“ชินวัตร”รีเทิร์น รีแบรนด์ “30บาท”#2 ต้องครอบคลุม “ทุกคนบนแผ่นดินไทย”

“ชินวัตร”รีเทิร์น รีแบรนด์ “30บาท”#2 ต้องครอบคลุม “ทุกคนบนแผ่นดินไทย”

ทเมื่อ“ชินวัตร”รีเทิร์น รีแบรนด์ “30บาท” สิ่งสำคัญต้อง “แก้กฎหมายให้ครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย” ให้สปสช.ขายประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ และเกลี่ยจัดสรรงบประมาณแต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐให้ใกล้เคียงกันอย่างเป็นธรรม หวังที่สุด “ประกันสุขภาพระบบเดียว”

KEY

POINTS

  • 30บาท รักษาทุกโรค” รอบกว่า 20 ปี ภาคประชาสังคมมองว่า “สิทธิประโยชน์พัฒนาไกลมาก” เมื่อ“ชินวัตร”รีเทิร์น” สิ่งสำคัญต้อง “แก้กฎหมายให้ครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย”
  • ระบบ“30บาท” ควรปรับปรุงในส่วนที่ให้อำนาจสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สามารถขาย “ประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ”ได้
  • 30บาท” รัฐต้องเกลี่ย จัดสรรงบประมาณให้แต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐใกล้เคียงกัน อย่างเป็นธรรม หวังถึง “ประเทศไทยมีประกันสุขภาพระบบเดียว”

 “30บาทรักษาทุกโรค”เป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้เป็นนายกรัฐมนตรีและครองใจคนไทยจำนวนไม่น้อยมายาวนาน เมื่อ “แพทองธาร ชินวัตร”ผู้เป็นลูก มานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนย่อมคาดหวังในการ “ยกระดับ 30 บาท”  
 สำหรับ“ชินวัตรรีเทิร์น รีแบรนด์30บาท ตอนที่ 2” เป็นการสัมภาษณ์พิเศษ “นิมิตร์ เทียนอุดม ที่ปรึกษามูลนิธิเข้าถึงเอดส์” ถึงข้อเสนอแนวทางการปรับปรุง 30บาทหลังผ่านมา22 ปี 

 “สิทธิประโยชน์ต่างๆของผู้มีสิทธิ 30บาทเริ่มดีขึ้น  ถึงแม้ชินวัตรจะไม่อยู่ ไม่ได้เข้ามาบริหารประเทศ แต่บัตรทอง 30บาทก็พัฒนาเดินหน้าไปเรื่อยๆ”นิมิตร์กล่าว

30บาท ครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย

ข้อเสนอแนวทางปรับปรุงที่อาจจะจำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนและสนับสนุนจากภาคการเมือง นิมิตร์ มองว่า 1.แก้โจทย์ให้ครอบคลุมคนทุกคนตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่เริ่มต้น “ครอบคลุมคนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย” 

“ชินวัตร”รีเทิร์น รีแบรนด์ “30บาท”#2 ต้องครอบคลุม “ทุกคนบนแผ่นดินไทย”

ทั้งนี้ แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยจำนวนมากมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงควรมีการขายประกันสุขภาพให้กับคนกลุ่มนี้  โดยการแก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 5 วรรคท้ายให้อำนาจสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สามารถจัดบริการสุขภาพให้คนที่ไม่ใช่คนไทย  สปสช.จะเป็นเหมือนคนขายประกันให้แรงงานข้ามชาติเป็นรายปี ตามเวลาที่อยู่ในประเทศไทย

และให้บอร์ดสปสช.กำหนดสิทธิประโยชน์เบื้องต้นที่ควรเท่ากันกับคนไทย แต่บริหารการเงินกำหนดให้มีการสมทบร่วมจ่ายค่าประกันสุขภาพของเขาเอง ส่วนราคาเท่าไหร่ขึ้นกับบอร์ดสปสช.พิจารณา เบื้องต้นฝ่ายการเมืองต้องเข้ามาช่วยแก้กฎหมายก่อน

30บาท ให้สปสช.ขายประกันฯแรงงานข้ามชาติ

“ที่เสนอเรื่องนี้เนื่องจากปัจจุบันการจะขายประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ที่ไหนอยากขายก็ขาย ที่ไหนไม่อยากขายก็ไม่ขาย เป็นความเสี่ยงเฉพาะแห่ง  รพ.ที่ขายก็ต้องรับความเสี่ยงว่าจะมีคนงานป่วยขนาดไหน ความเสี่ยงจึงกระจุกอยู่ในแต่ละรพ. แต่ถ้าระบบใหญ่ขาย จะนำความเสี่ยงมาเฉลี่ยทั้งประเทศ โอกาสที่รพ.จะประสบปัญหาค่าใช้จ่ายสูงสำหรับแรงงานข้ามชาติก็จะน้อยลง”นิมิตร์กล่าว 

