'31 จังหวัด'สุดท้าย เดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ บัตรประชาชนใบเดียว

'31 จังหวัด'สุดท้าย เดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ บัตรประชาชนใบเดียว

เดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ บัตรประชาชนใบเดียว ระยะ 4 อีก 31 จังหวัด ครอบคลุมครบ 77 จังหวัด พร้อมพัฒนา 4 ระบบดิจิทัลเฮลท์ ยกระดับระบบส่งต่อผู้ป่วยเป็นแบบดิจิทัล  ทำได้ข้ามเขต เชื่อมระดับประเทศ จากพื้นที่ถึงโรงเรียนแพทย์ 

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ว่า ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วย บัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 4 จะมีการเดินหน้าอย่างแน่นอนใน 31 จังหวัดที่เหลือ ซึ่ง สธ.มีความพร้อมแล้ว ส่วนวันที่จะคิกออฟอย่างเป็นทางการกำลังอยู่ระหว่างประสานความร่วมมือทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเหมาะสม

“นอกจากนี้  มีการยกระดับระบบส่งต่อผู้ป่วยให้มีความทันสมัยเป็นดิจิทัล ไม่ต้องใช้กระดาษเป็นใบส่งตัว สามารถใช้ระบบนี้ได้ตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ ตอนนี้มีการนำร่องแล้วที่เขตสุขภาพที่ 3 ประกอบด้วย จ.ชัยนาท กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี จากนั้นจะค่อยๆขยับขยายไปในเขตสุขภาพอื่นๆต่อไป”นายสมศักดิ์กล่าว

30 บาทรักษาทุกที่  4 ระบบดิจิทัลเฮลท์

รายงานข่าวระบุว่าในการประชุมผู้บริหารมีการนำเสนอการพัฒนาระบบบริการ เพื่อรองรับการยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่  ใน  4 เรื่องสำคัญด้วย ประกอบด้วย 

1.ระบบการส่งต่อผู้ป่วย (MOPH Refer)  โดยมีระบบข้อมูลการส่งต่อการรักษาตัวกลาง หรือ Refer Center ที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้าระบบสามารถดุได้ว่ามีการส่งต่ออะไร ส่งต่อไปที่ไหน รวมถึง รพ.ปลายทางสามารถตอบรับการส่งตัว ทำให้คนไข้ทราบได้ว่าว่าต้องไปพบแพทย์วันไหน แพทย์ชื่ออะไร  พร้อมทั้งแนบใบรับรองแพทย์ด้วย 

2.Imaging Hub โดยจะมีระบบให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีการแพทย์  การส่งต่อการรักษา และระบบช่วยอ่านภาพถ่ายทางรังสี ด้วยเอไอ(AI)จะเริ่มดำเนินการใน 3 เรื่องที่จะนำเอไอ(AI)มาใช้ช่วยเสริมในการวินิจฉัยในรพ.ของสธ. คือ เอ็กซเรย์  ซีที-สแกน และโรคตา

\'31 จังหวัด\'สุดท้าย เดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ บัตรประชาชนใบเดียว

3.แผนที่สุขภาพ(Thailand Health Atlas) ที่จะเป็นระบุเลข 13 หลักของประชาชน กำหนดละติจูดของเป้าหมาย 9 กลุ่มโรค คือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (NCDs) ผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติด ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลประคับประคอง ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบระยะยาว  ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบระยะกลาง   การส่งเสริมและการป้องกันโรค  ผู้พิการ การสอบสวนโรคติดต่อ และการดูแลผู้สูงอายุ
ซึ่งจะมีการเชื่อมข้อมูล big data เข้ากับข้อมูลระบาดวิทยาด้วย เช่น เกิดผู้ป่วยไข้เลือดออก  หรือวัณโรค เจ้าหน้าที่ก็จะทราบได้ว่ามีผู้ป่วยอยู่จุดไหน  มีการนำร่องแล้วใน 5 จังหวัด คือ ลำปาง เพชรบูรณ์ สุโขทัย  อุบลราชธานี  และหนองบัวลำภู 

4.บริการเจาะเลือดที่บ้าน (Lab Rider)  ขณะนี้มีการนำร่องพัฒนาระบบที่รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว จ.น่าน 

31 จ. 30บาทรักษาทุกที่ ระยะ 4

สำหรับ  31 จังหวัดที่จะดำเนินการ 30 บาทรักษาทุกที่ บัตรประชาชนใบเดียวในระยะที่ 4 ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ได้แก่

  • ภาคเหนือ 4  จังหวัด คือ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก
  • ภาคกลาง 14 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี  สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี  ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  7 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น  มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี
  • ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช