“กัญชากัญชง” รัฐลังเล-ธุรกิจเรรวน ปิดจบมูลค่าตลาด 4.2 หมื่นล้าน 

“กัญชากัญชง” รัฐลังเล-ธุรกิจเรรวน ปิดจบมูลค่าตลาด 4.2 หมื่นล้าน 

“ธุรกิจกัญชากัญชงเสียหายจากนโยบายรัฐที่ไม่ชัดเจน” ยากจะบรรลุเป้า “สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” และอาจปิดจบมูลค่าตลาดที่คาดการณ์ ในปี 2568 อยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท 

KEY

POINTS

  • ผ่านมา 2 ปี “นโยบายกัญชากัญชง” ไม่สามารถไปสู่วัตถุประสงค์ของการปลดล็อก “สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” ตรงกันข้ามกลับ “สร้างความเสียหายทางธุรกิจ”
  • มูลค่าตลาดที่มีการประเมินไว้จากนโยบายกัญชากัญชง แตะ 4.2 หมื่นล้านบาทในปี 2568 คงจะยาก ไม่ต้องพูดถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์CBDที่จะไปแย่งส่วนแบ่งในตลาดโลกที่มีมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท
  • การเปลี่ยนแปลงนโยบายกัญชากัญชงบ่อยครั้งและขาดความชัดเจน ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชาไม่สามารถวางแผนและดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ

2 ปีเปลี่ยนนโยบาย 1 ครั้งนับว่าเร็วแล้ว แต่ภายใน 3 เดือน เปลี่ยน 2 ครั้งยิ่งถือว่าเร็วมาก ทว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับ “นโยบายกัญชากัญชง”ในรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ในมุมธุรกิจนั้น ความไม่ชัดเจนเช่นนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง

 “ปลดล็อกกัญชากัญชงจากยาเสพติด” ด้วยเหตุผลสำคัญ “นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ“มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 9 มิ.ย.2565 ส่งผลให้ทุกส่วนของกัญชากัญชงไม่ใช่ยาเสพติดประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มีTHCเกิน0.2 %ยังคงเป็นยาเสพติด

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางส่งผลเสียต่อสุขภาพ หรือเกิดเป็น “กัญชาเสรี”จนสร้างความเสียหาย จำฟเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมกำกับในฐานะ “สารเสพติด”เช่นเดียวกับบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทว่า ช่วงปลายปี 2565 “ร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชง” ถูกสภาผู้แทนราษฎร “คว่ำร่าง” เนื่องจากเห็นว่า “ไม่สามารถควบคุมการใช้เชิงสันทนาการได้”

 เกิด “สุญญากาศ”ไร้กฎหมายควบคุมการใช้กัญชากัญชง กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จึงได้ออกประกาศให้ “ช่อดอกกัญชากัญชง” เป็นสมุนไพรควบคุม หากจะนำไปใช้ประโยชน์ต้องมีการขออนุญาตและห้ามจำหน่ายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร นิสิต นักศึกษา, ห้ามโฆษณา ,ห้ามจำหน่ายในสถานที่ที่กำหนด รวมถึง มีความพยายามจะเสนอร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชงอีกครั้ง แต่เกิดการยุบสภาก่อนที่จะพิจารณาแล้วเสร็จ

ประเมินปี 68 มูลค่าตลาด 4.2 หมื่นล้าน

ในช่วงปี 2565 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีการประเมินมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมกัญชา จากการประมาณการณ์พื้นที่เพาะปลูก ณ เดือน เม.ย. 2565 มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 7,500 ไร่ มีมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมกัญชากัญชงตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ รวมกว่า 28,055 ล้านบาท แยกเป็นต้นน้ำ มูลค่า 9,615 ล้านบาท /กลางน้ำมูลค่า 14,690 ล้านบาท/ ปลายน้ำมูลค่า 3,750 ล้านบาท

และคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดในช่วง 3 ปีตั้งแต่ 2566-2568 จะโตได้ 10-15%  โดยปี2566 มูลค่า 31,753 ล้านบาท ปี 2567 มูลค่า 36,525 ล้านบาท  และปี 2568 มูลค่า 42,851 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรสูงถึง 800,000 บาทถึง 1.2 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี หรือเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี

ผลิตภัณฑ์จากกัญชากัญชงเกือบ 3,000 รายการ 

ผ่านไป 2 ปีหลังปลดล็อก ผลการออกใบอนุญาตตามประกาศสมุนไพรควบคุม ภาพรวมประเทศ 14,518 ฉบับ ในพื้นที่กทม.2,924 ฉบับ ต่างจังหวัด 11,594 ฉบับ แยกเป็นอนุญาตจำหน่ายหรือแปรรูป 13,970 ฉบับ ส่งออก 515 ฉบับ ศึกษาวิจัย 33 ฉบับ

ขณะที่ผลิตภัณฑ์จากกัญชากัญชง ขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ทั้งหมด 2,906 รายการ แยกเป็น เครื่องสำอาง 2,121 รายการ ,อาหาร 596 รายการ และสมุนไพร 189 รายการ 

