้องร่วมกันระดมสมองเพื่อหาทางไม่ให้กองทุนล้มละลาย เชิญทุกพรรคการเมือง ให้ส่งนักเศรษฐศาสตร์ นักการเมือง นักคิด นักบัญชี ร่วมเสวนาด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ได้ศึกษาตัวอย่างแนวทางการปฏิรูปกองทุนประกันสังคมให้มีความยั่งยืนไว้ในหลายรูปแบบ เช่น การปรับเพดานค่าจ้าง เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน เพิ่มทั้งรายรับ และรายจ่ายกองทุน, การเพิ่มผู้ประกันตนต่างชาติ เพิ่มจำนวนผู้ประกันตนระยะสั้น เป็นการขยายความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานในประเทศมากยิ่งขึ้น, การปรับเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน ,การปรับเพิ่มอายุเกษียณอย่างค่อยเป็นค่อยไป จาก 55 ปีเป็น 65 ปี และการปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนชราภาพ
2 ปัจจัยเสี่ยงกองทุนประกันสังคม
ขณะที่ ศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของกองทุนประกันสังคม มาจาก 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.ด้านโครงสร้างประชากร ในยุคปัจจุบันคนมีอายุยืนยาวขึ้น ปัจจุบันคนอายุยืนมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีคนมีสิทธิรับเงินมากขึ้น แต่คนที่เกิดน้อยลง คนเข้าสู่วัยทำงานน้อยลง แปลว่าคนที่จะมาจ่ายเงินสมทบเพื่อไปจ่ายบำนาญให้ผู้สูงอายุก็น้อยลง แต่ด้านขาออกผู้สูงอายุมีมากขึ้น
และ 2.ด้านการเงิน อัตราเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายต่ำเกินไป ปัจจุบันสมทบเพื่อประโยชน์บำนาญและสงเคราะห์บุตร ฝ่ายลูกจ้าง 3 % และฝ่ายนายจ้าง 3 % ภาครัฐไม่ได้จ่ายสมทบในส่วนนี้ รวมเป็น 6 % เข้าสู่กองทุนประกันสังคม จะแบ่งเป็น 2 % สงเคราะห์บุตร และ 4 % เงินบำนาญชราภาพ เมื่ออายุ 55 ปีบำนาญขั้นต่ำ 20 % ขณะที่สมทบ 4 % เท่ากับรับเงินบำนาญประมาณ 5 ปีก็คุ้มแล้ว ปีที่อายุ 61 จึงเป็นการรับเงินจากคนอื่น เงินจึงออกมากกว่าเงินที่สะสมเข้าไป
“2 เรื่องหลักนี้ทำให้ไปสู่ที่ว่าสักวันเงินกองทุนประกันสังคมจะต้องหมด ซึ่งจากการพยากรณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ ณ ปีนี้ คือ 20 ปีบวกลบ และงานวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ดูความยั่งยืนทางการเงินค่อนข้างที่จะสอดคล้องกันว่า ประเด็นปัญหาสำคัญคือ เงินจะไม่พอใช้”ศ.ดร.วรวรรณ กล่าว
เพิ่มอายุเกษียณ-ปรับเพดานเงินสมทบ
ศ.ดร.วรวรรณ กล่าวถึงข้อเสนอทางรอดของกองทุนประกันสังคมว่า ในแง่การศึกษาวิชาการสอดคล้องไปในทางเดียวกันมี 5 ประเด็น ได้แก่ 1.เพิ่มอายุเกษียณที่จะรับเงิน ให้คนที่มีความสามารถในการที่จะทำงานต่อได้ทำต่อ และสะสมเงินสมทบเพิ่ม เพื่อที่เมื่อถึงวันรับบำนาญจะได้รับบำนาญเพิ่มด้วย เพราะปัจจุบันหากจ่ายสมทบตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจะได้รับบำนาญขั้นต่ำ 20% แต่ถ้าทำมากกว่า 15 ปี ทุกๆ1 ปีจะได้เพิ่มอีก 1.5 % หมายความถ้าทำงานจนถึง 60 ปี ก็จะได้บวกเข้ามาอีก 7.5 % ทำให้เงินเริ่มไหลออกช้าลง
