จับตา! '14 โรคสำคัญ' ปี 2568 หวั่น 'ไข้หวัดนกกลายพันธุ์' ติดคนสู่คน

จับตา! '14 โรคสำคัญ' ปี 2568 หวั่น 'ไข้หวัดนกกลายพันธุ์' ติดคนสู่คน

กรมควบคุมโรคจับตา 14 โรคสำคัญในปี 2568  ทั้งกลุ่มโรคทางเดินหายใจ - นำโดยแมลง - ทางเดินอาหาร - ไข้หวัดนก เผยสัญญาณพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูงขึ้น  สัญญาณเสี่ยงกลายพันธุ์ติดคนสู่คน

KEY

POINTS

  • กรมควบคุมโรค เผยมี 14 โรคที่เกิดสถานการณ์น่ากังวลในปี 2567 และจะต้องจับตา เฝ้าระวัง และยกระดับในปี 2568 
  • ไข้หวัดนก สัญญาณพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากขึ้น หวั่นกลายพันธุ์ติดคนสู่คน  ส่วนไข้หวัดใหญ่ ปี 2567 ผู้ป่วยมากกว่าคาดการณ์ ปี 2568 น่าจะเพิ่มสูงขึ้น แนะนำรับวัคซีนป้องกัน
  • ส่วนโควิด-19 อัตราป่วยตายลดลงจากปีก่อน  ไข้เลือดออกน่าจะลดลงหากยังคงมาตรการป้องกันต่างๆไว้ได้  แต่ยังพบป่วยตายสูงในกลุ่มวัยทำงาน-ผู้สูงอายุ 

 

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 ที่กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค และ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าว “ปีใหม่วิถีใหม่ สุขภาพไทย ปลอดภัย” โดยมี 14 โรคที่เกิดสถานการณ์น่ากังวลในปี 2567 และจะต้องจับตา เฝ้าระวัง และยกระดับในปี 2568 

โควิด-19 อัตราป่วยตายลดลง

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า  โรคโควิด-19  ตลอดปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 769,200 ราย อัตราป่วย 1,162.43 ต่อประชากรแสนคน เพศหญิงพบมากกว่าเพศชาย กลุ่มอายุที่พบมากสุด 3 อันดับแรก คือ อายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มอายุ 30-39 ปี และกลุ่มอายุ 20-29 ปี ผู้เสียชีวิตสะสม 222 ราย อัตราตาย 0.33 ต่อประชากรแสนคน อัตราป่วยตาย 0.03 % กลุ่มอายุที่เสียชีวิตมากสุด 3 อันดับแรก ยังกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มอายุ 50-59 ปี และ 30-39 ปี ทั้งนี้ ในปี 2566 อัตราป่วยตายอยู่ที่ 0.14%

ส่วนปี 2568 ถึงวันที่ 12 มกราคม 2568 มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 3,400 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต โดย 3 จังหวัดติดเชื้อสูงคือ ภูเก็ต ชลบุรี และสงขลา เป็นพื้นที่สีแดงที่มีการท่องเที่ยวมาก  จากการคาดการณ์ของกรมควบคุมโรคในปี 2568 อัตราการป่วยโรคโควิด-19 จะน้อยกว่าปี 2567 

ปี 2568 ไข้หวัดใหญ่ป่วยจะมากกว่าปี 2567

โรคไข้หวัดใหญ่ พญ.จุไร กล่าวว่า ปี 2567  ผู้ป่วยสะสม 668,027 ราย สูงกว่าปี 2566 ประมาณ 1.39 เท่า ผู้เสียชีวิต 51 ราย อายุต่ำสุด 2 เดือน สูงสุด 90 ปี ประเด็นสำคัญของการเสียชีวิตพบมีโรคประจำตัว 56.86 % เป็นผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 45.10 % และมีประวัติได้รับวัคซีน 3.92 % ขณะที่ยังพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มอายุ 5-9 ปี อายุ 0-4 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ซึ่งกลุ่มนี้เมื่อป่วยจะนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุที่บ้าน

ส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจพบในปี 2567 ยังเป็นสายพันธุ์ A/H1N1 รองลงมาเป็น A/H3N2 และสายพันธุ์B Victoria ดังนั้น จึงย้ำความสำคัญการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ ซึ่งทั้ง 3 สายพันธุ์วัคซีนสามารถป้องกันได้ แนะนำให้ฉีด

