"นโยบายสาธารณสุข"ปี68 รุกลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs สะกัดค่ารักษาพุ่ง
ปี 68 สธ.รุกนโยบายลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs สะกัดค่าดูแลพุ่งกระฉูด หลังมียอดกว่าปีละ 1.3 แสนล้านบาท กรมอนามัยจัด LONG LIFE...THAI FIT ออกกำลังกายทั่วไทย เป้าคนไทยมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ 75 % ในปี 73
เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่กรมอนามัย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมห้องออกกำลังกาย FITNESS CENTERS ว่า แต่ละปีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใช้เงินในการดูแลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรค NCDs กว่า 1.3 แสนล้านบาท หากไม่มีการป้องกันการเจ็บไข้ได้ป่วยดังกล่าว จะต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งอาจจะมีปัญหางบประมาณได้ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2568 สธ.จะเน้นการส่งเสริมสุขภาพคนไทยเพื่อป้องกันโรค NCDs ทั้งเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจหลอดเลือด สร้างสุขภาวะให้ประชาชนทั้งประเทศ จะช่วยลดการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยได้
“กิจกรรมส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะการรณรงค์การออกกำลังกาย หรือ FITNESS โดย FITNESS CENTERS ของกรมอนามัยสามรถนำไปเป็นแบบอย่างให้หน่วยงานราชการต่างๆ ได้ รวมถึง ให้บุคลากรทางการแพทย์ และ อสม.ช่วยกันสร้างสุขภาวะให้ประชาชน เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโรค NCDs”นายสมศักดิ์กล่าว
ไทยอัตราเสียชีวิตจากโรคNCDsถึง 71 %
ขณะที่พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 4 ของสาเหตุการเสียชีวิตของประชาการโลก เนื่องจากการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ นำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยพบว่า การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตทั่วโลก 3.2 ล้านคนต่อปี และคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคNCDsถึง 71 % ของการเสียชีวิตทั้งหมด
คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพียงพอลดลง
จากการสำรวจการมีกิจกรรมทางกายของคนไทย โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2565 พบว่าประชากรไทย มีแนวโน้มมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิต-19 ระหว่างปี 2563 พบว่า ข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ 63 % ซึ่งในปี 2565 ลดลงเป็น 62 %ชี้ให้เห็นได้ว่า ปัจจัยลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจและสังคม อันได้แก่ ช่วงวัย ระดับการศึกษา ความรอบรู้สุขภาพ มีอิทธิพลที่ส่งผลต่อระดับการมีกิจกรรมทางกายของประชากร
เป้ากิจกรรมทางกายเพียงพอ 75 %
กรมอนามัยมีนโยบายการขับเคลื่อนประเด็นส่งเสริมสุขภาพกาย โดยเชิญชวนประชาชนออกกำลังกายทุกวัน เพื่อให้ประชาชนทกกลุ่มวัยมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ75 % ในปี 2573 เพิ่มโอกาสให้ประชาชน มีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 - 300 นาที ต่อสัปดาห์
โดยเริ่มผลักดันและขับเคลื่อนโยบายการส่งเสริมสุขภาพกาย "ออกกำลังกายวันจันทร์มันส์เดย์"ใน 4 setting ได้แก่ สถานศึกษา องค์กรภาครัฐ สถานประกอบการ และชุมชน โดยผลิตสื่อองค์ความรู้ วิดีทัศน์ด้านการมีกิจกรรมทางกายและออกกำลังกายทุกกลุ่มวัย เพลง Long Life…Thai Fit รณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างกระแส
และสื่อสารสร้างการรับรู้ความรอบรู้สุขภาพการมีกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายทาง Social ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มก้าวท้าใจ ส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะ ด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ผ่าน E-learning ในดิจิทัลแพลตฟอร์มก้าวท้าใจ เพื่อส่งเสริมให้ประชากรไทยมีพฤติกรรมการออกกำลังกาย สิ่งที่ประชาชนจะได้รับ ดังนี้
1. มีรูปแบบการออกกำลังกายแบบใหม่เป็นทางเลือกให้ประชาชนออกกำลังกาย
2.มีเครื่องมือส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่ประชาชนสามารถทำได้ด้วยตนเอง โตยการส่งผลอออกกำลังกาย สะสมแต้มสุขภาพ แลกของรางวัล
3.ประชาชนสามารถประเมินและติดตามภาวะอ้วนได้ด้วยตนเอง
และ 4.มีสื่อความรอบรู้และองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง