ไฟเขียว!!เพิ่มบริการตรวจคัดกรอง 'ปอด ตับ ไต และหัวใจ' นำร่อง กทม.  

ไฟเขียว!!เพิ่มบริการตรวจคัดกรอง 'ปอด ตับ ไต และหัวใจ' นำร่อง กทม.  

บอร์ด สปสช. ยกระดับ “สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค” นำร่อง กทม. เพิ่มเติม 4 รายการ “เอกซเรย์ปอด ตรวจการทำงานของตับและไต ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ” ดูแลทุกสิทธิโดยไม่มีค่าใช้จ่าย าเน้นบริการเชิงรุกที่ห้างสรรพสินค้า ตั้งเป้าดำเนินการ 3 ปี คัดกรอง 3 ล้านคน  

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ “ร่างข้อเสนอการนำร่องบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุกในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเพิ่มความครอบคลุมการเข้าถึงบริการ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“ตู้ห่วงใย” รักษา 42 กลุ่มโรค  30 บาทรักษาทุกที่ กรุงเทพฯ

แม้ศาลปกครองรับฟ้อง!  ยัน'บัตรทอง 30 บาท ป่วย 32 อาการ' ยังใช้สิทธิร้านยาได้

เพิ่มบริการตรวจคัดกรองสุขภาพ 'ปอด ตับ ไต'

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวมีรายละเอียด คือการเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองสุขภาพให้กับประชาชนทุกสิทธิการรักษาพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 4 รายการ ประกอบด้วย การตรวจการทำงานของไต การตรวจการทำงานของตับ การตรวจเอกซเรย์ปอด และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพิ่มเติมจากรายการตรวจคัดกรองสุขภาพที่แต่เดิมมี 7 รายการ เป็น 11 รายการ

กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี และตั้งเป้าตรวจคัดกรองกลุ่มเป้าหมายจำนวน 3 ล้านคน ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุน “โครงการตรวจสุขภาพล้านคนตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่ครอบคลุมตามขอบเขตบริการ สปสช. และได้เพิ่มเติม 4 รายการตรวจสุขภาพ ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตบริการชุดสิทธิประโยชน์ สปสช. โดยที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณของ กทม. นอกจากนี้จากผลงานบริการจำนวน 445,291คน พบประชาชนกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก จึงนำมาสู่ข้อเสนอนี้

นำร่อง กทม. ตั้งเป้า 3 ปี คัดกรอง 3 ล้านคน 

พญ.ลลิตยา กล่าวว่า สำหรับดำเนินการนั้นจะใช้งบประมาณบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งแต่ละปีจะจัดสรรประมาณ 1,700 ล้านบาท โดยให้จ่ายตามอัตราเหมาจ่ายชุดบริการคัดกรองสุขภาพที่ครอบคลุม 11 รายการ และให้มีการตรวจสอบการเบิกจ่ายตามเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด รวมไปถึงให้ สปสช. คืนข้อมูลการตรวจคัดกรองสุขภาพให้กับประชาชน ตามช่องทางหรือในแพลตฟอร์มที่กำหนดด้วย 

“การเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ 4 รายการนี้ จะทำให้หน่วยงานในระบบสุขภาพมีฐานข้อมูลสุขภาพของคนกรุงเทพฯ และยังทำให้ประชาชนคนกรุงเทพฯ ได้เข้าถึงบริการคัดกรองสุขภาพเชิงรุก เป็นการค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงและส่งต่อเพื่อวินิจฉัยและรักษาตามความจำเป็นตั้งแต่ระยะต้นของโรค” ร่วมกับการประเมินความคุ้มค่าในการนำ 4 บริการเข้ามาเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบสปสช. ก่อนการขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆรองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

พญ.ลลิตยา กล่าวต่อว่า การดำเนินการจะเริ่มในปีงบประมาณ 2568 หลังจากนี้สำนักงานฯ จะประสานกับกทม. เพื่อกำหนดแผนการจัดบริการและจัดหาหน่วยบริการที่มีศักยภาพทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดบริการตรวจคัดกรองสุขภาพ เน้นไปที่การออกหน่วยให้บริการเชิงรุกที่ห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก เพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตของประชาชนใน กทม. ที่นิยมไปจับจ่ายใช้สอยหรือทำธุระในห้างฯ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าใช้สิทธิบัตรทองรับบริการตรวจคัดกรองสุขภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย  

 ส่วนจังหวัดอื่นๆ นั้น รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า  สำนักงานฯ จะมีการหาแนวทางในการทำให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการเพิ่มบริการคัดกรองสุขภาพทั้ง 4 รายการ ขยายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการคัดกรองสุขภาพในรายการต่างๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติมอย่างเท่าเทียมเหมือนกับประชาชนในกรุงเทพฯ