“ในปี 2567 ไข้หวัดใหญ่ยังมีสถานการณ์ที่ค่อนข้างสูง และสูงเกินกว่าค่าพยากรณ์ที่วางไว้ ดังนั้น จึงต้องเคร่งครัดมาตรการในการป้องกันไข้หวัดใหญ่มากขึ้น และส่วนใหญ่จะป่วยในเด็ก แต่อัตราเสียชีวิตจะเป็นผู้ใหญ่กลุ่มผู้สูงอายุ และจากปี 2567 ที่พบป่วยมาก จึงคาดการณ์ปี 2568 จะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยข้อมูลตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา พบป่วยแล้ว 14,537 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต”พญ.จุไรกล่าว   

ไวรัส RSV - เชื้อไวรัส hMPV - ปอดอักเสบ

ไวรัส RSV ในปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 8,218 ราย โดยจะทำให้เด็กเล็กมีอาการหอบเหนื่อย และส่วนใหญ่ต้องนอนรักษาตัวใน รพ. และพบมากในกลุ่มเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี แต่เริ่มพบผู้ใหญ่ในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป ระบาดมากในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาวยังพบประปราย 

ส่วนไวรัส hMPV  ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ พบมากในช่วงฤดูฝน และหนาว อาการคล้ายระบบโรคระบบทางเดินหายใจทั่วไป  ส่วนใหญ่จะพบในเด็กต่ำกว่า 5 ปี แต่ก็เจอในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน ส่วนที่มีข่าวพบในจีน ก็เป็นการระบาดตามฤดูกาลอยู่แล้ว ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ของจีนเช่นกัน

ทั้งนี้ กองระบาดวิทยาร่วมกับ รพ.เครือข่ายจัดเก็บตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยทางเดินหายใจ (1 ม.ค.66-31 ธ.ค.67) เชื้อที่พบมากสุดคือ โควิด ส่วน RSV และ hMPV พบเช่นกันแต่น้อยกว่า 10 % แสดงว่าพบได้ตลอด

สำหรับโรคปอดอักเสบภาพรวม เกิดได้ทั้งเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย แต่บางส่วนก็จับเชื้อไม่ได้ ไม่สามารถระบุสาเหตุ ใน ปี 2567 มีผู้ป่วยสะสมกว่า 4 แสนราย เสียชีวิต 876 ราย โดยเด็กป่วยสูงสุด แต่เสียชีวิตยังเป็นกลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป  สำหรับข้อมูลปี 2565-2567 ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจมีมาก ทั้งไข้หวัดใหญ่ โควิด RSV และ hMPV 

คำแนะนำในการป้องกัน โรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งติดเชื้อได้ 2 ช่องทางหลักๆ คือ 1.การสัมผัส ก็ต้องป้องกันด้วยการล้างมือบ่อยๆ 2.การไอ จาม ขอให้สวมหน้ากากอนามัย หรือให้ปิดปากปิดจมูก ยิ่งคนป่วยยิ่งต้องปฏิบัติตัวป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัด สำหรับกลุ่มเสี่ยงเมื่อมีอาการขอให้ไปพบแพทย์

ไข้เลือดออก วัยทำงาน - สูงวัยป่วยตายสูง

ไม่เพียงแต่โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเท่านั้น  พญ.จุไร กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ปี 2567 พบป่วย 105,250 ราย ผู้เสียชีวิต 114 ราย ส่วนในปี 2568 หากยังคงมาตรการป้องกันได้ดี คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 76,000-77,000 ราย เสียชีวิตลดลงเหลือ 70-80 ราย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจะพบมากในฤดูฝน  และอัตราป่วยพบมากในเด็ก ส่วนเสียชีวิตยังพบมากในกลุ่มวัยทำงาน และผู้สูงอายุ

ที่ต้องระวังคือ ผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวจะเป็นกลุ่มเสี่ยงหากป่วยจะมีอาการรุนแรง และเสียชีวิตได้ เมื่อป่วยต้องรีบไปพบแพทย์ รวมถึงกลุ่มโรคอ้วน ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อความรุนแรงได้ รวมถึงหากมีไข้สูง ต้องไม่ทานยาลดไข้กลุ่ม NSAID เพราะก่ออันตรายได้ แต่ให้รับประทานเป็นยาพาราเซตามอลแทน
คำแนะนำสำหรับประชาชน 1.สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุก 7 วัน

2. ระวังไม่ให้ยุงกัด

3. สังเกตอาการหากมีอาการไข้สูงลอยมากกว่า 2 วันทานยาพาราเซตามอลเช็ดตัวแต่ไข้ไม่ลดปวดศีรษะอ่อนเพลียมีจุดผื่นแดงตามตัวควรรีบไปพบแพทย์

