2 ภาวะคุกคาม ที่อาจทำให้ “ระบบสุขภาพ” ล้มละลาย

2 ภาวะคุกคาม ที่อาจทำให้ “ระบบสุขภาพ” ล้มละลาย

ผอ.สวรส.เผย 2 ภาวะคุกคาม  ที่อาจทำให้ “ระบบสุขภาพ” ล้มละลาย 3 ข้อเสนอเชิงนโยบาย ยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิ หนุนรัฐเดินหน้าถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สานพลังจัดเวทีสาธารณะ “จากปฏิบัติการพื้นที่ สู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย : ความท้าทายระบบสุขภาพในมือของชุมชนและท้องถิ่น” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมและผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชนและท้องถิ่น

ตลอดจนระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยน และร่วมขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย พร้อมทั้งประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือการขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิในชุมชนท้องถิ่น โดยองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม กว่า 30 หน่วยงาน

 3 ข้อเสนอเชิงนโยบาย บริบทถ่ายโอนรพ.สต.

สำหรับโครงการวิจัยที่ สช. ดำเนินการภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สวรส. คือ โครงการศึกษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น ภายใต้บริบทการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด

2 ภาวะคุกคาม ที่อาจทำให้ “ระบบสุขภาพ” ล้มละลาย

ศึกษาในพื้นที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ปทุมธานี ภูเก็ต และสงขลา โดยคัดเลือกสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการทดลองตัวแบบ (Sandbox) รวม 12 แห่ง และเกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสำคัญ  ประกอบด้วย

 1. รัฐควรสนับสนุนทิศทางเชิงนโยบายด้านการกระจายอำนาจด้านสุขภาพสู่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นมากขึ้นต่อไป

2. รัฐจะต้องสนับสนุนให้ภาคชุมชนและท้องถิ่นดูแลรับผิดชอบด้านระบบสุขภาพชุมชน และให้ความไว้วางใจแก่ชุมชนท้องถิ่นในการเป็นเจ้าของ เป้าหมายและมาตรฐานบริการด้านสุขภาพชุมชน เพื่อลดการควบคุมจากส่วนกลาง

และปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจเพื่อให้ภาคชุมชนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เป็นเจ้าภาพกำหนดทิศทาง ตัวชี้วัด เป้าหมาย และวิธีดำเนินการด้านการอภิบาลสุขภาพของตนเอง และสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ อย่างกว้างขวาง เพื่อช่วยให้คุณภาพของการให้บริการสูงขึ้น

3. คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ร่วมมือกันขับเคลื่อนและสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ตามแผนงานต่อไป เพราะเป็นแนวทางนโยบายที่ทำได้จริงและเกิดคุณค่ากับสังคมอย่างแท้จริง

ยกระดับรับมือภาวะวิกฤตด้านสุขภาพ

นอกจากนี้ สช. ยังได้ดำเนินโครงการวิจัยยกระดับศักยภาพการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพด้วยนวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ในชุมชนเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และต่างจังหวัด จำนวน 17 ชุมชน

โดยมีหน่วยงานองค์กรที่ทำงานใกล้ชิดกับพื้นที่ และทำหน้าที่เป็นหน่วยสนับสนุนชุมชน หรือโหนดพี่เลี้ยง จำนวน 10 โหนด เพื่อถอดบทเรียนนวัตกรรมชุมชนที่จะนำไปสู่การสร้างรากฐานความเข้มแข็งระดับพื้นที่

มีข้อเสนอเชิงนโยบายที่น่าสนใจ อาทิ ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ กทม. เป็นเจ้าภาพหลักพัฒนาศักยภาพชุมชนเมืองในการสร้างสุขภาวะของชุมชนโดยสอดคล้องกับบริบทและทุนทางสังคม สร้างและสนับสนุนระบบหน่วยพี่เลี้ยงชุมชนเป็นกลไกหลักในการทำงาน สนับสนุนการจัดทำและพัฒนาระบบข้อมูลระบบสุขภาพชุมชนให้มีความเชื่อมโยงข้อมูลระดับชาติและข้อมูลเชิงพื้นที่ เป็นต้น

