'NRF' ร่วมมือเกษตรกรทำ 'ไบโอชาร์' ตลาดมูลค่า 6,000 ล้าน - ลดเผา ลดPM2.5

'NRF' ร่วมมือเกษตรกรทำ 'ไบโอชาร์' ตลาดมูลค่า 6,000 ล้าน - ลดเผา ลดPM2.5

“NRF” รุกจับมือเกษตรกรทำ “ไบโอชาร์” ตลาดมูลค่า 6,000 ล้าน - ลด PM2.5 เชื่อมั่นภาครัฐจะสนับสนุน ย้ำบริษัทเข้าสู่ Net Zero ก่อนได้เปรียบ นวัตกรรมช่วยตอบโจทย์แต่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับประเทศไทย 

กรุงเทพธุรกิจจัดงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ระหว่างวันที่ 3 - 4 ธ.ค.2567 โดยในวันที่ 3 ธ.ค.2567 ช่วง Special Talk : Climate Tech Accelerator แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF กล่าวว่า NRF ผลิตอาหารให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวนมากในต่างประเทศ ซึ่งลูกค้าพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าภายใน 2030 หรือ 2050 จะต้องมีความเป็นกลางทางคาร์บอน ต้องเข้าสู่ Net Zero  และหลายประเทศอาจจะมีมาตรการเรื่องการนำเข้าเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกออกมาก่อนเวลา

เพราะฉะนั้น ถ้าบริษัทไหนถึงเป้าหมายนี้ก่อนจะได้เปรียบ ซึ่งในอุตสาหกรรมอาหารมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การที่จะเข้าสู่ Net Zero คนเดียวจะทำยาก ควรต้องพาทั้งประเทศและอุตสาหกรรมอาหารไปพร้อมกัน

สิ่งที่จะมาช่วยแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมคือ นวัตกรรม จะช่วยเสริมการแข่งขันได้ ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ขยายฐานลูกค้านักลงทุนได้ แต่นวัตกรรมโตเร็วมีผลกระทบสูง จึงอยากให้พิจารณาให้ดีไม่ใช่ดีที่สุด แพงที่สุด อลังการที่สุดแล้วจะเวิร์ก ควรใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมที่เหมาะสมกับประเทศไทย

ในฐานะ NRF เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารได้หานวัตกรรมเพื่อให้บริษัทสามารถเข้าสู่ Net Zero ได้ไปดูเทคโนโลยีในต่างประเทศมากมาย ท้ายที่สุดเลือกนวัตกรรมที่เหมาะสมกับประเทศไทย เป็นเทคโนโลยีที่สามารถทำได้ในระดับหมู่บ้าน เนื่องจากเกษตรกรมีความหลากหลาย และไม่ได้อยู่พื้นที่เดียวกันแต่อยู่ทั่วประเทศ  เริ่มดำเนินการแล้วที่ จ.เชียงราย จำนวน 250 คน ลงทุนหลักหมื่นบาท ไม่ให้เผาของเหลือหลังเก็บเกี่ยวทางการเกษตร จ้างเอามาแปรรูปในเตาเผาพิเศษไม่ปล่อยมลพิษ และผลิตไบโอชาร์(Biochar) คล้ายถ่านหินชนิดหนึ่ง แต่ไม่ได้ปล่อยมลพิษออกมา

“ห่วงโซ่อุปทานบริษัทผลิตอาหารคือ ปลูกต้นไม้ ใส่ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เก็บเกี่ยว เผาไร่ แต่การทำไบโอชาร์ ถ้าเกษตรไม่เผา เอาสิ่งที่จะเผาแปรรูปเป็นไบโอชาร์และขายคาร์บอนเครดิตได้ กลายเป็นว่าห่วงโซ่อุปทานผลิตอาหารของ NRF จะกลายเป็น Net Zero”แดน กล่าว 

แดน กล่าวอีกว่า ในปี 2021 ทั่วโลกมีบริษัทที่ทำไบโอชาร์ขายเป็นคาร์บอนเครดิตแค่ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนประเทศไทยมีซังข้าวโพดประมาณ 4 ล้านตันต่อปี โดยมีราว 1 ล้านตันเปลี่ยนเป็นไบโอชาร์ได้ สามารถขายเป็น 2 ตันคาร์บอนเครดิต ราคาตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ จะมีมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6,000 ล้านบาท นี่คือ โอกาสทางธุรกิจ อย่างปัจจุบันไมโครซอฟต์บริษัทเดียวซื้อไบโอชาร์ปีละ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“แทนที่เกษตรกรต้องมารับผลกระทบจากมลพิษPM2.5 แต่สามารถสร้างโอกาส สร้างรายได้จากไบโอชาร์ได้ เชื่อว่าเขาจะทำ โดยเป็นไอเดียที่ NRF กำลังจะร่วมกับหลากหลายหมู่บ้าน และหวังว่ารัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุนในการแก้ปัญหา PM2.5 และช่วยให้ NRFเข้าสู่เรื่องของ Net Zero”แดน กล่าว 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์