“กัญชา” สถานะยังไม่เคลียร์! 3 เดือนถูกแช่แข็ง นายกฯเคาะใหม่
3 เดือนเต็ม หลังนายกฯสั่งคืนกัญชาเป็นยาเสพติด สุดท้ายนายกฯเคาะให้ควบคุมโดยใช้พรบ. แต่ยังไม่ชัดเจนถึงสถานะของกัญชา
KEY
POINTS
- ล่าสุด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียก 2 รัฐมนตรีหารือปม “กัญชา”ก่อนเคาะให้ใช้พรบ.ในการควบคุมกัญชา แต่ก็ยังไม่มีการระบุชัดถึง “สถานะของกัญชา”จากนี้
- ย้อนรอยช่วง 3 เดือน นายกฯมอบนโยบายให้สธ.นำกัญชาคืนเป็นยาเสพติด แต่สุดท้ายเหมือนเป็นการ “แช่แข็งกัญชา” ธุรกิจขยับไม่ได้ คุ้มครองประชาชนก็ไม่ผ่าน
- เหตุผลฝ่ายหนุนกัญชาเป็นยาเสพติด เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะเด็กเยาวชนหญิงตั้งครรภ์ ส่วนฝ่ายคัดค้าน มองว่า กัญชาเป็นสมุนไพร
เปรี้ยงแรก 8 พ.ค.2567 นายกฯสั่ง “คืนกัญชาเป็นยาเสพติด”
เปรี้ยงที่สอง 23 ก.ค.2567 นายกฯสั่ง “ออกร่าง พรบ.ควบคุม กัญชา”
เท่ากับเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา “กัญชาถูกแช่แข็ง” ธุรกิจไม่คืบ คุ้มครองประชาชนก็ไม่คืบ
นายกฯให้คืนกัญชาเป็นยาเสพติด
ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ดำเนินการคืน “กัญชาเป็นยาเสพติด และให้เสร็จสิ้นภายในปี 2567” หลังจากที่กัญชาถูกปลดล็อกจากยาเสพติดมาเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่เมื่อ 9 มิ.ย.2565
ตามขั้นตอนสธ.จะต้องออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 ลงนามโดยรมว.สธ. แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(บอร์ดป.ป.ส.)ก่อน
ส่งผลให้ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา สธ.ดำเนินการยก(ร่าง)ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดประเภท 5 พ.ศ.... ผ่านการรับฟังความคิดเห็นและคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีมติเห็นชอบ(ร่าง)ประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2567
“สาระสำคัญของ(ร่าง)ประกาศสธ. คือ การกำหนดให้ “ช่อดอกกัญชากัญชง”และสารสกัดที่มีสารTHC เกิน 0.2 % เป็นยาเสพติด”
พร้อมกับส่ง(ร่าง)ฉบับดังกล่าวไปยังบอร์ดป.ป.ส.เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2567 และตามกำหนดบอร์ดป.ป.ส.จะมีการประชุมช่วงปลายเดือนก.ค.2567 แต่จนตอนนี้ก็ยังไม่มีกำหนดการประชุมที่มีวาระเรื่องนี้
ท่าที2 พรรคร่วมสวนนายกฯ
ขณะเดียวกันก็มีท่าทีของ 2 แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นบอร์ดป.ป.ส.ออกมาในทิศทางที่สวนกับนโยบายนายกฯ และพรรคเพื่อไทย
“ผมซึ่งเป็นรมว.มหาดไทย ต้องเข้าไปลงมติในบอร์ดป.ป.ส. ผมไม่สามารถให้ความเห็นชอบให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดได้ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าว
"ยังไม่ทราบ ยังไม่เคยมีการหารือกับผม ดังนั้นจะประชุมอะไรก็ต้องมาคุยกันก่อน แต่ขณะนี้ผมยังไม่รู้เรื่องเลย”นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ดป.ป.ส.กล่าว
ฝ่ายหนุนกัญชาเป็นยาเสพติด
ทั้งนี้ ระหว่างการดำเนินการ 3 เดือนที่ผ่านมา มีทั้งเสียงสนับสนุนให้ “กัญชาเป็นยาเสพติด” และคัดค้าน
