"ชินวัตร" รีเทิร์น รีแบรนด์“30บาท”#1 ถึงเวลาควรให้ผู้ป่วยมีสิทธิร่วมจ่าย

"ชินวัตร" รีเทิร์น รีแบรนด์“30บาท”#1 ถึงเวลาควรให้ผู้ป่วยมีสิทธิร่วมจ่าย

30บาท รักษาทุกโรค เมื่อ “ชินวัตร”หวนกลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลอีกครั้ง จึงควร “ยกระดับครั้งใหญ่” กล้าตัดสินใจให้ผู้ป่วยได้มีสิทธิเลือกรับการรักษาที่จำเป็นเหมาะสม ในส่วนที่อยู่นอกกรอบสิทธิประโยชน์ของสปสช. และสร้างสมดุลของระบบด้วยการ “ให้ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะร่วมจ่าย”

KEY

POINTS

  •  “30บาท ร่วมจ่าย” ยังไม่เกิดขึ้น ผู้มีสิทธิบัตรทอง 30บาท จึงเป็นกลุ่มเดียวที่ยัง “ไม่มีสิทธิเลือก” ที่จะ“ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตัวเอง” ขณะที่ข้าราชการมีสิทธิเลือกจะจ่ายส่วนต่างที่”เบิกไม่ได้” หากประสงค์จะรับบริการรักษาขั้นสูงกว่าส่วนที่รัฐกำหนดให้ตามสิทธิ และประกันสังคมต้องจ่ายสมทบทุกเดือน 
  • “30บาท ร่วมจ่าย” ถึงวันนี้ “แพทองธาร”คนตระกูลชินวัตร ย้อนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นโอกาสดีที่จะต้อง “กล้าตัดสินใจ” นโยบายยกระดับ “ให้ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะร่วมจ่ายค่ารักษาส่วนที่รัฐยังไม่ได้จัดให้ตามสิทธิ” เพื่อรับการรักษาเหมาะสมและให้ผลดีกับตัวเองมากขึ้น
  • 30บาท” กรุงเทพธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ “ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” มีข้อเสนอสำคัญในการ “ยกระดับ” เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อผู้ป่วย รพ.มีเงินเพียงพอพัฒนาบริการ และระบบเดินต่อได้อย่างยั่งยืน 

“30 บาท รักษาทุกโรค”แคมเปญหาเสียงที่ทำให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นนโยบายที่ครองใจคนไทยจำนวนไม่น้อยมาอย่างยาวนับตั้งแต่ปี 2545 ที่มีพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนถึงปัจจุบัน

ตลอด 22 ปีที่ผ่านมา นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แทบจะไม่มีใคร “กล้าแตะ” เพื่อแก้ไขปรับปรุงเชิงระบบ แม้จะได้รับเสียงสะท้อนถึงปัญหาที่มีอยู่ในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยน “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)” อาจจะหวั่นเกรงเรื่อง “คะแนนนิยม” นโยบายส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นไปในทิศทาง“กระหน่ำเพิ่มสิทธิ”
ถึงวันนี้ “แพทองธาร”คนตระกูลชินวัตร ย้อนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นโอกาสดีที่จะประกาศ “นโยบายยกระดับ 30 บาท” เพื่อให้ระบบสุขภาพเกิดดสมดุลและยั่งยืน แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมากว่า 20 ปี 

30 บาทยกระดับระบบสุขภาพไทย

แน่นอนว่าเป้าหมายของฝ่ายการเมือง ผู้ให้และผู้รับบริการ ล้วนตรงกัน คือ “ต้องรักษาผู้ป่วยอย่างดีที่สุด ให้หายจากโรค มีคุณภาพชีวิตที่ดี” ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ”มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น”ถึงข้อเสนอที่รัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร”นายกรัฐมนตรี  ควรจะต้องดำเนินการ “ยกระดับ 30บาท

“20 ปีที่ผ่านมาหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคช่วยทำให้ระบบสุขภาพของประเทศไทยยกระดับขึ้นมาอย่างมาก ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ โดยไม่ต้องกังวลใจเรื่องค่ารักษาพยาบาล  เป็นส่วนสำคัญช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจของครอบครัว ไม่เห็นภาพคนไข้ขายวัวควาย ขายที่นาเพื่อมารักษาพยาบาล ”ศ.นพ.สมศักดิ์ฉายภาพ