2.ปรับเพดานเงินสมทบ จากปัจจุบัน 2 ฝ่ายจ่ายเงินสมทบเพื่อเป็นเงินบำนาญชราภาพ 4 % ซึ่งในงานวิจัยเสนอเพิ่มขึ้นขั้นต่ำควรจะเป็น 15-20 % ค่อนข้างมาก ดังนั้น การจะปรับไม่ใช่ทำทันที จะต้องค่อยๆ ปรับ โดยคนที่จะเริ่มรับเงินไม่ควรไปปรับ ต้องมีมาตรการอาจจะเริ่มจากรุ่นใหม่ รุ่นที่เกิดปีไหน ค่อยๆ ปรับจะเร่งรีบไม่ได้
ทำเงินให้งอกเงย-ทวงหนี้รัฐ
3.ทำเงินให้งอกเงยงอกงามให้มากขึ้น จากรายงานเฉลี่ย 10 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2564 ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนฯ อยู่ที่ประมาณ 4 % ซึ่งค่อนข้างน้อย เพราะเงินกองทุนประกันสังคมมีราว 2 ล้านล้านบาท เป็นกองทุนเงินบำนาญใหญ่สุดในประเทศไทย แต่ผลตอบแทนกลับไม่ได้ดีที่สุด สามารถทำได้ดีกว่านี้ ควรทำได้มากกว่า 4 % หากเกิน 4 % การงอกเงยของผลตอบแทนดอกเบี้ยทบต้นจะยิ่งเติบโตเร็ว
4.ทวงหนี้จากคนที่ติดหนี้ โดยเฉพาะเงินที่ภาครัฐค้างจ่ายเงินสมทบ จากรายงานประจำปีของประกันสังคมปี 2565 ปีเดียวมีการค้างจ่าย 55,000 ล้านบาท ซึ่งผลตอบแทนที่สูญเสียไปแต่ละปีจำนวนมาก ถ้าค้างหลายปีจะทบต้น จะต้องหาทางไปเอามาเพื่อนำมาลงทุนต่อ และได้ผลตอบแทนที่มากด้วย
ปรับลดเงินบริหารจัดการ
และ5.การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ละปีสำนักงานประกันสังคม(สปส.)ใช้เงินเพื่อการบริหารจัดการค่อนข้างสูง แม้ยังใช้ไม่ถึงที่กฎหมายกำหนด 10 % ของเงินสมทบ ถ้าสมทบปีละ 1 แสนล้านจะใช้บริหารจัดการได้ปีละ 10,000 ล้านบาท ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ใช้เงินบริหารจัดการแค่ 2-3 % ครอบคลุมการดูแลประชากรเกือบ 50 % ฉะนั้น ต้องมี Benchmark ให้ประกันสังคมบริหารจัดการให้ไม่เกิน และมีประสิทธิภาพ หรือควรปรับกฎหมายที่กำหนดไว้สูง
“ข้อเสนอเหล่านี้ทำได้ไม่ง่าย โดยเฉพาะในเรื่องการเพิ่มอายุเกษียณ และปรับเพดานเงินสมทบ ฉะนั้น การจะปรับต้องมีกระบวนปรึกษาหารือกับผู้ประกันตน ค่อยๆ ทำความเข้าใจ และต้องมีโรดแมปที่ชัดเจน ส่วนเรื่องทำเงินให้งอกเงยมากขึ้น ,ทวงหนี้ให้ได้ และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำได้เร็ว และง่าย เพราะไม่กระทบผู้ประกันตน” ศ.ดร.วรวรรณ กล่าว
ต้องเพิ่มจำนวนผู้ประกันตนมาตราอื่นๆ
ด้าน รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดประกันสังคม) กล่าวว่า ทุกกองทุนทั่วโลกมีความเสี่ยงอยู่แล้ว ในการบริหารจัดการจึงต้องดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยง หรือพิจารณาการขยายขนาดของกองทุน เพื่อให้กองทุนที่ดูแลคนจำนวนมากสามารถที่จะอยู่ได้ ในฐานะบอร์ดประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตน ย้ำเสมอว่าการมีสิทธิประโยชน์หรือปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ดีขึ้น กับความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคมไม่ได้อยู่ตรงข้ามกัน เพราะบ่อยครั้งมีการตั้งสมการว่าถ้าสิทธิประโยชน์มากขึ้น กองทุนก็จะไม่มีความยั่งยืน
รัฐจ่ายดอกเบี้ยเงินคงค้าง