ระบบปัจจุบันที่ให้รพ.แต่ละแห่งขายประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติยังไม่ใช่ระบบที่ดี เพราะแรงงานมีลักษณะของการย้ายที่ทำงาน ย้ายถิ่นอาศัยเมื่อข้ามจังหวัดก็จะไม่กลับมารักษาที่รพ.แห่งนั้น เป็นภาวะยากลำบาก จึงควรที่จะให้ซื้อแล้วไปรักษาที่ไหนก็ได้ ภายในระบบหลักประกันฯ นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องเม็ดเงินที่จะกระจายจ่ายให้รพ.ในภาวะโรคที่มาค่าใช้จ่ายสูง

จัดสรรงบฯอย่างเท่าเทียม

และ2.ต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอและลดความเหลื่อมล้ำของงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ โดยปัจจุบันสวัสดิการข้าราชการเทียบเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวยังแพงที่สุดน่าจะอยู่ที่ราว 20,000 บาท ขณะที่บัตรทอง 30บาท อยู่ที่ราว 4,000 บาท ต่างกัน 3-5 เท่า
 รัฐต้องพิจารณาว่าจะเกลี่ยงบประมาณ ลดความเหลื่อมล้ำโดยการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละกองทุนได้อย่างเท่าเทียมและเพียงพอได้อย่างไร  โจทย์ตอนนี้รพ.ก็จะบ่นว่าการดูแลรักษาผู้ป่วยบัตรทองได้ค่าตอบแทนน้อย ถ้าเทียบกับการเรียกเก็บจากสิทธิสวัสดิการข้าราชการ

เพราะฉะนั้น รัฐต้องคิดเรื่องนี้ว่าจะปล่อยให้เหลื่อมล้ำต่อไปเช่นนี้หรือจะสร้างความเป็นธรรมอย่างไร ข้อเสนอจึงต้องจัดสรรให้เท่าเทียม ค่าเหมาจ่ายรายหัวของแต่ละกองทุนควรจะใกล้เคียงกันที่สุด จะทำให้อัตราค่ารักษาพยาบาลที่แต่ละกองทุนฯจะเบิกใกล้เคียงกันด้วย

เมื่อนำงบประมาณมาเกลี่ยกันแล้ว จะทำให้งบประมาณของบัตรทอง 30บาทดูจะสมเหตุสมผลมากขึ้น จำเป็นต้องให้นักการเมืองมาเคาะ ยิ่งเรื่องรักษาทุกที่จำเป็นที่จะต้องมีงบประมาณมากองไว้ตรงกลางเพื่อทำให้ขายให้หน่วยบริการได้ หรืองบผู้ป่วยในที่มีปัญหาว่าน้อยก็ควรจะเพิ่ม

หลักประกันสุขภาพระบบเดียว

“ใจจริงอยากให้ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพระบบเดียว แต่ถ้ายังไม่ซื้อเรื่องนี้ ก็ควรจะทำเรื่องการเงินก่อน จัดการเรื่องงบประมาณแต่ละกองทุนให้ใกล้เคียงกันที่สุด เป็นธรรม สิทธิประโยชน์ก็ต้องเสมอหน้ากัน เมื่อถึงตรงนั้นการที่จะบอกว่าระบบประกันสุขภาพหนึ่งเดียวก็เป็นไปได้ ”นิมิตร์กล่าว 

นิมิตร์ ยืนยันว่า หลักการเรื่องนี้ คือ ไม่ได้ไปลดสิทธิใคร สิทธิประโยชน์ต้องเท่ากัน แล้วใช้มาตรการทางการเงินมาจัดการ เช่น ตอนนี้ข้าราชการเจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่สามารถไปใช้บริการร้านขายยาได้ ขณะที่บัตรทองใช้ได้ หรือการตรวจวินิจฉัยที่แล็ปอื่นๆแล้วค่อยเอาผลไปใช้ในการรักษา ข้าราชการทำไม่ได้ แต่บัตรทองทำได้

ณ ภาพการณ์ตอนนี้สิทธิประโยชน์เหลื่อมกันอยู่ บางกองทุนมาก บางกองทุนน้อย โดยบัตรทองสิทธิประโยชนืเพิ่มขึ้นเรื่อย ขณะที่กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐอื่นๆไม่ขยับ อย่างการรักษาได้ทุกที่บัตรทองก็ขยับไปใกล้เคียงข้าราชการ ที่ไปได้ทุกที่มานานแล้ว ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณให้ใกล้กันจึงไม่ใช่การไปลดสิทธิของใคร

“นักการเมืองที่บริหารงบประมาณควรต้องตั้งคำถามว่า สิทธิประโยชน์แต่ละกองทุนก็ใกล้กัน เกือบจะเท่าๆกัน แล้วถ้าเป็นโรคเดียวกันทำไมจะต้องจ่ายต่างกัน ฉะนั้น ถ้าจะบริหารประเทศบนความมีประสิทธิภาพของการจัดสรรงบประมาณต้องคิดเรื่องนี้”นิมิตร์กล่าว 

หากสามารถดำเนินการได้ตามข้อเสนอ นิมิตร์ บอกว่า 1.เม็ดเงินงบประมาณที่มีอยู่จำกัดจะได้กระจายอย่างเป็นธรรม ใช้ให้เต็มที่

