อย.-สมอ.ลุยสกัดสินค้าจีนทะลัก ระดมกำลังเพิ่มสุ่มตรวจคุณภาพ

อย.-สมอ.ลุยสกัดสินค้าจีนทะลัก ระดมกำลังเพิ่มสุ่มตรวจคุณภาพ

“ภาครัฐ” รุกสกัดสินค้านำเข้าไม่ได้มาตรฐานผ่านออนไลน์จากจีนตีตลาดไทย อย.ย้ำด่านตรวจเข้มทุกพัสดุส่งเข้าไทย เร่งวิเคราะห์ยอดสินค้าสั่งผ่านอีคอมเมิร์ซ สมอ.คุมเข้มมาตรฐานสินค้า 144 รายการ หนุนหน่วยงานรัฐเพิ่มสุ่มตรวจสินค้า เตรียมชง ครม.ประกาศเพิ่ม 9 ผลิตภัณฑ์

KEY

POINTS

  • แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนทยอยเข้ามาเปิดตัวในไทยอย่างต่อเนื่องทำให้ภาคธุรกิจกังวลสินค้าจะทะลักเข้ามาส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไทย
  • “ภาครัฐ” รุกสกัดสินค้านำเข้าไม่ได้มาตรฐานผ่านออนไลน์จากจีนเข้ามาตีตลาดไทย อย.ย้ำด่านตรวจเข้มทุกพัสดุส่งเข้าไทย เร่งวิเคราะห์ยอดสินค้าสั่งผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ นำข้อมูลวางแผนรองรับ
  • สมอ.คุมเข้มมาตรฐานสินค้า 144 รายการ หนุนหน่วยงานรัฐเพิ่มสุ่มตรวจสินค้า เตรียมชง ครม.ประกาศเพิ่ม 9 ผลิตภัณฑ์

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนทยอยเข้ามาเปิดตัวในไทยอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น Lazada , Aliexpress , Taobao , SHEIN และล่าสุด Temu ประกาศเปิดตัวในไทย โดยใช้กลยุทธ์ราคาสินค้าถูกที่สุดส่งตรงจากโรงงานในจีน ทำให้ภาคธุรกิจกังวลสินค้าจะทะลักเข้ามาส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไทย

รวมถึงอาจจะมีผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายที่ใช้ภายในครัวเรือน และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่อยู่ในการควบคุมกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้สัมภาษณ์ว่า โดยหลักทุกผลิตภัณฑ์ที่สั่งมาจากต่างประเทศส่งเข้ามาสู่ประเทศไทยผ่านทางไปรษณีย์ จะมีด่านไปรษณีย์ตรวจสอบทุกพัสดุจะต้องถูกเอกซเรย์

โดยหากด่านศุลกากรเห็นว่าใบแสดงเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพจะส่งมาให้เจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยาตรวจสอบ ซึ่งมีระบบตรวจสอบเข้มข้น ด้วยการเปิดพัสดุดูว่าตรงปกตามที่มีการแจ้งไว้หรือไม่ หากไม่ตรง ก็จะมีการดำเนินตามกฎหมายกับผู้ที่สั่งเข้ามา และศุลกากรก็จะยึดอายัดไว้เป็นของกลาง

ส่วนประเด็นหากสั่งสินค้าผ่าน Temu จำนวนมาก กำลังคนตรวจสอบจะเพียงพอหรือไม่ ภก.เลิศชาย กล่าวว่า Temu เพิ่งเปิดตัวในไทย ซึ่ง อย.กำลังวิเคราะห์หลังบ้านอยู่ว่าปริมาณงานที่เพิ่มเติมขึ้นจากการสั่งผลิตภัณฑ์สุขภาพมีขนาดไหน 

รวมทั้งหากมีจำนวนมากแบบก้าวกระโดดก็จะส่งผลต่อภาระงานในการที่จะต้องตรวจสอบแน่นอน รวมถึงวิเคราะห์ว่ามีช่องว่างตรงจุดไหนที่เมื่อสินค้าเข้ามาแล้วจะหลุดจากการตรวจสอบ เพื่อวางแผนรองรับ เป็นสิ่งที่ต้องนำข้อมูลมาวางแผนต่อไป

