ไทยตอนนี้ "โรคไข้หวัดใหญ่-โรคติดเชื้อไวรัสRSV" น่ากังวลกว่าโควิด-19
อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยยังไม่พบสัญญาณโควิด-19 ก่อโรคทำให้อาการรุนแรงขึ้น สำหรับไทย โรคติดเชื้อที่น่ากังวลมากกว่าโควิด-19 คือโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อไวรัส RSV
จากกรณีศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เตือนให้เตรียมพร้อมรับมือโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XEC ที่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าการระบาด
เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2567 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุม(คร.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในปัจจุบันไม่ได้มีความน่ากังวลมากนัก เนื่องจากเชื้อไวรัสมีความรุนแรงลดลง แต่ด้วยธรรมชาติของไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงยีนอยู่ตลอดเวลา ถ้าไปเปลี่ยนในจุดที่ภูมิคุ้มกันของคนป้องกันไม่ได้ ก็จะทำให้มีการติดเชื้อขึ้น
“สิ่งที่สนใจและห่วงใยมากกว่าคือความรุนแรงของโรค ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นเหมือนสมัยการระบาดสายพันธุ์เดลต้า ที่เชื้อมีความรุนแรงสูงทำให้เกิดอาการปอดอักเสบได้”นพ.ธงชัยกล่าว
สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XEC ตอนนี้ยังไม่พบการติดเชื้อในประเทศไทย แต่ระบบการเฝ้าระวังโรคก็ยังดำเนินอยู่ มีการสุ่มตรวจหาสายพันธุ์โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อรายงานผลมายังกรมควบคุมโรค หากพบความผิดปกติก็สามารถตรวจจับได้ทันที ทั้งนี้ เรื่องนี้ยังไม่ต้องตกใจ ยืนยันได้ว่าตอนนี้ไม่มีสัญญาณของความรุนแรงของสายพันธุ์โควิด-19 แต่ในทุกประเทศก็ร่วมกันเฝ้าระวังด้วยการรายงานผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เข้าระบบจีเสส (GISAID)
"โรคติดเชื้อที่น่ากังวลมากกว่าโควิด-19 ในตอนนี้ก็คือโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อไวรัส RSV ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูงในฤดูฝน และยังเจอผู้เสียชีวิตได้มากกว่าโควิด-19 ด้วย" นพ.ธงชัย กล่าว
อนึ่ง ณ 3 ส.ค. 2567 กรมควบคุมโรค รายงาน โรคโควิด 19 ข้อมูลวันที่ 7 ม.ค. - 3 ส.ค. 2567 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 36,141 ราย ปอดอักเสบ 447 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 184 ราย และเสียชีวิต 194 ราย สายพันธุ์ที่พบระบาดมากที่สุดคือ สายพันธุ์ JN.1, KP.2 และ KP.3
ส่วนไข้หวัดใหญ่ 1 ม.ค. - 26 ก.ค. 2567 พบผู้ป่วยสะสม 316,123 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มวัยเรียน พบผู้เสียชีวิต 27 ราย สายพันธุ์ที่พบมากที่สุด เป็นสายพันธุ์ A (H1N1)
โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) พบการระบาดสูงในช่วงหน้าฝน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ข้อมูลวันที่ 1 ก.ย. 2564 - 3 ส.ค. 2567 มีผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อไวรัส RSV 1,240 ราย พบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และพบผู้เสียชีวิต 3 ราย กลุ่มเสี่ยงยังคงเป็นเด็กเล็ก และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว