เจาะมูลเหตุ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ขอแยกออกจากก.พ.

เจาะมูลเหตุ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ขอแยกออกจากก.พ.

สธ.เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น(ร่าง)กฎหมายแยกตัวออกจากก.พ. เดินหน้าแก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุขขาดแคลน แพทย์ต้องการปีละ 2,055 คนปัจจุบันได้แค่ 1,000 คน ส่วนพยาบาลขาดอีกกว่า 60,000 คน

KEY

POINTS

  • กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) บุคลากรสาธารณสุขไม่เพียงพอ แพทย์ต้องการปีละราว 2,000 คน ได้รับจัดสรรเพียง 1,000 คน พยาบาลยังขาดอีกกว่า 60,000 คน  
  • กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ยกร่างกฎหมายขอแยกตัวออกจากกรอบสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนเสนอเข้าครม.คาดเดือนส.ค.นี้
  • มั่นใจผลักดันกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ออกจากกรอบก.พ.สำเร็จ จะแก้ปัญหาได้กำลังคนได้ เพราะสามารถกำหนดอัตรากำลัง ค่าตอบแทนและความก้าวหน้าตำแหน่งได้

นับเป็นเวลาร่วม 10 ปี ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)พยายามแก้ปัญหากำลังคนระบบสาธารณสุข ด้วยการผลักดันเรื่อแยกตัวออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)แต่ยังไม่สำเร็จ

มูลเหตุเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากความขาดแคลนของบุคลากรสาธารณสุข ที่ประสบปัญหาเรื่องกอรบอัตรากำลังที่ไม่เพียงพอ บวกกับการลาออกเพราะภาระงานที่มากและขาดความก้าวหน้าในตำแหน่ง แต่ที่ผ่านมาไม่ได้กรอบอัตรากำลังและความก้าวหน้า เพื่อดึงคงไว้ในระบบได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ในกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)นั้น มีบุคลากรกว่า 60 วิชาชีพ

แพทย์สธ.ไม่เพียงพอ 

หากพิจารณาในส่วนของแพทย์ แม้ความขาดแคลนจะไม่มากเหมือนอดีต แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดยประเทศไทย มีจำนวนแพทย์ต่อประชากร 1:1,305 คน ขณะที่สิงคโปร์ 1:411 คน มาเลเซีย 1:448 คน และเวียดนาม 1:1,204 คน

จากกำลังการผลิตแพทย์ในปัจจุบันปีละ 3,386 คน  อยู่สธ.ราว 1,000 คน แต่ยังต้องการเพิ่ม ที่เหลือ 2,500  คน  50 % อยู่ภาคเอกชน และ 50 % อยู่รพ.รัฐอื่น เฉพาะในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีการวิจัยประเมินว่าจะต้องได้รับจัดสรรอย่างน้อยปีละ 2,055 คนจึงจะเพียงพอ ฉะนั้น หากจะให้มีจำนวนแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1:650 คน จะบรรลุเป้าหมายได้ในปี 2580 

นอกจากนี้ ยังพบเรื่องการปฏิบัติงานนอกเวลาเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่เป็นมาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย และมีการลาออกราว ภาพรวมเฉลี่ยปีละ 455 คนและเกษียณปีละ 150-200 คน รวมหลุดออกจากระบบประมาณปีละ 655 คน 

สาเหตุพยาบาลขาดแคลน  

ขณะที่พยาบาล ในการประชุมสภาการพยาบาล เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2567 ที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งสภาการพยาบาล เป็นประธานการประชุม โดยรศ.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล นำเสนอข้อมูลว่า  ปัจจุบันพยาบาลผดุงครรภ์ปฏิบัติงานในระบบบริการสุขภาพจำนวนประมาณ 170,000 คน หรือ  75 % ของผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ขณะที่จำนวนพยาบาลที่ต้องการ 300,000 คน คิดเป็นอัตราส่วนพยาบาล ต่อประชากร เท่ากับ 1 : 250 คน ซึ่งสาเหตุของพยาบาลขาดแคลน

1. ความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนเพิ่มขึ้น และปัญหาสุขภาพซับช้อนขึ้น

2.ในกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้บรรจุพยาบาลเป็นข้าราขการ แต่จ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวได้รับเงินเดือนต่ำกว่าเกณฑ์มีความเหลือมล้ำในภาระงาน และค่าตอบแทนต่ำ

3. การะงานที่หนัก และต้องปฏิบัติงานหมุนเวียน 24 ชั่วโมง ซึ่งแตกต่างจากผู้ทำงานอื่น ๆ และสภาพการทำงานในบางแห่งไม่ปลอดภัย และไม่เอื้อต่อการทำงาน

4. ความก้าวหน้าในงานตามสายงานวิชาชีพเนความท้าทายที่ต้องรีบดำเนินการสถาบันการพยาบาลทั่วประเทศ 109 แห่ง อัตราการผลิตพยาบาลได้ราว 12,000 คน

ชงแผนเพิ่มผลิต 5 ปี 15,000 คน

สถาบันการศึกษาพยาบาล 109 แห่ง มีอัตราการผลิตพยาบาลราวปีละ 12,000 คน  ทั้งนี้ สภาการพยาบาลมีข้อเสนอ ประกอบด้วย

1.เร่งรัดกระทรวงอว.นำโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรสาขาพยาบาลศาสตร์ ปีการศึกษา 2566-2570 เข้าครม.เพื่อพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ โดย 5 ปีจะผลิตรวมได้  15,985 คน ใช้งบประมาณรวม 7,033 ล้านบาท

2. เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวง อว. และสภาการพยาบาลเพื่อวางแผนการเพิ่มและพัฒนาอาจารย์พยาบาล เพื่อจัดทำแผนพัฒนาศักยภาพกำลังคนทางการพยาบาลในภาพรวมของประเทศ 1 ผู้ช่วยพยาบาล 1 หมู่บ้าน

3. เพื่อการธำรงรักษากำลังคนพยาบาลวิซาชีพไว้ในระบบและลดภาระงานของพยาบาลที่สามารถมอบหมายให้ผู้ช่วยพยาบาลทำได้ด้วยความปลอดภัยตามมาตรฐานวิชาชีพ  สธ. สนับสนุนนโยบาย 1 ผู้ช่วยพยาบาล ต่อ 1 หมู่บ้าน เพื่อรองรับการดูแลประชาชนในพื้นที่ สธ.ควรสนับสนุนงบประมาณ และกำกับติดตามการผลิตและกำหนดตำแหน่ง จ้างงานผู้ช่วยพยาบาลอย่างน้อย 8,000 อัตราต่อปี

พยาบาลรัฐขาดกว่า 60,000 คน

ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวว่า  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ตนมาติดตามการแก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลน และให้รายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างช้าอังคารหน้า ซึ่งตนทราบว่า พยาบาลภาครัฐขาดประมาณ 6 หมื่นคน

และพยาบาลต้องทำงานเกินเวลา จากที่กำหนด 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ทำจริง 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยถ้าอยากลดเวลาการทำงาน ก็ต้องเพิ่มบุคลากรให้มากขี้น เพราะถ้าไม่มีการปรับ พยาบาลก็ต้องเหนื่อย ดังนั้น ต้องช่วยกันทำให้พยาบาลเหนื่อยน้อยลง พร้อมเดินหน้าผลิตผู้ช่วยพยาบาลด้วย

“มีการหารือแนวทางการเพิ่มบุคลากร และยืนยันการรักษามาตรฐาน โดยจะมีการผลิตพยาบาลให้ได้ปีละ 15,000 คน จากเดิมได้ราว 12,000 คน รวมถึงต้องมีการเพิ่มครูสอนพยาบาลด้วย ซึ่งการเพิ่มบุคลากรไม่น่ามีปัญหา เพราะเห็นพ้องต้องกัน และวันที่ 16 ก.ค.2567ปลัดสธ. จะหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย”นายสมศักดิ์ กล่าว

เร่งดันกม.สธ.ออกจากก.พ.มาแก้ปัญหา 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทุกสาขาวิชาชีพบุคลากรสาธารณสุขติดกรอบสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)เหมือนกันหมด จึงตัดสินใจผลักดันให้สธ.ออกจากกรอบก.พ. จะได้สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ซึ่งมีการยกร่างกฎหมายเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างตรวจ เมื่อแล้วเสร็จก็จะเปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนนำเสนอครม. คณะกรรมการกฤษฎีกา และรัฐสภาต่อไป  ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอเข้าครม.ได้ในเดือนส.ค.2567

“อยากฝากให้ทุกคนช่วยกันตีฆ้องร้องป่าวให้เห็นถึงความจำเป็นของการมีกฎหมายที่ให้สธ.ออกนอกกรอบก.พ.และตอนที่เปิดรับฟังความคิดเห็นขอให้ร่วมกันแสดงความเห็นสนับสนุน  เพราะหากไม่ร่วมกันก็จะไปไม่รอด”นายสมศักดิ์กล่าว 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. กล่าวว่า  ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรไม่ได้อยู่ที่การผลิตอย่างเดียว แต่รวมถึงการทำให้บุคลากรคงอยู่ในระบบด้วย หากสามารถผลักดันกฎหมายให้สธ.ออกจากกรอบก.พ.ได้สำเร็จ  ก็จะทำให้สามารถกำหนดบุคลากร ค่าตอบแทนและความก้าวหน้าในตำแหน่งได้เอง ก็จะตอบโจทย์ทุกอย่าง