แม้มีการคาดการณ์ของทางคณิตศาสตร์ประกันภัยว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าขาเข้าจะน้อยกว่าขาออก เนื่องจากจำนวนผู้เกษียณ แต่เป็นการจำลองสถานการณ์ ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามมาได้
เช่น สามารถออกแบบให้มีการเพิ่มจำนวนผู้ประกันตนผ่านมาตราอื่นๆ เข้ามาในกองทุนได้ มีการปรับสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจคนเข้ามาสู่กองทุนประกันสังคม เพราะฉะนั้น ไม่ได้มีสมการเดียวที่จะทำให้กองทุนมีความมั่นคงหรือมีเงื่อนไขที่จะนำสู่การเจ๊งเสมอไป
สิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ มีเงินจำนวนมากที่รัฐติดค้างจ่ายสมทบอยู่ราว 50,000 ล้านบาท โดยที่รัฐไม่ได้จ่ายดอกเบี้ย หากรัฐจ่ายดอกเบี้ยเท่ากับดอกผลที่ประกันสังคมหาได้ขั้นต่ำ 3% ต่อปี ใน 1 ปีก็จะเป็นเงิน 1,000 กว่าล้านบาท สามารถที่จะนำมาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ได้ เงินคงค้างจากภาครัฐอยู่ในปริมาณที่สูง เงินคงค้างภาคเอกชนก็ไม่น้อยเช่นกัน
เปลี่ยนสูตรคำนวณเงินบำนาญ
นอกจากนี้ การออกแบบของประกันสังคมมีลักษณะถีบคนออกจากระบบ เช่น หากเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 แล้วต้องออกมาอยู่ในมาตรา 39 กลายเป็นจะได้เงินบำนาญชราภาพน้อยลงหากมาส่งต่อในมาตรา 39 จึงต้องออกแบบระบบให้คนกลับมาเป็นผู้ประกันตน
ถ้าสามารถเปลี่ยนสูตรคำนวณเงินบำนาญให้เป็นค่าเฉลี่ยของรายได้แทนที่จะเป็นคิดจากรายได้ 5 ปีสุดท้าย จะทำให้ได้เงินจากผู้ประกันตนกลับเข้ามา เป็นทางออกที่มีได้มากกว่าการปรับเพดานเงินสมทบหรือการขยายอายุเกษียณ
ปรับเงินขั้นต่ำใช้คำนวณประกันสังคม
รวมถึง รายได้ขั้นต่ำที่จะส่งประกันสังคมอยู่ที่ 1,600 บาทต่อเดือน เมื่อไปดูสถิติพบว่าสถานประกอบการประมาณ 25 % รายงานค่าจ้างของคนทำงานน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเข้าประกันสังคม ซึ่งผิดปกติ แสดงว่าการที่ประกันสังคมเปิดช่องให้เพดานเริ่มต้นที่จำนวน 1,600 บาทมีปัญหา
หากปรับเป็นขั้นต่ำของเงินเดือนประกันสังคมที่จะคำนวณ เพิ่มเป็น 6,000-7,000 บาทต่อเดือน จะทำให้ช่องทางของการหลีกเลี่ยงการสมทบที่ต่ำเกินจริงของบางสถานประกอบการก็แก้ไขได้ จะมีเงินเพิ่มเข้ามาสู่กองทุนอีกจำนวนหนึ่ง
ส่วนการขยายอายุเกษียณนั้นควรกำหนดรูปแบบต่างๆ เพิ่มเติมเป็นมาตรการจูงใจในเชิงบวก เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกันตน เช่น หากเลือกรับเงินบำนาญช้าให้ได้รับเงินส่วนเพิ่ม เป็นต้น
มั่นใจกองทุนประกันสังคมไม่เจ๊ง
“จะเห็นได้ว่ามีหลายฉากที่จะสามารถแก้ไขช่องโหว่ที่มีอยู่ และกองทุนประกันสังคมเป็นส่วนกองทุนโดยรัฐที่ยึดโยงกับคนมากที่สุดราว 20 ล้านคน มีคนได้สิทธิประโยชน์ทุกวัน ผลประกอบการยังเป็นบวก เงินขาเข้าก็เป็นบวก จึงมีความมั่นคงอยู่มาก ส่วนที่มีสัญญาณต่างๆ ก็สามารถที่จะปรับตัวปรับปรุงได้ ย้ำว่ากองทุนประกันสังคมไม่เจ๊ง” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์