เปิด(ร่าง)พ.ร.บ.กัญชากัญชงของ สธ. ฉบับใหม่ อนุญาตให้บริโภคแค่ 3 แบบ
เปิด(ร่าง)พ.ร.บ.กัญชากัญชงของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ฉบับใหม่ ห้ามบริโภคนอก 3 วัตถุประสงค์ที่กำหนด เพื่อการบำบัดรักษาโรค เพื่อการศึกษา - การปลูกต้องขออนุญาตตามขนาดพื้นที่ เล็กสุด 5 ไร่ มากสุด 400 ไร่ – คุมเข้มการผลิต จำหน่าย นำเข้า “ช่อดอก” เปิดรับฟังความคิดเห็นถึง 30 ก.ย.2567
KEY
POINTS
- รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร มีนโยบาย การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ และการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยให้มีกฎหมายควบคุมการใช้กัญชากัญชงอย่างเหมาะสม
- (ร่าง) พ.ร.บ.กัญชากัญชง สธ.ฉบับใหม่ กำหนดให้การบริโภคทำได้เฉพาะใน 3 วัตถุประสงค์ เพื่อการแพทย์ ภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพ, เพื่อการวิจัย และเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สมุนไพร ยา อาหาร เครื่องสำอาง
- (ร่าง)พ.ร.บ.กัญชากัญชง สธ. ฉบับใหม่ มีการควบคุมเข้มงวดในการเพาะปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก และจำหน่ายกัญชากัญชง โดยต้องขออนุญาต และกำหนดขนาดพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงห้ามจำหน่ายให้กับกลุ่มบุคคล
ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด 2 ปี หลังจากที่ปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด มีเพียงสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% ที่ยังเป็นยาเสพติด ตั้งแต่ 9 มิ.ย.2565 จนถึงขณะนี้ยังไม่มี “พ.ร.บ.กัญชากัญชง”ออกมาควบคุมกำกับดูแลการใช้ ที่ผ่านมาเจอเหตุสะดุดไป 3 สเต็ป
กัญชากัญชงสะดุด 3 สเต็ป
สเต็ปแรก ช่วงที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ปลดล็อกกัญชากัญชง และมีการเสนอร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชง โดยพรรคภูมิใจไทย(ภท.) แต่โดนสภาฯ ตีตก ด้วยเหตุผลสำคัญ “ไม่มีการควบคุมเรื่องการใช้แบบสันทนาการ”
สเต็ปต่อมา เมื่อมีการปรับปรุงร่าง และมีการเสนอเข้าไปอีกครั้ง แต่ก็มีการยุบสภาไปก่อน ทำให้ร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชงฉบับพรรค ภท.ก็ยังคงค้างเติ่ง จ่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯอีกครั้ง
สเต็ปที่ 3 รัฐบาลที่ผ่านมา สมัย“เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศชัดเจนให้ “คืนกัญชาเป็นยาเสพติด” ส่งผลให้กระบวนการต่างๆ ที่กำลังดำเนินการเรื่องการออก พ.ร.บ.กัญชากัญชง ต้องหยุดชะงัก
กลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งอีกครั้ง ทำให้สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา(อย.) ต้องยก(ร่าง)ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. ... ขึ้นมาใหม่ เพื่อนำ “กัญชากลับเป็นยาเสพติด”
กระทั่งผ่านมติเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษแล้ว เตรียมเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(บอร์ดป.ป.ส.)ให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งกลับมาให้ รมว.สาธารณสุข ลงนามในประกาศ
แต่แล้วก่อนวันที่จะมีการประชุมของบอร์ดป.ป.ส. และก่อนที่ “เศรษฐา” จะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้มีการหารือร่วมกับ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รมว.มหาดไทย และ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สาธารณสุข และมอบหมาย “ให้ใช้ พ.ร.บ.ในการควบคุมกัญชา”
แพทองธารเดินหน้าต่อกัญชาทางการแพทย์
จวบจนได้รัฐบาลใหม่ “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 มีการประกาศอย่างชัดเจนในส่วนของนโยบายระยะกลางและระยะยาว ประเด็น “การสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม” ระบุว่า “รัฐบาลจะมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ(Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์(Medical Hub)”
ซึ่ง “การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจ และควบคุมผลกระทบทางสังคม โดยการตรากฎหมาย” เป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบาย
เท่ากับเป็น “เรือธง”ที่ชัดเจนในการที่จะเดินหน้าเรื่องกัญชากัญชงนับจากนี้ โดยจะต้องมี “กฎหมายออกมาควบคุมกำกับการใช้”
ปัจจุบันมี(ร่าง)พ.ร.บ.กัญชากัญชงที่แล้วเสร็จ และมีการเสนอแล้ว 3 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับพรรคภูมิใจไทย ,ฉบับของเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ,ฉบับภาคผู้ประกอบการ
ส่วนฉบับของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)นั้น สมัย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรมว.สาธารณสุข กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ได้มีการยกร่างแล้วเสร็จ และเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วเช่นกัน แต่ยังไม่ได้ไปถึงขั้นนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก่อนเสนอต่อไปยังสภาฯ
(ร่าง)พ.ร.บ.กัญชากัญชง สธ.ฉบับใหม่
ทว่า ล่าสุด กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ได้มีการนำ(ร่าง)พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ.... เปิดรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 16-30 ก.ย.2567 ผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th
