อัปเดต '17 มอโนกราฟยาสมุนไพร' ใช้อ้างอิงขึ้นทะเบียนตำรับ หนุนส่งออก

อัปเดต '17 มอโนกราฟยาสมุนไพร' ใช้อ้างอิงขึ้นทะเบียนตำรับ หนุนส่งออก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย ปี67 อัปเดต 17 มอโนกราฟ  ควบคุมคุณภาพ เป็นข้อมูลสนับสนุนการขึ้นทะเบียนตำรับยา ส่งเสริมการส่งออกสมุนไพร

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สมุนไพรในประเทศไทยมีการใช้เป็น                   ทั้งอาหารและยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา เช่น ขมิ้นชัน ขิง และบัวบก ได้ถูกพัฒนาเป็นตำรับยาที่บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. 2566

มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรไทยในระบบบริการสุขภาพ ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองและเสริมความมั่นคงทางยาในประเทศ ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักฯ ได้รับการผลักดันให้ใช้ในระบบบริการสุขภาพสาธารณสุข โดยยาที่นำมาใช้ต้องมีคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้พัฒนา และจัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia, THP) เพื่อใช้เป็นตำรายาอ้างอิงทางกฎหมายในการควบคุมคุณภาพยาสมุนไพร ตำรานี้ประกอบด้วยข้อกำหนดมาตรฐาน ทั้งด้านเภสัชเวทและพฤกษศาสตร์

รวมถึง ข้อมูลทางเคมี-ฟิสิกส์ที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับความปลอดภัย   ขนาดการใช้ยาเบื้องต้น และวิธีการเก็บรักษายาสมุนไพร ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการขึ้นทะเบียน ตำรับยา และควบคุมคุณภาพของยาสมุนไพรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการพึ่งพาตนเองและสนับสนุนธุรกิจการส่งออกสมุนไพร
ในปี พ.ศ. 2567 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย  ฉบับเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2567 ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานยาสมุนไพรใหม่ จำนวน 17 มอโนกราฟ ได้แก่

  • ยาแคปซูลบัวบก
  • ยาชงบัวบก            
  • ช่อดอกกัญชงเพศเมีย
  • ขันทองพยาบาท
  • เปลือกต้นข่อย
  • ยาแคปซูลกระชาย
  • ยาชงกระชาย
  • กวาวเครือ
  • กวาวเครือแดง
  • มะขามแขก
  • ยาแคปซูลใบมะขามแขก
  • ยาชงใบมะขามแขก
  • ยาแคปซูลพริกไทยดำ
  • ระย่อม
  • ใบส้มป่อย
  • ผักส้มป่อย
  • ว่านร่อนทอง                        
  • และมีการปรับปรุงมอโนกราฟบัวบก
    ในส่วนของการหาปริมาณสารสำคัญและมอโนกราฟขมิ้นชัน ในส่วนของการตรวจสอบเอกลักษณ์สมุนไพรเชิงคุณภาพ ด้วยเทคนิค TLC เพิ่มเติม โดยวิธีตรวจสอบใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกพร้อมภาพถ่ายสีรวมถึงการเพิ่มเติมข้อมูลในภาคผนวก
    ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลในตำรายาดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ https://www.bdn.go.th/thp/home