ชำแหละ! รายงาน 'บุหรี่ไฟฟ้า' -ข้อน่ากังวลเรื่อง 'ภาษี'ที่ว่าจะได้รับ

ชำแหละ! รายงาน 'บุหรี่ไฟฟ้า' -ข้อน่ากังวลเรื่อง 'ภาษี'ที่ว่าจะได้รับ

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์เกรงรัฐจ้องลดอัตราภาษียาสูบลงต่ำสุด ทำรายรับภาพรวมภาษีสรรพสามิตลดลง หวั่นปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้าจังหวะเป๊ะจ่ายภาษีต่ำทันที พร้อมชำแหล่ะรายงานกมธ.วิสามัญฯศึกษากฎหมายฯ ตั้งธง 2 ทางเลือกยกเลิกการห้าม

“บุหรี่ไฟฟ้า” ในประเทศไทยเป็น “สิ่งผิดกฎหมาย”ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า และห้ามจำหน่าย แต่กลับพบการลักลอบกระทำผิดกฎหมายจำนวนมาก ที่น่าห่วงที่สุด สิ่งผิดกฎหมายนี้เข้าถึงมือ “เด็กและเยาวชน”
ทว่า ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะ “แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า” โดยมีการตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย” ซึ่งมีรายงานข่าวว่ามีการกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการจัดการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าไว้ 3 แนวทางได้แก่

 1. กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

2. ให้บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนถูกกฎหมาย แล

 3. ให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทถูกกฎหมาย

เมื่อวันพุธที่ 4 ธ.ค. 2567 ที่ โรงแรมเดอ ไพรม์ รางน้ำ ในการเสวนาสื่อ “ชำแหละรายงาน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมาย และมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย

บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ระบาดในเยาวชน 25%

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ตัวอย่างในอังกฤษ ซึ่งอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ถูกกฎหมาย แต่ห้ามขายในเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็ยังมีการระบาดในเยาวชนถึง 25% เปรียบเทียบงบประมาณทั้งคนและเงินที่อังกฤษทุ่มเทประสิทธิภาพในการควบคุม และปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ประเทศไทยไม่สามารถเทียบได้เลย ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ ดังนั้นหากเปิดให้ขายถูกกฎหมาย คาดเดาได้ว่าจะต้องระบาดสูงกว่าอังกฤษแน่นอน
 

นอกจากนี้ หากยกเลิกการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า จะต้องเพิ่มงบประมาณในการควบคุมมหาศาล ได้แก่ 1.ควบคุมเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ใช้เลิกบุหรี่ 2.ควบคุมส่วนประกอบ เช่น สารปรุงแต่ง 3.ควบคุมเป็นสารพิษ 4.ควบคุมเหมือนผลิตภัณฑ์เฉพาะ (disposable) เป็นต้น จะต้องเพิ่มหน่วยงาน เพิ่มบุคลากรที่มีความเชี่ยวขาญพิเศษ เพิ่มเครื่องมือทางห้อปฏิบัติการในการตรวจจับสาร ซึ่งมีราคาแพงมากต้องใช้งบประมาณสูงมาก

องค์กร THE UNION ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศที่ดูแลเรื่องสุขภาพปอดของประชาคมโลกในปี พ.ศ.2563 จึงมีข้อแนะนำว่า ผู้กำหนดนโยบายของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและปานกลางรวมทั้งประเทศไทยควรยอมรับ หลักการป้องกันไว้ก่อน’ จึงเรียกร้องให้มีการดำเนินการป้องกัน คือ การห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และ HTP (Heat Tobacco Product) ในกลุ่มประเทศเหล่านี้

“รายงานของคณะกรรมาธิการฯ ควรตอบสังคมให้ได้ว่า หากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะมีมาตรการควบคุมอย่างไรไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ กรณีบุหรี่มวนที่อนุญาตให้ขายได้ถูกกฎหมาย รัฐบาลก็ยังควบคุมได้ไม่ดีพอ มีบุหรี่มวนลักลอบขายผิดกฎหมายถึง 25% คิดเป็นมูลค่า 25,000 ล้านบาทต่อปี”ศ.นพ.ประกิตกล่าว  

ชำแหละ! รายงาน \'บุหรี่ไฟฟ้า\' -ข้อน่ากังวลเรื่อง \'ภาษี\'ที่ว่าจะได้รับ
ตั้งธง 2 ทาง ยกเลิกห้ามบุหรี่ไฟฟ้า

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้มีความผิดปกติตั้งแต่องค์ประกอบของคณะกรรมาธิการฯ ที่เคยถูกทักท้วงจากกลุ่มนักวิชาการ และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบว่ามีบุคคลอย่างน้อย 2 คนที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการฯ

การที่มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่เข้าไปร่วมกำหนดนโยบายบุหรี่ไฟฟ้า ถือว่าผิดต่ออนุสัญญาควบคุมยาสูบโลกมาตรา 5.3 จะส่งผลให้รายงานของคณะกรรมาธิการฯนี้ ขาดความน่าเชื่อถือ ส่อที่จะโน้มเอียงไปในทิศทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทบุหรี่ 

การที่คณะกรรมาธิการฯ ตั้งธงไว้ 3 แนวทางค่อนข้างชัดเจนว่า 2 ใน 3 ทางเลือกคือต้องการยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งสวนกระแสโลกที่ภายในเวลา 2 ปีที่ผ่านมามีประเทศที่ออกกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 9 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า ปาเลา บราซิล คาซัคสถาน สาธารณรัฐคีร์กีซ มัลดีฟส์ และล่าสุดเวียดนาม
เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนักมากในกลุ่มเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ประเทศที่บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายก็เริ่มเปลี่ยนมาแบนบุหรี่ไฟฟ้า เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และเบลเยียมที่ประกาศแบนบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งด้วย