กระทั่ง เมื่อ 8 พ.ค.2567 นายกฯสั่ง “คืนกัญชาเป็นยาเสพติด” ผ่านมา 3 เดือน เตรียมจะนำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่จะคืนกัญชาเป็นยาเสพติดในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(บอร์ดป.ป.ส.)ในวันที่ 23 ก.ค.2567ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายก่อน “กัญชาจะกลับเป็นยาเสพติด”

แต่เกิดการเลื่อนประชุม พร้อมกับการเปิดเผยว่า “นายกรัฐมนตรีให้ควบคุมกัญชาโดยใช้พ.ร.บ.” ซึ่งก็ไม่ได้มีการระบุว่าการใช้พ.ร.บ.มาควบคุมนั้นภายใต้ “กัญชามีสถานะเป็นหรือไม่เป็นยาเสพติด” ยิ่งสร้างความคลุมเครือไม่ชัดเจนหนักมากขึ้น

ธุรกิจกัญชากัญชงหยุดชะงัก-ลงทุนสูญเปล่า

ความโลเลเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของ “นโยบายรัฐ”และความไม่แน่ชัดไม่แน่นอนของกฎหมายเช่นนี้ ในมุมเศรษฐกิจสร้างความเสียหายอย่างยิ่ง ทำให้ธุรกิจเกิดการหยุดชะงัก ,ผู้ประกอบการไม่สามารถวางแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ,ผู้ประกอบการหลายรายต้องเผชิญกับความสูญเสียจากการลงทุน

 ธุรกิจกัญชาหลายแห่งต้องปิดตัวลง เกิดการว่างงานและสูญเสียรายได้ของประเทศ ,การขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งชาวไทยและต่างชาติในการลงทุนในภาคธุรกิจกัญชาของไทย และการล่าช้าในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับกัญชากัญชงต้องหยุดชะงักลง

“กัญชากัญชง” รัฐลังเล-ธุรกิจเรรวน ปิดจบมูลค่าตลาด 4.2 หมื่นล้าน 

ตัวอย่างธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

สำหรับธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบ อาทิ ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจกัญชา อาจประสบปัญหาขาดทุนและต้องปิดกิจการ เนื่องจากการลงทุนที่ทำไปแล้วสูญเปล่า และไม่มีโอกาสที่จะขยายธุรกิจต่อไป , ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ลงทุนในโรงงานผลิตและแปรรูปกัญชา อาจต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินและการลดกำลังการผลิต เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับสินค้า

เกษตรกรที่หันมาปลูกกัญชาเพื่อสร้างรายได้เสริม อาจต้องกลับไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ขาดทุนจากที่ลงทุนสร้างโรงเรือนไปแล้ว และภาคเอกชนและรัฐ ที่กำลังวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชา อาจต้องหยุดชะงักโครงการวิจัย เนื่องจากขาดเงินทุนและความไม่แน่นอนทางกฎหมาย

ขอแค่นโยบายกัญชากัญชงที่ชัดเจน

การเดินหน้านโยบายกัญชากัญชงของรัฐบาล สมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชาได้เคยเสนอ 4 แนวคิดในการบริหารจัดการ ประกอบด้วบ

1.สนับสนุนให้มีการออกพ.ร.บ. หรือกฎหมายเพื่อบังคับใช้ และมีบทลงโทษที่เข้มงวดชัดเจนสำหรับผู้ที่นำพืชกัญชงและกัญชา รวมถึงสารสกัดที่มีสาร THC สูงกว่า 0.2 % ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งมีส่วนทำให้ภาพลักษณ์ของพืชกัญชงกัญชาถูกมองในเชิงลบ

2.ภาครัฐต้องให้ความรู้ที่ชัดเจนต่อประชาชนถึงความแตกต่างของพืชกัญชงและกัญชา รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับสารสกัด CBD ที่มี THC ต่ำกว่า 0.2 % ซึ่งไม่ใช่สารเสพติด และเป็นสารที่มีความปลอดภัยสูง

3.ภาครัฐควรให้การสนับสนุนต่อการนำสารสกัด CBD จากพืชกัญชงไปใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และสุขภาพ

 และ4.กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารสกัด CBD สามารถโฆษณาและจำหน่ายได้เหมือนผลิตภัณฑ์สุขภาพทั่วไป 

ผ่านมา 2 ปี “นโยบายกัญชากัญชง” ไม่สามารถไปสู่วัตถุประสงค์ของการปลดล็อก “สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” ตรงกันข้ามกลับ “สร้างความเสียหายทางธุรกิจ” มูลค่าตลาดที่มีการประเมินไว้แตะ 4.2 หมื่นล้านบาทในปี 2568 คงจะยาก ไม่ต้องพูดถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์CBDที่จะไปแย่งส่วนแบ่งในตลาดโลกที่มีมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท หากรัฐบาลยังคงไร้นโยบายที่ชัดเจน