เปิดผลสอบสวน 'โรคไอกรน' เด็กสาธิตมศว ปทุมวัน ป่วยยืนยัน 20 ราย
ผลสอบสวนโรคเบื้องต้น นักเรียนร.ร.สาธิต มศว ปทุมวัน ป่วยยืนยันโรคไอกรน 20 ราย เป็นเด็กโตอาการไม่รุนแรง เร่งให้ยาป้องกันผู้สัมผัสใกล้ชิดสกัดแพร่เชื้อ ย้ำวัคซีนฉีดฟรีในเด็กเล็ก กำชับผู้ปกครองเช็กประวัติวัคซีนบุตรหลานรับครบหรือไม่
จากกรณีที่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) ปทุมวัน ออกประกาศด่วนปิดสถานศึกษาชั่วคราว ระหว่างวันที่ 13 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 หลังพบการระบาดของโรคไอกรนในพื้นที่โรงเรียน โดยมีผู้ป่วยมากกว่า 2 ราย นับตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2567 ที่กรมควบคุมโรค พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์ว่า กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้รับการแจ้งเมื่อต้นเดือนพ.ย. แต่มีผู้ป่วยตั้งแต่ปลายเดือนต.ค.2567 จึงได้ร่วมกันการสอบสวนโรค ณ ขณะนี้ผู้ป่วยเป็นนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4,5 และ 6 ที่มีผู้ป่วยยืนยันประมาณ 20 ราย ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และยังอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคว่าติดใครมา และมีผู้ป่วยเพิ่มหรือไม่ โดยเน้นไปที่กลุ่มสัมผัสใกล้ชิด คือ เด็กที่เรียนในห้องเรียนเดียวกันและที่บ้านของผู้ป่วย จากการติดตามอาจจะมีส่วนหนึ่งที่แพร่เชื้อให้คนในบ้านแต่เป็นส่วนน้อย และยังมีการติดตามต่อเนื่อง
“การระบาดที่นี้ ตรวจเจอจากที่มีเด็กในโรงเรียนป่วย แล้วไปตรวจในรพ.เอกชนโดยตรวจหาเชื้อ 20 กว่าชนิดและเจอเชื้อไอกรน และพบว่าเพื่อนในโรงเรียนเดียวกันก็ป่วย น่าจะเป็นผู้ที่มาสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กคนนี้ ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันราว 20 ราย และมีผู้เข้าข่ายสงสัยเพราะมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เช่น นั่งเรียนห้องเดียวกัน โต๊ะเรียนเดียวกัน ก็พิจารณาให้ยาป้องกันโดยกิน 5 วัน แต่ไม่ได้จำเป็นต้องให้ยาป้องกันไอนกรนทั้งโรงเรียน เพราะเชื้อไอกรนจะอยู่ในสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย ดังนั้น เด็กที่เล่นกัน ทานข้าวร่วมกัน จึงจะมีโอกาสที่จะรับเชื้อ”พญ.จุไรกล่าว
กรณีที่พบการระบาดโรคไอกรนในพื้นที่กรุงเทพฯ พญ.จุไร กล่าวว่า มี 2 ฉากทัศน์ที่แตกต่างกัน คือ
1.) ในโรงเรียนจะเป็นเด็กโต อาการจะไม่รุนแรง มีไข้ ไอ น้ำมูก ได้รับยารักษาอาการก็ดีขึ้นเนื่องจากเด็กจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนแล้วตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก โดยประเทศไทยจัดให้เป็นวัคซีนฟรีในกลุ่มเด็กเล็กที่ต้องฉีดช่วง 2 เดือน ,4 เดือน ,6 เดือน ,1ปีครึ่งและ 4 ปี เมื่อได้รับวัคซีนครบ หากติดเชื้อตามธรรมชาติ อาการจะไม่รุนแรง แม้ว่าหลังอายุ 10 ปี ภูมคุ้มกันจะเริ่มตกทำให้ติดเชื้อได้ แต่ร่างกายจะยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้เพื่อต่อต้านโรคเมื่อได้รับเชื้อตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม คำแนะนำของกรมควรมีการรับวัคซีนกระตุ้น 1 เข็มหลังอายุ 10 ปี