30บาท จ่ายค่ารักษาคืนรพ.ให้เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม มีส่วนที่เห็นว่าควรจะต้องปรับปรุง 1.ในเรื่อง “การจ่ายค่ารักษาพยาบาลคืนรพ.” เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จ่ายเงินทั้งในส่วนของผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเป็นอัตราส่วนที่ไม่เป็นธรรม โดยรพ.ได้รับเงินจ่ายคืนมาเป็นมูลค่าในสัดส่วนที่รพ.จ่ายไปไม่คุ้มกัน  ทำให้แต่ละรพ.มีงบประมาณขาดทุนเป็นจำนวนมาก

หากไม่มีการแก้ไข จะส่งผลให้เงินสำรองของรพ.ลดน้อยลง จนขาดเงินที่จะมาพัฒนารพ.ทั้งการรักษาพยาบาล การเพิ่มอัตรากำลังของบุคลากรก็ทำไม่ได้ ท้ายที่สุดจะกระทบถึงคนไข้ การรักษามีความแออัด ระยะเวลารอคอยนานมากขึ้น และการรักษาใหม่ๆที่ควรได้รับก็ไม่ได้รับ 

 “แม้รัฐจะมีการจัดสรรงบประมาณบัตรทอง 30บาทเพิ่มขึ้นทุกปี  แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีต่างๆเข้าถึงประเทศได้อย่างรวดเร็ว วิธีการรักษาของไทยทัดเทียมกับต่างประเทศ ฉะนั้น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วเป็นอัตราส่วนของงบฯไม่มาก แต่เมื่อวิธีรักษาเดียวกันมาใช้ที่ประเทศไทย ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นเป็นอัตราส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้รับเพิ่มขึ้น จึงเทียบกันไม่ได้” ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว 

ปรับสิทธิประโยชน์ 30บาทให้ทันวิธีการรักษา

2. ต้องมีหน่วยงานทางการแพทย์ที่ช่วยวิเคราะห์วิธีการรักษาที่ดีในต่างประเทศ มีความคุ้มค่าสำหรับประเทศไทยหรือไม่โดยทำอย่างรวดเร็ว  หากคุ้มค่าก็ควรปรับชุดสิทธิประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ ภายใต้การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐฐานะ และกำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ทันกับวิวัฒนาการของการรักษา

3. ต้องมีหน่วยงานส่วนกลางในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาหรือเวชภัณฑ์ต่างๆให้ทั้งประเทศ เพื่อจะได้ต่อรองให้ได้ราคาที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ช่วยต้นทุนให้ต่ำลง  เมื่อให้แต่ละรพ.จัดซื้อเองอย่างปัจจุบันจะมีปริมาณการสั่งซื้อที่น้อย การต่อรองราคาก็ทำได้ยาก
4.ควรมีการปรับปรุงพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในส่วนที่เกี่ยวข้องคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) โดยเพิ่มสัดส่วนของผู้แทนจากบุคลการทางการแพทย์มากขึ้นกว่าปัจจุบัน ก็จะช่วยให้การพิจารณาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ต่างๆทำได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีหรือแนวทางการรักษามากขึ้น

\"ชินวัตร\" รีเทิร์น รีแบรนด์“30บาท”#1 ถึงเวลาควรให้ผู้ป่วยมีสิทธิร่วมจ่าย

เปิดโอกาสให้สิทธิคนไข้ 30บาทร่วมจ่าย

5.ควรให้สิทธิคนไข้ 30บาทร่วมจ่าย โดยผู้ป่วยอาจต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล เนื่องมาจากสิทธิการรักษา หรือชุดสิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุม หรือเป็นกรณีการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ หรืออยู่นอกจากรายการ fee schedule ของ สปสช.