2 ภาวะคุกคาม ที่อาจทำให้ “ระบบสุขภาพ” ล้มละลาย

2 ภาวะคุกคาม อาจทำระบบสุขภาพล้มละลาย

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า ปัจจุบันระบบสุขภาพของประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะคุกคามอยู่ 2 เรื่อง ที่หากบริหารจัดการไม่ดีระบบสุขภาพของประเทศอาจจะล้มละลายได้ คือ

1. การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าที่คาด ดังนั้นเรื่องระบบการดูแลระยะยาว (LTC) และระบบต่างๆ จะต้องทำอย่างจริงจัง

2. ปัญหาทางสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงจากระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

 พื้นที่เป็นฐานสร้างระบบสุขภาพในฝัน

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ระบบสุขภาพที่เข้ามาอยู่ในมือของชุมชนและท้องถิ่นถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปยัง อบจ. ที่ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว พบเห็นทั้งสิ่งดีๆ ที่เป็นนวัตกรรมการดำเนินงานด้านสุขภาพในระดับพื้นที่ ตลอดจนอุปสรรคปัญหาบางประการด้วยเช่นกัน

“การทำให้ระบบสุขภาพที่ทุกคนฝันถึงเกิดขึ้นได้จริง คือการสร้างสังคมสุขภาวะ ที่ทุกคนจะมีสุขภาพดีได้อย่างเป็นองค์รวม แน่นอนว่าต้องอาศัยการมีส่วนร่วม หรือการสานพลังทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมกัน โดยการใช้พื้นที่เป็นฐาน มองประชาชนเป็นศูนย์กลาง และส่วนใครจะมีบทบาทหน้าที่อย่างไร มีส่วนร่วมช่วยตรงไหนได้บ้าง ก็เข้ามาทำตรงนี้ร่วมกัน” นพ.สุเทพ กล่าว

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการขับเคลื่อนผ่านองค์ความรู้ทางวิชาการและนวัตกรรม ซึ่งทาง สช. ได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. ในการดำเนินโครงการศึกษาวิจัยร่วมกับ อบจ. 6 จังหวัด จนได้ผลลัพธ์ที่เกิดเป็นองค์ความรู้และต้นแบบดีๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ สร้างแรงบันดาลใจให้กับพื้นที่ต่างๆ รวมถึงจะเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะช่วยในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไป

 หนุนนโยบายถ่ายโอนรพ.สต.ที่ชัดเจน

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาฯ กล่าวว่า จากบทเรียนของสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงวิกฤตด้านสุขภาพต่างๆ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าระบบสุขภาพปฐมภูมิมีความสำคัญ

โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันระหว่างท้องถิ่นและชุมชน เพื่อให้เกิดบริการสุขภาพที่สนองตอบต่อประชาชน ภายใต้บริบทการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ที่เราจะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งนี้ ยังคงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่น ที่จะทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพไม่ด้อยไปกว่าเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิม

2 ภาวะคุกคาม ที่อาจทำให้ “ระบบสุขภาพ” ล้มละลาย

สรุปจากโครงการศึกษาวิจัยที่ดำเนินการ พบว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากลไกความร่วมมือในท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน ในทุกระดับตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การวางแผนการดำเนินงาน

และการติดตามประเมินผล เพื่อให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ซึ่งภาคประชาสังคม หรือสมัชชาสุขภาพจังหวัดในพื้นที่ เป็นส่วนที่จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างพื้นที่กลางและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้

ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ขมวดออกมา มีตั้งแต่การให้มีนโยบายที่ชัดเจนกับถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. รวมถึงสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความเป็นเจ้าของของชุมชนในการกำหนดความต้องการด้านสุขภาพ

และมีการพัฒนาระบบข้อมูลดิจิทัลสุขภาพ ส่งเสริมกลไกการอภิบาลระบบ มีการติดตามและประเมินผล ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดหน่วยพี่เลี้ยงชุมชน เพื่อเป็นกลไกหลักในการยกระดับชุมชนให้มีศักยภาพ และทดลองนำร่องการสร้างรูปแบบใหม่ๆ ในการบริการ