น้ำท่วม ผู้ป่วย "โรคฉี่หนู-โรคไข้ดิน"พุ่ง

น้ำท่วม ผู้ป่วย "โรคฉี่หนู-โรคไข้ดิน"พุ่ง

น้ำท่วม กรมควบคุมโรคเผยโรคฉี่หนู -โรคไข้ดิน ยอดผู้ป่วยพุ่ง เสียชีวิต ขณะที่ไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์

เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่กรมควบคุมโรค (คร.) ในการแถลงข่าวรู้ทันสถานการณ์ “จับตาโรคอุบัติใหม่และภัยสุขภาพจากน้ำท่วม” นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษก คร. เปิดเผยว่า  โรคโควิด-19 ผู้ป่วยลดลงจากสัปดาห์ก่อน แนวโน้มดีขึ้นผ่านช่วงฤดูระบาดแล้ว
ขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นในเด็กเล็กมากสุด แต่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวและไม่รับวัคซีน แนะนำให้รับวัคซีนก่อนฤดูกาลระบาด โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์สามารถรับวัคซีนได้ตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตามช่วง 3 เดือนที่ผานมา ได้รณรงค์การรับวัคซีนในประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเป้าหมาย 4,170,210 คน เข้ารับแล้ว 3,802,584 คน คิดเป็น 91.18%

ส่วนโรคปอดอักเสบหรือไวรัสอาร์เอสวี (RSV) พบในสัดส่วนที่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังต้องเฝ้รระวังโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก

ทั้ง 3 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจดังกล่าว แนะนำให้หมั่นล้างมือให้สะอาด ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านและรับประทานอาหารปรุงสุกร้อนสะอาด

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออก แนวโน้มสูงขึ้นทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะเขตภาคเหนือและภาคใต้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน แต่พบผู้เสียชีวิตมากขึ้นในกลุ่มวัยทำงานเนื่องจากมีโรคประจำตัว ไปรพ.ช้า  ได้รับยากลุ่ม NSAIDs และมีภาวะอ้วน ติดสุรา ขณะที่โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะเช่นกัน พบผู้ป่วยน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ต้องย้ำเตือนในหญิงตั้งครรภ์เพราะหากติดเชื้อจะกระทบต่อทารกทำให้ศีรษะเล็ก ย้ำป้องกันไม่ให้ยุงกัด หากมีไข้และผื่นขึ้นให้รีบพบแพทย์

โรคฝีดาษวานร สถานการณ์ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2566-2567 มีผู้ป่วยสะสม 835 ราย เป็นเพศชาย 98% เสียชีวิตสะสม 13 รายทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อ HIV  โดยปี 2567 มีผู้ป่วย 144 ราย เสียชีวิต 4 ราย สายพันธุ์ที่ระบาดเป็น Clade2 รุนแรงน้อยกว่า Clade1ซึ่งพบผู้ติดเชื้อนำเข้าเพียง 1 รายเป็นชายชาวยุโรปปัจจุบันหายแล้ว ขณะที่ผู้สัมผัสไม่พบการติดเชื้อเพิ่ม อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบให้มีการนำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานรเข้ามาในประเทศไทย เพื่อควบคุมการระบาด โดยเน้นพื้นที่เสี่ยงตามข้อมูลทางระบาดวิทยา กลุ่มเป้าหมายคือบุคลากรทางกการแพทย์ที่เสี่ยงสูงต่อการติดโรค และการสัมผัสผู้ป่วย และผู้ที่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรอย่างใกล้ชิดภายใน 4 วันตามข้อมูลการสอบสวนโรค คาดจะสามารถนำเข้าวัคซีนเป็นรุ่นที่ 3 เร็วที่สุดภายใน 4 เดือน

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดี คร.กล่าวว่า สำหรับภัยน้ำท่วมดินถล่ม ระหว่างวันที่ 16ส.ค.-10ก.ย.2567 พบผู้เสียชีวิต 29 ราย เป็นการจมน้ำ ถูกน้ำพัด พลัดตกลื่น 15 ราย ดินถล่ม 13 ราย และไฟฟ้าช็อต 1 ราย ย้ำเตือนขณะน้ำท่วมอย่าลงน้ำ อพยพไปยังพื้นที่สูง ห้ามขับรถผ่านและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ช่วงสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ ทำให้มีผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรสิส หรือไข้ฉี่หนูพุ่งสูงขึ้นปีนี้พบป่วยสะสมแล้ว 2,600 ราย เสียชีวิต 28 รายโดยมีผู้เสียชีวิตทุกเดือน เป็นช่วงขาขึ้นและคาดจะถึงจุดพีคเดือนต.ค. จึงต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงสูง 17 จังหวัด ภาคเหนือ ได้แก่ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ เลย สุรินทร์ มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี ภาคใต้ได้แก่ ระนอง พังงา นครศรีธรรมราช ตรัง ยะลา พัทลุง กระบี่ สงขลา สุราษฎร์ธานี ภาคเหนือ เชียงราย รวมถึงโรคเมลิออยด์หรือไข้ดิน พบผู้ป่วยสะสม 2,399 ราย เสียชีวิต 68 ราย พื้นที่ระบาดมากอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แนะนำหลีกเลี่ยงเดินลุยน้ำย้ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง ทานอาหารปรุงสุก หากมีไข้สูงต่อเนื่อง 3 วันและมีประวัติสัมผัสดินและน้ำให้รีบพบแพทย์ โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ป่วยโรคเบาหวาน