บุหรี่ไฟฟ้าถูกกม. อัตราสูบจะลดไม่จริง

ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เครือข่ายสร้างสุขมุสลิมไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะฉะนั้นรายรับจากภาษีเป็น 0 บาท โดยที่มีการลักลอบจำหน่ายจะเป็นการใช้ช่องทางออนไลน์ เจาะตลาดเด็กเยาวชน คนหนุ่มสาวและวัยทำงาน ส่วนข้ออ้างที่นำมาใช้ในการเปิดตลาด คือ ช่วยลดบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย แต่การลักลอบนำเข้ามีแรงจูงใจจากการที่ไม่ต้องเสียภาษีจึงมีราคาถูก แต่เมื่อเก็บภาษีทำให้ราคาแพงขึ้น คนที่เคยซื้อถูกจะมีการเปอร์เซ็นต์ที่จะไปซื้อของที่แพงขึ้น  ก็ซื้อของหนีภาษีต่อไป ตัวอย่าง บุหรี่ซิกาแรตถูกกฎหมายก็ยังมีการลักลอบนำเข้า

ยังมีข้ออ้างอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ซิกาแรต ซึ่งไม่จริง รวมถึง ช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่แต่มีรายงานทางวิชาการพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะเข้ามาแทนบุหรี่ซิกาแรตในอัตรา 1 ต่อ 1 แสดงให้เห็นผู้สูบรายเดิมจะไม่ลดลง เพียงแต่เปลี่ยนบุหรี่ที่สูบเท่านั้น เท่ากับอัตราการสูบบุหรี่จะไม่ลดลง แต่กลับจะเพิ่มขึ้นเพราะเล็งไปที่นักสูบหน้าใหม่วัยหนุ่มสาวและเด็กเยาวชน โดยข้อมูลในอดีตพบว่าเด็กอายุ 17-18 ปีจะมีการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 7%  ดังนั้น หากบริษัทบุหรี่เปิดตลาดนี้อัตราการสูบบุหรี่จะพุ่งพรวดทันที
ชำแหละ! รายงาน \'บุหรี่ไฟฟ้า\' -ข้อน่ากังวลเรื่อง \'ภาษี\'ที่ว่าจะได้รับ

ปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า ภาพรวมภาษีสรรพสามิตลด

ส่วนข้ออ้างที่ว่าจะเพิ่มรายได้ภาษีนั้น ปัจจุบันภาษีสรรพสามิตมีรายได้ประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อปี  เป็นภาษียาสูบราว 60,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การที่อ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ซิกาแรต เพราะต้องการอัตราภาษีที่ต่ำ ซึ่งขอยืนยันว่าหากจะเก็บภาษีจะต้องได้ในอัตราเดียวกันหรือมากกว่า 
ทว่า รายได้จากภาษีนี้ต้องแลกกับสุขภาพและอนาคตของนักสูบหน้าใหม่ คือเด็ก เยาวชน คนวัยทำงาน  ซึ่งมีงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา พบว่าภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากความเจ็บป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าถึง 1,500 เท่า ไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดกับสุขภาพเด็กและเยาวชน

“ถ้าจะอ้างเปิดตลาดจะมาขออัตราภาษีบุหรี่ไฟฟ้าที่ต่ำกว่าบุหรี่ซิกาแรตไม่ได้ ซึ่งจากราคาขายบุหรี่ไฟฟ้าควรใช้อัตรา TIER บน คือ 25 บาท บวก42 % ของราคาขาย แต่รัฐกำลังเลือกจะลดอัตรา TIER บนให้เท่ากับ TIER ล่างที่25บาทบวก25%ของราคาขาย การลดเช่นนี้คาดว่าภาษียาสูบจะลดลง 10-20 % ลดจาก 60,000 ล้านบาทไปราว 6,000 ล้านบาท น่าสงสัยว่าบุหรี่ไฟฟ้ากำลังรอรับผลบุญนี้ เพราะถ้าบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายจะเข้ามาใช้อัตราล่างทันที ซึ่งจะทำให้ภาพรวมรายรับภาษีสรรพสามิตลดลง”ศ.ดร.อิศรากล่าว

ยาสูบ อุปสรรคเป้าพัฒนาอย่างยั่งยืน

ศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ นักวิชาการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ยาสูบเป็น 1 ใน 4 ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Commercial Determinants of Health) ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ จึงมีการขับเคลื่อนให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ซึ่งในขณะนี้ภาระการรักษาพยาบาลของผู้สูบยาสูบ เป็นภาระของรัฐบาล จากเงินภาษีของคนทั้งประเทศ การที่มีการอ้างว่าการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการละเมิดสิทธิผู้สูบจึงไม่ถูกต้อง อีกทั้งบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าทำลายสุขภาพ จึงไม่ใช่สินค้าปกติที่จะใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่เหนือสิทธิการดูแลสุขภาพซึ่งสำคัญกว่า และรัฐบาลไทยที่จำเป็นจะต้องตระหนักถึงสิทธิของเด็ก โดยรัฐมีหน้าปกป้องไม่ให้เป็นเหยื่อของบริษัทยาสูบข้ามชาติและเครือข่ายบริวาร