2.)ในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ปลายปี 2566 จะพบผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 1 ปี โดยเฉพาะต่ำกว่า 6 เดือนลงมา และเสียชีวิต จะเห็นว่ามีความรุนแรง เนื่องจากเด็กได้รับเชื้อตั้งแต่อายุน้อยกว่า 3 เดือน ติดจากคนรอบข้าง และเป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จึงพยายามให้วัคซีนป้องกันในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อที่ภูมิคุ้มกันจากแม่จะได้ส่งไปยังลูก เป็นการช่วยป้องกันเด็กในช่วงอายุก่อน 2 เดือน เพราะเด็กจะรับวัคซีนได้ช่วงอายุ 2 เดือน
“โรคไอกรนจะมีอาการรุนแรงในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว หอบหืด ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้สูงอายุ ส่วนเรื่องการแพร่สู่คนรอบข้างเพราะไอกรนเป็นโรคที่ไอนาน 1- 2สัปดาห์ มีระยะแพร่เชื้อนาน แต่เมื่อได้รับยารักษาที่ถูกต้องภายใน 7 วันไม่แพร่เชื้อ โดย 5 วันหลังทานยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องจะไม่แพร่เชื้อแล้ว ในส่วนของผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยมากๆ โดยเฉพาะคนในครอบครัวเดียวกันที่เป็น กลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ เด็กเล็กในบ้าน จะให้ยากินป้องกัน 5 วันก็จะช่วยป้องกันได้ ”พญ.จุไรกล่าว
สำหรับ การเฝ้าระวัง ระยะฟักตัวหลังสัมผัสผู้ป่วยโดยเฉลี่ย 7-10 วัน แต่นานสุดได้ 3 สัปดาห์ เมื่อเริ่มมีอาการไม่สบายไปพบแพทย์และแจ้งว่า 2 สัปดาห์ก่อนมีคนในบ้านป่วยเป็นไอกรน
พญ.จุไร แนะนำว่า ผู้ปกครองควรตรวจเช็กสมุดวัคซีนของบุตรหลานรับให้ครบตามกำหนด ซึ่งวัคซีนไอกรน จะเป็นวัคซีนรวมคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก นอกจากนี้ หากอยู่ในวัยไปเรียน หากมีอาการป่วย ไข้ มีน้ำมูกเหมือนหวัด 2-3 วันให้พักอยู่บ้าน เพื่อไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อ แล้วใช้ชุดทดสอบโรคอาร์เอสวี,โควิด และไข้หวัดใหญ่ หากผลตรวจเหล่านี้เป็นลบแล้วผ่านไป 3-4 วันเริ่มไอ และไอมากให้รับไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการป่วยที่โรงเรียนของเพื่อนๆ
ส่วนมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ หากเริ่มมีอาการไอแล้วใส่หน้ากากอนามัย สามารถช่วยลดการแพร่เชื้อได้ รวมถึง สุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดีล้างมือบ่อยๆ จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ในส่วนมาตรการโรงเรียน จะต้องมีการคัดกรองเด็กป่วย และแยกเด็กป่วย ไม่เฉพาะการนั่งเรียนในชั้นเรียนเท่านั้น รวมถึง กิจกรรมอื่นๆ เช่น เล่นกีฬาที่เด็กจะต้องทำร่วมกัน หากพบว่าเด็กมีอาการป่วยขอให้แยกเด็ก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
ถามถึงความครอบคลุมของการรับวัคซีนไอกรน พญ.จุไร กล่าวว่า ในส่วนของภาครัฐความครอบคลุมของวัคซีนรวมคอตีบ ไอกรน บาดทะยักในกลุ่มเด็กเล็ก ต้องมากกว่า 90 % ทุกพื้นที่จะสามารถป้องกันการระบาดได้ แต่พื้นที่ที่มีความครอบคลุมของวัคซีนต่ำจะเริ่มมีการระบาด ซึ่งพื้นที่ภาคใต้ความครอบคลุมของวัคซีนน้อย จึงยังมีการระบาดของไอกรน และหัดระบาดในพื้นที่เหล่านี้
ทั้งนี้ เมื่อมีโรคไอกรนระบาดในพื้นที่แล้วเด็กเล็กไม่ได้รับวัคซีน ก็จะมีไข้ ไอถี่ๆ หยุดหายใจขณะหลับและเสียชีวิต ซึ่งสถานการณ์การพบการระบาดในปี 2567 ขึ้นกับพื้นที่ โดยพื้นที่ที่มีความครอบคลุมวัคซีนต่ำก็จะมีการระบาด โดยขณะนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้