4. หากป่วยเป็นไข้เลือดออกคอยสังเกตอาการหากไข้ลดลงแต่อาการไม่ดีขึ้นซึมลงรับประทานอาหารได้น้อยให้รีบไปพบแพทย์อาจเสี่ยงภาวะช็อก

อหิวาตกโรค ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด

สำหรับโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า  เมื่อปี  2567 ประเทศไทยพบผู้ป่วย 11 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยในเดือนธันวาคม 2567 พบการระบาดของเชื้อในพื้นที่ จ.ตาก เป็นช่วงเดียวกับที่มีการระบาดในประเทศเมียนมา  ปัจจุบันประเทศไทยแนวโน้มผู้ป่วยลดลงแต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนปี  2568 พบผู้ป่วยแล้ว 2 ราย เป็นคนไทยเพศหญิงอายุ 51 ปี พื้นที่กรุงเทพฯ และคนไทยเพศชายอายุ 90 ปี จ.ตาก ยังไม่มีผู้เสียชีวิต รวมถึง กรณีอาหารเป็นพิษ ที่เกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ก็จะต้องระวังด้วย

คำแนะนำในการป้องกันโรค 1.การดูแลสุขอนามัยด้านอาหารและน้ำดื่มเป็นสิ่งสำคัญ ให้เลือกรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงสุกใหม่ 2.ปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เช่น ล้างมือด้วยสบู่ และน้ำสะอาดก่อน และหลังรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง โดยยึดหลักกินสุก ร้อน สะอาด ใช้ช้อนกลาง ภาชนะส่วนบุคคล

3.หากมีอาการผิดปกติ เช่น ถ่ายเหลวเป็นน้ำในปริมาณมาก คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และ4.หากมีอาการถ่ายเหลวในระหว่างที่ยังไม่สามารถไปพบแพทย์ ให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์

โรคไข้หมูดิบหูดับ

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า  โรคไข้หูดับ (ไข้หมูดิบ) ที่เกิดจากการกินเนื้อหมู เครื่องใน เลือดหมูแบบดิบหรือสุกๆดิบๆ และผ่านการสัมผัสหมูหรือเนื้อหมูที่มีเชื้อแบคทีเรียก่อโรค สถานการณ์ในประเทศไทย ปี 2567 ผู้ป่วย 956 ราย เสียชีวิต  59 ราย อัตราป่วยตาย 0.09 ต่อแสนประชากร ตั้งแต่ 1 ม.ค.2568 - ปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิต  1 ราย อาการรุนแรง 1 รายใน จ.บุรีรัมย์ ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการรับประทานเนื้อหมูดิบ เมนูก้อยหมูดิบ และลาบเลือดหมูดิบ โดยพื้นที่เสี่ยงสูงที่พบผู้ป่วย คือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จับตา! \'14 โรคสำคัญ\' ปี 2568 หวั่น \'ไข้หวัดนกกลายพันธุ์\' ติดคนสู่คน

โรคมือเท้าปากผู้ป่วยยังมาก

โรคมือเท้าปาก พญ.จุไร กล่าวว่า  ในปี 2567 ผู้ป่วยสะสม 92,536 ราย อัตราป่วย 142.56 ต่อประชากรแสนคน ผู้เสียชีวิต 1 คน อัตราป่วยตาย 0.001 % แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และมีจำนวนสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับค่า 5 ปีย้อนหลังระหว่างปี  2562-2566 กลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ 1-4 ปี  ,ต่ำกว่า 1 ปี และ5-9 ปี 

ส่วนปี 2568 คาดว่าผู้ป่วยจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 1,440 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต  กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี

PM2.5 สิ่งที่คนไทยต้องระวัง

เมื่อฝุ่น PM2.5 กลับมาเยือนอีกครั้ง  นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่คนไทยต้องระวัง คือ หลีก
ซึ่งมีอาการเตือนแพ้ฝุ่น ได้แก่  ตาแสบเคือง คันบริเวณดวงตา ผิวหนังคัน มีผื่นขึ้น และทางเดินหายใจ มีน้ำมูก แสบคอ มีเสมหะ
คำแนะนำหากค่าฝุ่น PM2.5 เป็นสีเหลือง  ประชาชนทั่วไป เลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากาก กลุ่มเสี่ยงลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากาก

  • สีส้มประชาชนทั่วไป ลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยงลด/จำกัดทำกิจกรรมกลางแจ้งสวมหน้ากาก
  • สีแดง ประชาชนทั่วไป ลด/จำกัดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากาก มีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย วิงเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบพบแพทย์ กลุ่มเสี่ยง งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากาก ควรอยู่ห้องปลอดฝุ่น หากมีอาการผิดปกติรีบพบแพทย์ ทันที