2.เมื่อนำงบประมาณมาเกลี่ยเท่ากัน รักษาผู้ป่วยบัตรทองได้ 10,000 บาท รักษาข้าราชการได้ 20,000 บาท แต่ถ้าทำให้รักษาทุกคนได้ 15,000 บาท ก็รักษาได้มากขึ้น

3.ลดเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมให้ทุกคน ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น

และ4.มีผลต่อการพัฒนาระบบบริการด้วย จากที่ได้เงินมามากขึ้น 

“ชินวัตร”รีเทิร์น รีแบรนด์ “30บาท”#2 ต้องครอบคลุม “ทุกคนบนแผ่นดินไทย” 30บาท สิทธิประโยชน์ครอบคลุมมากขึ้น

ช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา นิมิตร์ มองว่า 30บาทรักษาทุกโรคมาไกลมากพอสมควร  โดยสิทธิประโยชน์ครอบคลุมโรคที่เคยยกเว้นในระยะแรก ยกตัวอย่าง การฟอกไตในผู้ป่วยไตวายระยะท้าย ผู้ป่วยไม่ต้องร่วมจ่าย 500 บาทแรก

  • ยาต้านไวรัสเอชไอวีมีการปรับปรุงสูตรตัวยาให้อยู่ในเกณฑ์การรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดเรื่อยมาก
  • โรคมะเร็ง สามารถรักษาที่ไหนก็ได้ อาจจะต้องปรับเพิ่มเติมในเรื่องการวินิจฉัยให้เร็ว รู้เร็ว การตรวจแล็ปต่างๆยังเป็นปัญหาเรื่องคิวที่ต้องรอนาน แต่โดยรวมถือว่าดีขึ้นมาก และการให้ยารักษามะเร็งใหม่ๆที่เรียกว่ายามุ่งเป้า (target therapy)
  • ความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเคยมีการตีความว่า “การแปลงเพศ”เป็นเรื่องของความสวยงาม ถูกนิยามใหม่ว่า “เป็นการรักษาภาวะความเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง” เป็นการเริ่มต้นอาจจะต้องมีการพัฒนาาปรับอีกพอสมควร ตั้งแต่การให้ฮอร์โมนคนที่แปลงเพศแล้วที่จะต้องใช้ไปตลอดชีวิต รวมถึง คนที่มีปัญหาเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีไม่ตรงกัน การผ่าตัดเปลี่ยนเพศที่เดิมห้าม แต่ปัจจุบันขึ้นกับแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นความเจ็บป่วยแบบใด
  • และการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก เริ่มต้นเมื่อปี 2566 แต่ชะลอไว้ก่อนด้วยปัญหาเรื่องงบประมาณ  แต่เป็นปัญหาหนึ่งของสังคม เพราะจำนวนประชากรที่มีการคลอดน้อยลง  ซึ่งการเพิ่มสิทธิประโยชน์เรื่องนึ้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)เริ่มให้ทำได้แต่มีเงื่อนไขข้อจำกัด จึงต้องรอการตัดสินใจสุดท้ายในการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล

รพ.50 เขต โจทย์ใหญ่คนกรุงเทพ

นอกจากนี้  นิมิตร์ กล่าวว่า ในตอนที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา สมัยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรมว.สาธารณสุข มีเรื่องของการสร้างรพ.ในทุกเขตของกรุงเทพฯ จึงฝากถึง “แพทองธาร ชินวัตร”นายกรัฐมนตรี ให้เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ เพราะคนกรุงเทพมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการ จากการที่ไม่มีหน่วยบริการทุติยภูมิ ระดับรพ.อำเภอ  อยากให้พิจารณาขับเคลื่อนตามนโยบายพรรคที่แถลงไว้ก่อนหน้า
 ไม่ควรแก้โจทย์ด้วยการสร้างที่ใดที่หนึ่ง หรือ 4 มุมเมือง ลองนึกภาพเป็นคนกรุงเทพแล้วต้องขับรถหรือนั่งแท็กซี่ไปรพ.ต่างเขตออกไป จะไปอย่างไร เฉพาะแค่ภายในเขตก็กว้างใหญ่ลำบากอยู่แล้ว จึงควรทำให้ทุกเขตกทม.มีรพ. ถ้าทำได้ถือว่าช่วยให้คนกรุงเทพเข้าถึงการดูแลรักษาที่ดี

"นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของคนกรุงเทพ และเป็นรากเหง้าที่มาของปัญหางบประมาณบัตรทอง 30บาทในกทม. จึงต้องการนักการเมืองที่มีอำนาจมากพอที่จะตัดสินใจ ลำพังผู้ว่าราชการกทม.แก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้”นิมิตร์กล่าว

อ่านเพิ่มเติม : "ชินวัตร" รีเทิร์น รีแบรนด์“30บาท”#1 ถึงเวลาควรให้ผู้ป่วยมีสิทธิร่วมจ่าย