ชง 'กัญชากัญชง' เป็นสมุนไพร Quick Win - ดันสู่ New S-Curve เดินหน้าอุตสาหกรรม
"อุตสาหกรรมกัญชง"เดินหน้าชัด! สธ.ชง “กัญชากัญชง”เป็นสมุนไพร Quick win พืชหลักเศรษฐกิจ ส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ด้านกระทรวงอุตฯผลักดันสู่ New S-Curve โดยเฉพาะ “ไบโอพลาสติก” ขณะที่ภาคเอกชนเชื่ออีก 5-10 ปีมูลค่าตลาดโลกขยายตัวต่อเนื่อง อัตราเติบโตเฉลี่ย 15-20 %
KEY
POINTS
- ชัดเจนขึ้นในการที่ประเทศไทยเดินหน้า “อุตสาหกรรมกัญชง” โดย ภายในงาน Asia International Hemp Expo & Forum 2024 (AIHE) 2 กระทรวงระบุรัฐพร้อมส่งเสริมสนับสนุน
- “อุตสาหกรรมกัญชง” กระทรวงสาธารณสุข ผลักดัน “กัญชากัญชง” เป็นสุมนไพร Quick win พืชเศรษฐกิจ พร้อมกับกระชายดำ ไพล ขมิ้นชันและกระท่อม ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมดันสู่ New S-Curve เน้น “ไบโอพลาสติก”
- “อุตสาหกรรมกัญชง” เชื่ออีก 5-10 ปีมูลค่าตลาดโลกขยายตัวต่อเนื่อง อัตราเติบโตเฉลี่ย 15-20 % โดยเฉพาะด้านสุขภาพ -วัสดุจากกัญชง (รวมพลาสติกชีวภาพและวัสดุก่อสร้าง)
จากที่ก่อนหน้านี้ มีความคลุมเครือในการผลักดันอุตสาหกรรมกัญชงกัญชาจากรัฐบาล ขณะที่พ.ร.บ.กัญชากัญชง ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ก็ชัดเจนขึ้นเมื่อรัฐบาล "แพทองธาร ชินวัตร" แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ที่จะขับเคลื่อน กัญชากัญชงทางการแพทย์และเศรษฐกิจ
และเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงาน Asia International Hemp Expo & Forum 2024 (AIHE) จัดโดยสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TiHTA) และบริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) มีความชัดเจนขึ้นอย่างมากที่รัฐบาลจะเดินหน้าในการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมกัญชง
กัญชากัญชง สมุนไพรQuick Win
นายโฆสิต สุวินิจจิต คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดงานว่า ตามนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข สนับสนุนกัญชงกัญชาทางการแพทย์เต็มที่ 100% เพราะสอดรับกับนโยบายรัฐบาลเรื่องเมดิคัล ฮับ และเวลเนส ฮับ และมีนโยบายให้ทำงานร่วมมือกับภาคเอกชน ทั้งด้านกฎกติกา ระเบียบที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ สธ.จะเข้าไปร่วมมือได้ ทั้งการขออนุญาตต่างๆ ที่มีการลดขั้นตอน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจสุขภาพและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยประชาชน
สธ.กำลังจะผลักดัน 5 สุมนไพร Quick Win เป็นพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ กัญชากัญชง กระชายดำ ไพล ขมิ้นชันและกระท่อม โดยจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติในวันที่ 6 ธ.ค. 2567 พร้อมด้วยสมุนไพรแชมเปียนของประเทศไทยอีก 10 กว่ารายการ เพื่อร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เนื่องจากคณะกรรมการฯจะมีทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ จะร่วมกันผลักดันเป็นเศรษฐกิจหลัก ตรงนี้เป็นความชัดเจนว่า สธ.ยุคใหม่นอกจากดูแลความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชนแล้ว มองเรื่องเศรษฐกิจสุขภาพด้วย
นายโฆษิต กล่าวอีกว่า เน้นการนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดและถูกต้องตามกฎหมาย พัฒนาศักยภาพสู่เมดิคัลแอนด์เวลเนสฮับ ทั้งเรื่องของสมุนไพร สูตรตำรับยาทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย ส่งเสริมวิจัยทางคลินิกมาใช้รักษาโรค รวมถึงการแพทย์ผสมผสาน สนับสนุนการปลูก แปรรูป จัดทำกฎหมายฉบับใหม่ครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ เน้นป้องกันผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดผ่านเทคโนโลยีและร่วมผลักดันให้ก้าวหน้าต่อไป
“ประเทศไทยเหมาะกับการทำเศรษฐกิจด้านนี้ มีการวิจัยพัฒนาในเรื่องกัญชงไปมาก รัฐบาลก็เห็นประโยชน์ด้านนี้ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุข เพราะกัญชงมีสาร CBD มาก ไทยมีศักยภาพเยอะมากที่จะเป็นศูนย์กลาง Hemp ของเอเชียหรือของโลกได้ต่อไป”นายโฆษิตกล่าว
ผลักดันให้มี New S-Curve ประเทศ
ด้านนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหรรมให้ความสำคัญกับกัญชง เพราะมีลักษณะเฉพาะตัว เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งเมล็ด ลำต้น เปลือก ใบ เอาเส้นใยไปใช้ทำงานได้ ทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอ พลาสติก หรือกระดาษ ซึ่งรัฐมนตรีพยายามผลักดันให้มี New S-Curve ประเทศ ควรจะต้องมีเกษตรแปรรูปที่แตกหน่อไปจากเดิมที่มีอยู่ ซึ่งทศวรรษควรต้องเปลี่ยน มุ่งไปที่ไบโอพลาสติก ซึ่งในทางอุตสาหกรรมมีประมาณ 6-7 สูตที่จะสามารถทำให้ Composit Plastic จะแข็งแรงขึ้น
"กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็จะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งเคยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมกัญชงไปข้างหน้า จากนี้ขอดูสเกลปริมาณการปลูกการเก็บเกี่ยว เน้นการส่งเสริมเส้นใยกัญชงเป็นของชาติ อาจจะต้องดูทีละก้าว อยากให้ไปข้างหน้าได้ โดยโอกาสมีมากเพราะกัญชงเป็นพืชที่ดูดซับคาร์บอนได้มาก การเอาวัสดุกัญชงไปเสริมในพลาสติก ในกระดาษก็ช่วยลดขยะในสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ Bio Circular Economy เชื่อว่าเป็นแต้มต่อเหนืกว่าพืชอื่นที่มีอยู่”นายพงศ์พลกล่าว