ฝ่ายสนับสนุนกัญชาเป็นยาเสพติด ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ราชวิทยาอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม สนับสนุนนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด เนื่องจากมองว่า กัญชาก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย โดยเฉพาะเยาวชนและหญิงตั้งครรภ์ ทั้งยังมีผลกระทบทางอ้อมในทางลบต่อสังคม
เช่นเดียวกับ เครือข่ายเยาวชนไม่นะกัญชาและยาเสพติด (YNAC)ที่เห็นว่ากัญชานั้นส่งผลในทางลบต่อเด็กและเยาวชน
ฝ่ายค้านคืนกัญชาเป็นยาเสพติด
สำหรับฝ่ายที่คัดค้านไม่ให้คืนกัญชาเป็นยาเสพติด เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย มีการปักหลักชุมนุม โดยมีตัวแทนอดอาหาร 2 คน เพื่อแสดงถึงการอารยะขัดขืน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลมีการตั้งคณะทำงานมาศึกษาผลกระทบของกัญชาให้ชัดเจนก่อนว่าส่งผลเสียหรือผลดีต่อร่างกายอย่างไร เพื่อให้มีข้อมูลเชิงวิชาการอ้างอิง ก่อนที่จะพิจารณาคืนกัญชาเป็นยาเสพติด
และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิตที่มองว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ และตั้งคำถามว่าหากยังเดินหน้าตาม(ร่าง)ประกาศสธ.นำกัญชาเป็นยาเสพติดนั้น “เป็นการล็อกสเปคเอื้อนายทุนใหญ่”หรือไม่
นายกฯให้คุมกัญชาโดยพรบ.
ทั้งหมดดำเนินการผ่านมาร่วม 3 เดือน กระทั่งวันที่ 23 ก.ค.2567 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เชิญนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.) และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เข้าหารือเกี่ยวกับเรื่องกัญชา
ก่อนที่นายอนุทิน จะให้สัมภาษณ์ว่า “นายกฯให้ดำเนินการควบคุมกัญชา โดยพรบ.”
ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ. ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นความห่วงใยของท่านนายกฯ ที่มีประเด็นที่อาจจะเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเป็นการเมืองหรือไม่อย่างไรต่างๆ ท่านก็เป็นห่วงว่ามันไปถึงไหนอย่างไร
โยนบอร์ดป.ป.ส.-สภาดำเนินการต่อ
เรื่องนี้ก็มี 2 ทางอยู่แล้ว คือ
1.เสนอไปยัง บอร์ด ป.ป.ส.ซึ่งบอร์ด ป.ป.ส.ก็ต้องประชุมให้ความเห็นกลับมายัง รมว.สธ.ถึงจะประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติดได้
2.มี พรบ.เกี่ยวกับกัญชาที่ยังค้างอยู่ในสภา 3 ฉบับ และฉบับของกระทรวงก็ยังอยู่ในคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมเป็น 4 ฉบับ
ส่วนแนวทางไหนเร็วอันไหนช้าหรืออย่างไร แต่ผลที่ออกมาก็จะอยู่ในแนวทาง คือ กัญชาเพื่อการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ แต่เรื่องของสันทนาการไม่มี
ผู้สื่อข่าวถามว่า (ร่าง)ประกาศสธ.ที่จะให้กัญชาเป็นยาเสพติดจะต้องเดินหน้าหรือไปออก พรบ.กัญชาเลย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ยังไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลง
หมายถึงว่า(ร่าง)ประกาศดังกล่าวไม่เข้าบอร์ด ป.ป.ส.แล้วใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า บอร์ด ป.ป.ส.ก็เป็นอำนาจของบอร์ด ป.ป.ส. ในส่วนของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดส่งไปแล้ว แต่ยังไม่มีการบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมของบอร์ดป.ป.ส.ตอนนี้
ถามต่อว่าเท่ากับว่าการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดต้องชะลอไว้ก่อนแล้วไปออก พ.ร.บ.แทนใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็เป็นไปตามกลไกที่วางไว้ ทั้ง ป.ป.ส.และทั้งสภาผู้แทนราษฎร มันเป็นกลไกของประชาธิปไตยรัฐสภา
กัญชาเหมือนใส่เกียร์ว่าง เกิดความเสียหาย
ถามว่ากัญชาต้องกลับเป็นยาเสพติดอยู่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีร่างพรบ.กัญชา 4 ฉบับ เมื่อร่างกฎหมายยังไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว เหมือนขับรถลงเขาโดยใส่เกียร์ว่าง มันจะเกิดความเสียหาย สมควรอย่างยิ่งที่จะประกาศเป็นยาเสพติด ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่
โดยตน และสธ. ก็เดินประกาศให้เป็นยาเสพติดประเภท 5 ก็สุดแท้แต่การพิจารณาของบอร์ด ป.ป.ส. จะประชุมเมื่อไหร่ หรือมีความเห็นอย่างไร ก็ต้องยอมรับฟัง ถ้าบอร์ดป.ป.ส.ไม่ผ่าน ไม่เห็นด้วย ก็ออกเปนประกาศไม่ได้อยู่ดี แต่ว่ามันจะอยู่โดยเกียร์ว่างแบบนี้ไม่ได้ ก็ต้องทำไป แต่จะเป็นกฎหมายหรือจะเป็นอะไรก็ไม่ได้ขัดขวางอะไรทั้งสิ้น
“ผมก็บอกไปแล้วว่ามันเป็นเงื่อนไขของเวลาด้วย ผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายถ้ามันมีกฎหมายตัวแม่ออกมาแล้ว ตัวลูกต้องออกมาภายใน 2 ปี ถ้า 2 ปีไม่จบก็ขอขยายได้อีก 1 ปี มันจะครบ 3 ปี ในวันที่ 9 พ.ย.2567ถ้าจำไม่ผิด ผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย จะไม่ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ แต่ว่าในมุมมองของผม ผมก็อยากประกาศออกมาก่อนเพื่อป้องกันความเสียหาย”นายสมศักดิ์กล่าว
ยังไม่เคลียร์ กัญชาเป็นยาเสพติด
แม้ 3 เดือนที่ผ่านมาหลังจากนายกฯให้นโยบายคืนกัญชาเป็นยาเสพติด นัยยะตามกฎหมายจะยังไม่มีผลบังคับว่า “กัญชาเป็นยาเสพติด” และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งการปลูก การสกัด การทำเป็นผลิตภัณฑ์และร้านจำหน่าย สามารถดำเนินการได้ตามปกติ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ภาคธุรกิจไม่กล้าที่จะขยับไปในทิศทางไหน” เพราะความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐบาล “ชักเข้าชักออก”
ประหนึ่งว่า “แช่แข็งกัญชามาตลอด 3 เดือน”
ยิ่งล่าสุด 23 ก.ค.2567 พลิกกลับมาให้ดำเนินการเรื่องควบคุมกัญชา โดยใช้พรบ. แต่ก็ยังไม่มีใครระบุชัดว่าการใช้พรบ.มาควบคุมนั้น ภายใต้ “กัญชาอยู่ในสถานะใด”
สรุปแล้วรัฐบาลชุดนี้ “กัญชาจะเป็นยาเสพติดหรือไม่"?
จึงเป็นหน้าที่ของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่จะต้องออกมาเคลียร์ให้ชัดเกี่ยวกับ “สถานะกัญชา” เพราะมิอาจปฏิเสธว่าเรื่องนี้ส่งผลต่อ “ความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล”