'โรงงานปล่อยน้ำเสีย' ปรับ 2 แสน รมช.สธ.บอกอ่อนไป ต้องเพิ่มโทษอาญา-ปิดโรงงาน

'โรงงานปล่อยน้ำเสีย' ปรับ 2 แสน รมช.สธ.บอกอ่อนไป ต้องเพิ่มโทษอาญา-ปิดโรงงาน

“เดชอิศม์” รมช.สาธารณสุข ประกาศลั่นทวงคืนเอกราชทางสิ่งแวดล้อม เพิ่มโทษโรงงานปล่อยน้ำเสีย ให้รับโทษทางอาญา-ปิดโรงงาน มองของเดิมปรับแค่ 2 แสนบาทอ่อนไป พร้อมออกกฎระเบียบท้องถิ่นต้องตรวจ “คุณภาพประปาหมุ่บ้าน”ปีละ 2 ครั้ง

เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2567 ที่กรมอนามัย  นายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ระหว่างการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมอนามัย  กล่าวว่า  กรมอนามัยต้องดูแลสุขภาพคนไทยทุกช่วงวัยตั้งแต่ในครรภ์มารดาไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต  ตนจะเน้นเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อมเพราะฉะนั้น กรมอนามัยจะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU)กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เพื่อทวงคืนเอกราชทางสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติให้กลับมาเร็วที่สุดทั้งป่าไม้ แม่น้ำลำคลอง

2.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย(มท.) ซึ่งมีประปาหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน แต่นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)แต่ละพื้นที่จะมีแนวคิดนโยบายแตกต่างกัน จึงต้องออกกฎ ระเบียบในการวัดคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง อาจจะต้องตั้งงบประมาณ 10,000 บาทต่อแห่งให้กรมอนามัยไปตรวจวัดคุณภาพน้ำ จะได้ป้องกันตั้งแต่ต้นตทาง

\'โรงงานปล่อยน้ำเสีย\' ปรับ 2 แสน รมช.สธ.บอกอ่อนไป ต้องเพิ่มโทษอาญา-ปิดโรงงาน

3.กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมาก ขณะเดียวกันแม่น้ำลำคลองก็มีน้ำเสีย ระบบนิเวศถูกทำลาย  เมื่อน้ำมีสารพิษแล้วเข้าสู่ร่างกายของประชาชนไปเรื่อยๆยากที่กรมอนามัยจะไปดูแลสุขภาพได้ทั้งหมด จึงต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นทางในการMOU ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อช่วยกันดูแลประชาชน ถ้าไม่ป้องกันตั้งแต่วันนี้ อนาคตสุขภาพคนไทยจะแย่มาก

ได้หารือนอกรอบกับรมว.อุตสาหกรรมว่าจะต้องปรับปรุงกฎหมายใหม่ซึ่งท่านก็รับปากว่าจะทำให้เร็วที่สุด เพราะโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลงคลองความเสียหายเกิดกับชีวิตคนไทย ประเมินค่าไม่ได้  แต่กลับถูกโทษปรับเพียงแค่ 2 แสนบาท

"ทำให้บางแห่งมีการละเลยเรื่องนี้ ไม่อยากลงทุนสร้างบ่อบำบัดนำเสียเป็นการเพิ่มทุน ยอมปล่อยน้ำเสียเพราะถ้าถูกตรวจพบปรับแค่ 2 แสนบาท ส่วนตัวอยากให้มีการเพิ่มการรับโทษทางอาญา และปิดโรงงานที่ทำผิดด้วย ไม่อยากให้ชีวิตคนไทยไปเดิมพันกับผู้ประกอบการที่ไม่มีจิตสำนึก”นายเดชอิศม์กล่าว 

ในการMOUจะเริ่มจากระดับภูมิภาคก่อนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จากนั้นค่อยขยับมาเป็นระดับประเทศ จะดำเนินการที่แรกที่จ.สงขลาในปลายเดือนพ.ย.2567 ที่ดำเนินการเรื่องเหล่านี้เนื่องจาก อดีตสิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์มาก อากาศดี  น้ำไม่เสีย แต่ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปมาก ขณะเดียวกันมีอุตสาหกรรมมีดำเนินกิจการในประเทศไทยจำนวนมาก

"ต้องมีการทบทวนร่วมกันของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก มุ่งการเสริมสร้างควบคู่กับซ่อมแซม ดังนั้น สิ่งแวดล้อมที่เสียไปต้องคู้คืน เรียกว่า ทวงคืนเอกราชทางสิ่งแวดล้อม อยากให้คนไทยทุกคนเห็นความสำคัญเรื่องนี้”นายเอดชอิศม์กล่าว    

นายเดชอิศม์ กล่าวด้วยว่า กรมอนามัย จะเน้นเรื่องการให้ความรู้ เท่าที่ดูทำถูกต้องแล้ว เพียงแต่ประชาชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องสุขอนามัย ยกตัวอย่าง ความเข้าใจโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรคNCDs(เอ็นซีดี) พ่อแม่กินอย่างไร ลูกกินแบบนั้น ออกกำลังกายคิดว่าไม่สำคัญ ค่อยออกกำลังกายพรุ่งนี้ สุดท้ายป่วยเป็นโรคเอ็นซีดี ซึ่งเป็นโรคที่ทำร้ายเศรษฐกิจของประเทศด้วย ปีละประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ถ้าลดโรคนี้ลดได้ครึ่งหนึ่ง ประเทศจะไปไกลมาก สิ่งสำคัญให้ความรู้ ความเข้าใจ

สำหรับสถานการณ์ ฝุ่น PM 2.5 นายเดชอิศม์ กล่าวว่า สธ.เตรียมความพร้อมรับมืออย่างไรรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและดูแลสุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 นอกจากนี้ ในการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน ยังมีความเสี่ยงในเรื่องภัยฉุกเฉินต่าง ๆ อาทิ ในปี 2567 มีกรณีโรงงานสารเคมีรั่วไหล ระเบิด เพลิงไหม้ ฯลฯ ในประเทศไทยมากถึง 65 ครั้ง ขอความร่วมมือให้หน่วยงานทุกภาคส่วนบูรณาการทำงานร่วมกัน และสธ.ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน และรักษา โดยในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ จะมุ่งเน้นการสื่อสาร ให้คำแนะนำในการป้องกันตนเอง การจัดทำห้องปลอดฝุ่นในชุมชน และให้เจ้าหน้าหน้าที่สาธารณสุข และทีม อสม.ลงปฏิบัติการเชิงรุกให้คำแนะนำและประเมินสุขภาพประชาชนเบื้องต้นจากภัยสิ่งแวดล้อม