อุตสาหกรรมกัญชงโตเฉลี่ยปีละ 15-20%
ขณะที่นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพืชกัญชงได้รับการพัฒนาให้สามารถนำมาใช้ในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งบริบทสำคัญที่ถูกกล่าวถึงในวงกว้างคือการเป็นพืชลดการปล่อยคาร์บอนและเน้นดูดซับมากกว่าการปล่อย (Carbon Negative) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเส้นใยจากกัญชงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและกำลังเติบโตในเชิงเศรษฐกิจ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ พืชกัญชง ถือเป็นพืชทางเลือกที่ต้องเร่งศึกษาและวิจัยนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเส้นใยที่มีมูลค่ามหาศาล ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตอบโจทย์ความต้องการของโลกในยุคปัจจุบันและอนาคต
มูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมกัญชงทั่วโลก และนับรวมกับกัญชงเพื่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยมีมูลค่าประมาณ 20,000 – 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 หรืออัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 15-20% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัสดุจากกัญชง (รวมพลาสติกชีวภาพและวัสดุก่อสร้าง) มีมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีข้างหน้า
เนื่องจากเส้นใยมีคุณสมบัติพิเศษในด้านความแข็งแรง ทนทาน สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้จึงถูกนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น อาทิ ผ้า เสื้อผ้า วัสดุก่อสร้าง รวมถึงการนำมาใช้ทดแทนพลาสติกและไนลอน ส่งผลให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมเส้นใยกัญชงในอนาคตช่วยลดปริมาณขยะที่ไม่ย่อยสลาย ลดการตัดไม้ทำลายป่า
สะท้อนถึงความต้องการวัสดุเพื่อความยั่งยืนและผู้บริโภคหันมาเลือกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งได้ปัจจัยบวกจากการสนับสนุนของรัฐบาลหลายประเทศในการออกนโยบายสนับสนุนการปลูกและการใช้กัญชงเพื่ออุตสาหกรรมมากขึ้น สร้างแรงผลักดันที่สำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมกัญชงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีศักยภาพในการขยายตัวสูง นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต
อุตสาหกรรมกัญชงด้านสุขภาพ โตเพิ่มขึ้น 8.5%
ส่วนการพัฒนาการใช้วัตถุดิบกัญชงในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ มีแนวโน้มการเติบโตตามเทรนด์ Health & Wellness โดยในปี 2567 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะขยายตัวสูงถึง 48,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2570 หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 8.5%
จากปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical tourism) ความนิยมผลิตภัณฑ์จากสารสกัดธรรมชาติที่มีมากขึ้น อีกทั้งในทางการแพทย์ผลิตภัณฑ์จากกัญชงสามารถลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรค NCDs (non-communicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สร้างขึ้นเองจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น
12 ชาติตั้ง ‘สมาพันธ์กัญชงฯ’ส่งเสริมการค้า
นอกจากนี้ สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย ร่วมมือกับพันธมิตรนานาชาติรวมทั้งหมด 12 ประเทศ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ปากีสถาน มองโกเลีย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ยูเครน สิงคโปร์ และกลุ่มประเทศ EU จัดตั้ง ‘สมาพันธ์กัญชงนานาชาติเอเชีย’ (Asia International Hemp Federation - AIHF) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมการค้าและพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบ และอุปสรรคทางการค้าในแต่ละประเทศ รวมถึงการจัดตั้งแพลตฟอร์มการค้าผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์เพื่อเชื่อมโยงผู้ซื้อ ผู้ขาย นำไปสู่การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรมและผู้จัดจำหน่าย
นายสุรพล อุทินทุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) กล่าวว่า การจัดงาน Asia International Hemp Expo 2024 งานประจำปีของอุตสาหกรรมกัญชงที่ครบครันที่สุดในงานเดียว โดยในปีนี้ได้วางแนวทางในการเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงนักลงทุน ผู้ประกอบการ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกัญชง สร้างโอกาสแก่กัญชงไทยและอุตสาหกรรมกัญชง ผ่านการจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมของกัญชงทั้ง 14 อุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำในกระบวนการปลูก จนถึงปลายน้ำที่นำเสนอเป็นผลิตภัณฑ์ สินค้า และนวัตกรรม
มีผู้จัดแสดงงานภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมงานกว่า 150 บริษัท ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 40 หน่วยงาน นอกจากนี้ได้เปิดเวทีสัมมนาประจำปีที่มีนักอุตสาหกรรมกัญชงจาก 40 ประเทศเข้าร่วมงาน คาดว่าปีนี้ผู้เข้าชมงานจะอยู่ประมาณ 10,000 คน เม็ดเงินสะพัดจากการจัดงานราว 1,000 ล้านบาท สะท้อนว่าอุตสาหกรรมกัญชงยังคงได้รับความนิยม