สาระสำคัญของร่างฉบับนี้ อาทิ ให้มีคณะกรรมการกัญชากัญชง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจ เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการควบคุมและส่งเสริม กัญชา กัญชง และสารสกัด และการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ต่อ ครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ,กำหนดมาตรการการส่งเสริม วิจัย พัฒนา การใช้กัญชา กัญชง และสารสกัด ทั้งในด้านการแพทย์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และประโยชน์อื่นๆ
กัญชากัญชงต้องขออนุญาต
ในการเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง หรือผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่าย กัญชา กัญชง หรือสารสกัด ต้องได้รับใบอนุญาต แต่ไม่ใช้บังคับแก่การจำหน่าย ผลิตหรือส่งออกส่วนของราก กิ่ง ก้าน ใบ ลำต้น หรือเมล็ดของกัญชา หรือกัญชง
และการสั่งจ่ายหรือแจกจ่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เพื่อการบำบัดรักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์ หรือป้องกันโรค รวมถึงการนำไปใช้เพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพหรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างโครงสร้างหรือการทำงานของร่างกายหรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคของผู้ประกอบวิชาชีพที่กำหนด
“แม้ช่อดอกกัญชากัญชงจะไม่ได้เป็นยาเสพติดประเภท 5เช่นเดียวกับราก กิ่ง ก้าน ใบ ลำต้น หรือเมล็ด แต่จะเห็นได้ว่าในพ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีการควบคุมเข้มงวดในส่วนของช่อดอกมากกว่า โดยที่จะต้องขออนุญาตจำหน่าย ผลิตหรือส่งออก ขณะที่ส่วนอื่นๆ นั้นไม่ต้องขออนุญาต”แหล่งข่าวกล่าว
และไม่เพียงต้องได้รับอนุญาตเท่านั้น ในการนำเข้าหรือส่งออกของผู้รับอนุญาตในแต่ละครั้งต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราวด้วย
กัญชากัญชง 3 ขนาดพื้นที่เพาะปลูก
สำหรับการขอรับใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง จะแบ่งตามขนาดพื้นที่เพาะปลูก 3 ขนาด คือ
1.พื้นที่ขนาดเล็ก ไม่เกิน 5 ไร่
2. พื้นที่ขนาดกลาง เกิน 5 ไร่ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 ไร่
และ 3.พื้นที่ขนาดใหญ่ เกิน 20 ไร่ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 400 ไร่
ในส่วนของผู้ขอรับใบอนุญาตทั้งเพาะปลูกกัญชาหรือกัญชง หรือผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่าย กัญชา กัญชง หรือสารสกัด ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย หรือ นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสภากาชาดไทยหรือหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานในกำกับของรัฐที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง
กัญชากัญชงห้ามโฆษณา-ข้อกำหนดห้ามขาย
ห้ามโฆษณา หรือทำการสื่อสารการตลาดเกี่ยวกับช่อดอกหรือยางของกัญชากัญชง หรือสารสกัด หรือเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบกัญชา
ห้ามจำหน่ายกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเพื่อการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ ในทางการค้าหรือให้โดยมีสิ่งตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่ก็ตาม แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี , สตรีมีครรภ์,สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศ และจะต้องแจ้ง ณ สถานที่จำหน่ายหรือผ่านช่องทางการจำหน่ายอื่น รวมทั้งคำเตือนในการบริโภค
ห้ามจำหน่ายโดยใช้เครื่องจำหน่าย หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ,วิธีการแจก แถม ให้ แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการ การชิงโชค การชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนแก่ผู้ซื้อ
ห้ามจำหน่าย ในวัดหรือสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา,สถานศึกษา ,หอพัก, สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก และสถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด อีกทั้ง
ห้ามขับขี่ยานพาหนะในขณะมึนเมากัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหาร
ห้ามบริโภคนอก 3 วัตถุประสงค์
ที่สำคัญที่สุด ห้ามบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เว้นแต่เป็นการบริโภค โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1. การบำบัด รักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์ หรือป้องกันโรค รวมถึงการนำไปใช้กับมนุษย์ เพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพหรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างโครงสร้างหรือการทำงานของร่างกายหรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์,ทันตแพทย์ ,แพทย์แผนไทย,แพทย์แผนไทยประยุกต์ ,แพทย์แผนจีนหรือหมอพื้นบ้าน
2.การศึกษาวิเคราะห์หรือวิจัยที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ ศึกษาวิจัยหรือจัดการ เรียนการสอนสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม สภากาชาดไทย หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่ศึกษาวิจัย และจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์
3.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ,ยา, อาหาร, เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติไว้
“(ร่าง)พ.ร.บ.ฉบับเดิมจะระบุไว้ว่าห้ามบริโภคเพื่อการสันทนาการ แต่ในร่างฉบับนี้ตัดส่วนนั้นออกไป แล้วกำหนดวัตถุประสงค์ในการบริโภคที่ไม่ผิดกฎหมายแทน หากบริโภคนอกเหนือจากที่กำหนดก็มีความผิด ”แหล่งข่าวกล่าว
จากนี้ต้องรอพิสูจน์ว่า “นโยบายกัญชากัญชง รัฐบาลแพทองธาร” จะขับเคลื่อนได้ตามที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาหรือไม่
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์