ทั้งนี้ ปัจจุบันสิทธิประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการข้าราชการ อนุญาตให้ร่วมจ่ายได้ในแต่ละรูปแบบ แต่บัตรทองกลับมีแนวทางว่า “ห้ามร่วมจ่าย”หรือ “ร่วมจ่ายค่าคงที่ เช่น 30บาท” ทำให้รพ.แต่ละแห่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่แตกต่างกัน บางแห่งไม่ให้การรักษาใดๆนอกสิทธิกับคนไข้ ไม่นำเข้ายา ไม่ใช้วิธีการรักษานั้นๆ คนไข้ก็ได้รับการรักษาในระดับหนึ่งแต่ไม่ได้ในสิ่งที่ควรจะได้ดีขึ้น บางแห่งก็นำยา เครื่องมือ วิธีการรักษาใหม่ๆมาใช้  แต่ก็ไม่สามารถเรียกเก็บจากคนไข้ได้ จึงเกิดความไม่สมดุล

 “ถ้ามองว่าให้ประชาชนมีสิทธิเลือก เมื่อแพทย์มีการแนะนำคนไข้แล้วว่าแนวทางการรักษาในสูตรที่ 1 ตามมาตรฐานของบัตรทองจะได้ประโยชน์อย่างไร และถ้าปรับเป็นสูตรที่ 2 ซึ่งต้องจ่ายร่วมเพิ่มจำนวนเท่าไหร่ จะมีผลดีเพิ่มขึ้นแบบไหน โดยให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจเอง ถ้าเปิดโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือก จะเป็นประโยชน์กับประชาชนที่จะได้รับส่วนที่เหมาะสมกับฐานะของเขาได้”ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว 

ทว่า เมื่อกล่าวถึงการ “ร่วมจ่าย” ก็จะเกิดความขัดแย้งว่า “ไม่เท่าเทียม” ทำให้คนมีและไม่มีเงินเข้าถึงการรักษาที่แตกต่างกัน ศ.นพ.สมศักดิ์ บอกว่า ต้องเข้าใจในสิ่งที่รัฐให้มีความเหมาะสมเป็นพื้นฐานที่สูงอยู่แล้ว แต่คนที่พอจะร่วมจ่ายได้แล้วได้สิ่งที่ดีสูงกว่าในปัจจุบัน เพราะเทคโนโลยีการรักษาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาโดยการจ่ายสนับสนุนของรัฐในการจัดชุดสิทธิประโยชน์ต่างๆปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการรักษา ฉะนั้น ก็ควรให้คนไข้มีโอกาสได้เลือกเองที่จะจ่ายร่วม

 3 รูปแบบ 30บาทร่วมจ่าย

สำหรับรูปแบบ 30บาทร่วมจ่าย ศ.นพ.สมศักดิ์ แนะนำว่า  สามารถดำเนินการได้หลายวิธี ได้แก่ 1.การจ่ายก่อนเกิดการเจ็บป่วยซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเจ็บป่วยอะไร ถือเป็นการจ่ายที่เท่าเทียม เช่น การจ่ายตามฐานภาษี ใครรายได้น้อยก็ไม่จำเป็นต้องจ่าย ใครรายได้มากก็จ่ายเหมือน “ภาษีสุขภาพ”ร่วมกันไว้ก่อน เมื่อเจ็บป่วยก็ได้สิทธิตรงนี้  จะทำให้ประชาชนมาแบ่งเบาปัญหางบประมาณประเทศไปได้ส่วนหนึ่ง 

2.สปสช.จ่ายเพิ่มส่วนที่อยู่นอกสิทธิประโยชน์ ในกรณีที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาด้วยสูตรบี ซึ่งจะดีกับคนไข้ แต่ตามสิทธิประโยชน์สปสช.จ่ายให้เฉพาะสูตรเอ ก็ให้แพทย์ทำเรื่องเสนอไปว่าหากใช้สูตรบีแล้วจะมีค่าใช้จ่ายเดือนละเท่าไหร่

\"ชินวัตร\" รีเทิร์น รีแบรนด์“30บาท”#1 ถึงเวลาควรให้ผู้ป่วยมีสิทธิร่วมจ่าย

หากสปสช.พิจารณาอนุมัติให้ใช้ได้และจ่ายส่วนเกินแทนประชาชน  ช่วยให้ทุกคนเท่าเทียมและได้รับการรักษาที่ดีเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็จะต้องจัดสรรงบประมาณมารองรับเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันสปสช.ได้รับการจัดสรรงบประมาณแบบปลายปิด สิทธิประโยชน์ต่างๆที่เพิ่มขึ้นก็ไม่สามารถทำได้ระหว่างปี  ทำให้คนไข้เสียโอกาส 