ไข้หวัดนก หวั่นกลายพันธุ์ติดคนสู่คน

กรณีไข้หวัดนก  พญ.จุไร กล่าวว่า ต้นปี 2568 มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกเสียชีวิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 1 ราย และประเทศกัมพูชา 1 ราย ซึ่งไข้หวัดนกมีสัญญาณที่ต้องระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการกระดกขึ้นของการพบไข้หวัดนกในสัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  ซึ่งในประเทศไทยมีการยกระดับการเฝ้าระวังทั้งในคน และในสัตว์  

“การที่ต้องยกระดับเนื่องจากการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วโลกในปี 2567 สูงขึ้น และผู้ป่วยที่สหรัฐอเมริกา  66 รายอาการไม่หนัก ส่วนหนึ่งเป็นเกษตรกรอยู่ในฟาร์มโคนม ไม่ได้สัมผัสแต่สัตว์ปีก และเมื่อไวรัสมีการกลายพันธุ์เข้ามาสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาจจะสามารถปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ และเข้ามาสู่คนได้ ถือเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่ต้องระวัง”พญ.จุไร กล่าว   

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวเสริมว่า โดยปกติไข้หวัดนกจะติดต่อมาสู่คนจากสัตว์ที่มีเชื้อ ไม่ได้ติดต่อระหว่างคนสู่คน ไม่เหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ต่อติดจากคนสู่คนได้ แต่เมื่อเชื้อมีการกลายพันธุ์ และเกิดการผสมพันธุ์ระหว่างไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ และไข้หวัดคนเกิดขึ้น อาจจะมีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อจากคนไปสู่คนได้ จากเดิมที่ไม่มีคุณสมบัตินี้อยู่ จึงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกังวลเพราะเริ่มมีการกลายพันธุ์มากขึ้นแล้ว 

ฝีดาษวานร ลดลงกว่า 3 เท่า

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวถึงโรคฝีดาษวานรว่า ทั่วโลกคนไข้ลดน้อยลง  สำหรับประเทศไทยปี 2567  คนไข้ทั้งหมด 176 ราย ลดลงจากปี 2566 ที่มี 676 ราย 3 เท่ากว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย วัยกลางคน ในการป้องกัน 1. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จักหรือผู้มีผื่นสงสัย เพื่อป้องกันโอกาสเสี่ยงสัมผัสผื่นหรือสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย

2 .หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด สัมผัสผู้มีผื่นสงสัย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น 3. ล้างมือทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรค 4. เฝ้าระวังสังเกตอาการเบื้องต้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือภูมิคุ้มกันต่ำ และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปีหากมีอาการสงสัยให้รีบพบแพทย์ทันที อย่าชะล่าใจ เนื่องจากมีโอกาสอาการรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้

สำหรับผู้มีประวัติเสี่ยง 1. สังเกตอาการตัวเองทุกวัน หากมีอาการสงสัยให้เข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ทันที 2.รักษาความสะอาดส่วนบุคคล ล้างมือ และทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 3. งดการมีเพศสัมพันธ์หรือพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การสัมผัสสารคัดหลั่ง ระหว่างกัน 4. งดการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น 5. เก็บและจัดการขยะที่อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่งของตนเองให้มิดชิด ทั้งนี้ ขอความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำจนกว่าจะครบ 21 วันหลังเสี่ยง

โรคเขตร้อนที่ถูกละเลย

ท้ายที่สุด พญ.จุไร กล่าวว่า เน้นให้เห็นความสำคัญโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย ซึ่ง สมัชชาอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 30 มกราคม ของทุกปี เป็นวันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย โดยประชากร 1 ใน 5 ของโลกป่วยด้วยโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย  เนื่องจากส่วนใหญ่จะเกิดในประเทศที่กำลังพัฒนา จึงอาจจะไม่ได้รับความสนใจ ในเรื่องยา วัคซีนมากนัก

โรคที่พบในประเทศไทย ได้แก่ ไข้เลือดออก มาลาเรีย โรคลิชมาเนีย โรคเท้าช้าง วัณโรค โรคพิษสุนัขบ้า โรคเรื้อน และโรคพยาธิต่างๆ  โดยประเทศไทยไม่ได้ละเลยโรคเหล่านี้ทราบอยู่ว่าเป็นโรคที่เป็นปัญหาของประเทศ แต่ต้องเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของโรคเหล่านี้เพราะระดับโลกก็ให้ความสำคัญ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์