พิจารณากำหนดปริมาณสั่งเข้าใช้ส่วนตัว

ภก.เลิศชาย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ถ้ามองตามเกณฑ์ของกฎหมายที่อย.ดูแลนั้น การสั่งเข้ามาผ่านอีคอมเมิร์ซ ไม่เข้านิยามว่าเป็นของติดตัวที่นำเข้ามาได้ในปริมาณที่กำหนดหลังกลับมาจากต่างประเทศโดยไม่ต้องขออนุญาต แต่การสั่งเข้าผ่านทางอีคอมเมิร์ซจะต้องขออนุญาตนำเข้าหรือไม่

รวมถึงเป็นการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เป็นสิ่งที่อย.กำลังพิจารณาดำเนินการขีดเส้น เรื่องการกำหนดปริมาณผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สั่งเข้ามาส่งผ่านไปรษณีย์ที่เป็นการใช้ส่วนตัว ไม่เข้าข่ายเป็นการสั่งเข้ามาเพื่อจำหน่าย

“ส่วนตัวเชื่อว่าการสั่งผ่านอีคอมเมิร์ซเข้ามาเพื่อขายนั้น ไม่คุ้มและสู้ราคาต้นทุนไม่ได้ เพราะคนซื้อจะสั่งเองผ่านอีคอมเมิร์ซได้ราคาถูกกว่า”ภก.เลิศชายกล่าว

ภก.เลิศชาย แนะนำด้วยว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนที่จะเลือกซื้อ จะต้องดูบรรจุภัณฑ์มีรอยฉีกขาดหรือสมบูรณ์หรือไม่ แต่สินค้าที่มาจากต่างประเทศนั้น จะไม่มีฉลากภาษาไทย โดยหลักจึงอย่าไปซื้อสินค้าที่อ่านฉลากไม่ออก เนื่องจากจะไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนผสมอะไรบ้าง มีของที่เราแพ้หรือไม่ เมื่อเกิดความเสียหาย ของไม่ตรงปก ไม่รู้จะไปเรียกร้องกับใคร

“ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ขายในไทยมีจำนวนมากเป็นของดีมีคุณภาพดีและตรวจสอบได้ ร้องเรียนได้กรณีมีปัญหา จึงไม่แนะนำให้สั่งผลิตภัณฑ์สุขภาพจากต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะอาจจะได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ตรวจสอบไม่ได้ ไม่รู้แหล่งที่มาการผลิต ไม่สามารถร้องเรียนได้หากเกิดผลกระทบ”ภก.เลิศชายกล่าว

ตลาดอยู่ยุคแพลตฟอร์มออนไลน์

ภก.เลิศชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการสั่งผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านอีคอมเมิร์ซยังเป็นปกติ จำนวนยังพอรับไหว ซึ่งปัจจุบันตลาดไม่เหมือนเดิม ตลาดอยู่ออนไลน์มากขึ้น กระบวนการตรวจสอบกำลังข้ามจากตลาดนัด ซูเปอร์มาร์เก็ตไปเป็นสินค้าที่อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นและได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์มาระดับหนึ่ง

“อย.มีหน้าที่การันตีว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้ามา แม้เป็นของที่สั่งเข้ามาเพื่อใช้ส่วนตัวก็ต้องไม่เป็นสินค้าที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และตรงปก ไม่มีสิ่งของที่ผิดกฎหมาย สิ่งของต้องห้าม”ภก.เลิศชายกล่าว

ลุยตรวจซูเปอร์มาร์เก็ตจีน

ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2567 อย.ร่วมกับกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก.ปคบ.) และเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร (สำนักอนามัย และสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร 4 เขต ได้แก่ เขตสัมพันธ์วงศ์ เขตหลักสี่ เขตบึงกุ่ม และเขตห้วยขวาง) ตรวจซูเปอร์มาร์เก็ตจีน 11 แห่ง

ทั้งนี้การตรวจสอบพบอาหารไม่มีเลข อย.ไม่มีฉลากภาษาไทยหรืออาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง 58 รายการ รวม 1,665 ชิ้น ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 6 (10) มีโทษตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 โทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้ได้มอบเอกสารพยานหลักฐานและผลิตภัณฑ์อาหารที่ตรวจยึดให้พนักงานสอบสวน บก.ปคบ.ดำเนินการตามกฎหมาย