3.การร่วมจ่ายในขณะที่เข้าสู่ระบบการรักษา เช่น นอนรักษาในโรงพยาบาล จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่อยู่นอกเหนือชุดสิทธิประโยชน์ ก็ต้องร่วมจ่ายในส่วนที่อยู่นอกเหนือสิทธิประโยชน์ แต่ถ้าการรักษานั้นอันตรายถึงชีวิต เป็นการรักษาเร่งด่วน หรือผู้ป่วยและญาติไม่สามารถร่วมจ่ายได้ แพทย์ต้องให้การรักษาแบบที่ดีต่อผู้ป่วยอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลว่าไม่มีเงินร่วมจ่าย จะไม่ได้รับการรักษา

“อย่างน้อยเงิน 30 บาทที่ให้ประชาชนร่วมจ่ายไม่ควรจะยกเลิก ควรกลับมารณรงค์ว่าผู้ป่วยทุกคนที่มารพ.ควรจะร่วมจ่าย 30 บาทหรือจะปรับเพิ่มเป็น 50 บาทก็เหมาะสม ยกเว้นคนที่ไม่มีจริงๆก็ไม่ต้องจ่าย จะช่วยได้มาก ยกตัวอย่างรพ.ศรีนครินทร์มีคนไข้มาใช้บริการ 1 ล้านครั้ง ก็จะได้เงินเพิ่มมา 30 ล้านบาท มาเป็นส่วนช่วยดูแลคนไข้ที่ไม่มีเงินได้”ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว  

“นายกฯแพทองธาร”ต้องกล้าตัดสินใจ 30บาทร่วมจ่าย

ศ.นพ.สมศักดิ์ ฝากถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่า รมว.สธ.ควรจะต้องเป็นแพทย์ จะได้รู้เรื่องทะลุปรุโปร่งวงการแพทย์และสาธารณสุข แต่แพทย์มีข้อด้อยในการบริหารคน รมช.สธ.จึงควรจะต้องเป็นคนที่เก่งในการบริหารงานบุคคล จะทำให้การแก้ไขปัญหาสาธารณสุขขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว 

และนายกรัฐมนตรีต้องกล้าตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะช่วงที่กล้าเปลี่ยนแปลงนำนโยบาย 30บาทรักษาทุกโรค เข้ามาดำเนินการ คนแทบจะทั้งประเทศ รวมถึงแพทย์ก็ต่อต้าน ว่าจะทำได้จริงหรือ จะทำให้ระบบเสีย

แต่ก็พิสูจน์มาแล้ว 20 ปีว่ามีประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้น ครั้งนี้เมื่อ “คนตระกูลชินวัตร”ได้กลับมาอีกครั้งจึงเป็นโอกาสที่จะตัดสินใจให้มีการร่วมจ่าย ซึ่งในส่วนของกฎหมายต่างๆก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

“ผู้ป่วยสิทธิ 30บาทร่วมจ่าย นอกจากมีประโยชน์เรื่องงบประมาณให้รพ.แล้ว ยังมีประโยชน์ในแง่ที่ทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าเงินของตัวเองด้วย เพราะปัจจุบันที่ทุกอย่างฟรี ยาทุกเม็ดฟรี การรักษาต่างๆฟรี ทำให้การดูแลสุขภาพของตนเองไม่ดี  อย่างคนที่จ่ายเงินค่ารักษาเอง เวลามาหาหมอจะนำเม็ดยาที่เหลือแล้วมาขอเพิ่มกี่เม็ด แต่คนที่ใช้สิทธิฟรี ก็จะเอาเต็มที่เลย 3 เดือนก็ 30 เม็ด เป็นต้น”ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว


อ่านเพิ่มเติม : “ชินวัตร”รีเทิร์น รีแบรนด์ “30บาท”#2 ต้องครอบคลุม “ทุกคนบนแผ่นดินไทย”