“อย.จะตรวจสอบร้านจำหน่ายอาหารโดยเข้มงวดและดำเนินคดีตามกฎหมาย ขอให้ผู้ประกอบการตรวจสอบสินค้าก่อนจำหน่ายเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และได้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกจังหวัดให้ตรวจสอบเฝ้าระวังทุกพื้นที่”ภก.วีระชัยกล่าว

สมอ.หนุนเพิ่มสุ่มตรวจสินค้า

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สินค้าไม่ได้มาตรฐานมีแนวโน้มสูงขึ้น จึงอยากให้ภาครัฐร่วมกันเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบมากขึ้นทั้งกำลังคน และอุปกรณ์การตรวจสอบมากขึ้นจากปัจจุบันตรวจสอบระดับ 10-20% อาจเพิ่มการตรวจสอบมากกว่านี้ 

“ต้องเข้าใจว่าสินค้าที่พบไม่ได้มาตรฐานเป็นการสุ่มตรวจ และเป็นการที่ สมอ.ได้รับข้อมูลและตรวจสอบติดตามจากตู้เก็บสินค้าหนึ่งไปอีกสินค้าหนึ่ง” นายวันชัย กล่าว

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา สมอ.ต้องตรวจเข้มสินค้าไม่ได้มาตรฐานมากขึ้น โดยช่วงเดือน ต.ค.2566 ถึงปัจจุบันเฉลี่ย 10 เดือน พบสินค้าไม่ได้มาตรฐานกว่า 344 ล้านบาท โดยมากกว่าปี 2566 มูลค่ารวม 203 ล้านบาท และกลุ่มที่พบมากสุด 3 อันดับแรก คือ 

  • อันดับ 1 เหล็กและวัสดุก่อสร้างกว่า 126 ล้านบาท คิดเป็น 37%
  • อันดับ 2 เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 111 ล้านบาท คิดเป็น 33% ยางล้อรถยนต์ 86 ล้านบาท คิดเป็น 25%
  • และอันดับ 3 สินค้าโภคภัณฑ์ 17 ล้านบาท คิดเป็น 3%

“ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา เราดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเพื่อเข้าคณะเปรียบเทียบแล้ว670 ราย และส่งดำเนินคดีในชั้นศาลเพื่อรับโทษจำคุกไปอีก 70ราย เพราะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยผู้บริโภค”

สำหรับกฎระเบียบข้อบังคับโดยผู้ทำและนำเข้าทุกรายจะต้องขออนุญาตก่อนทำหรือนำเข้า และจะต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐานที่สินค้าทุกชิ้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยผู้ทำหรือนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ส่วนร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สินค้านำเข้า14กลุ่มต้องได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานดังนี้ โดยให้มีผลบังคับใช้กับผู้ทำและผู้นำเข้า 144 มาตรฐาน ครอบคลุม 19 กลุ่มรายการ ประกอบด้วย กลุ่มเคมี , กลุ่มปิโตรเลียม , กลุ่มพลาสติก , กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง , กลุ่มสีและวาร์นิช , กลุ่มเครื่องกล , กลุ่มยานยนต์ , กลุ่มอุปกรณ์ดับเพลิง

กลุ่มอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน , กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า , กลุ่มไฟฟ้ากำลัง , กลุ่มไฟฟ้าส่องสว่าง , กลุ่มเครื่องมือแพทย์ , กลุ่มโภคภัณฑ์ , กลุ่มคอนกรีต , กลุ่มเซรามิก , กลุ่มวัสดุก่อสร้าง , กลุ่มเหล็ก และกลุ่มอาหาร

เสนอ ครม.คุมเพิ่ม 9 ผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศมาตรฐานเพิ่ม 9 ผลิตภัณฑ์ คือ 1.เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน

2.เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน

3.เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีทางไฟฟ้า

4. ลวดชุบแข็งและอบคืนตัวสำหรับคอนกรีตอัดแรง

5.เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับการดูแลผม ขน หรือผิว

6.เครื่องปรับอากาศสำหรับห้อง ด้านประสิทธิภาพพลังงาน

7.เครื่องทอดน้ำมันท่วม ปริมาณน้ำมันสูงสุดไม่เกิน 5L และกระทะทอด

8.เตาอบไมโครเวฟและเตาอบไมโครเวฟร่วม

9.รถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