แจงด่วน! 3 หน่วยงาน เรื่อง 'วัคซีนเอชพีวี'

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงประเด็นการฟ้องร้องเรื่องความปลอดภัยของการใช้วัคซีนเอชพีวี ขณะที่ราชวิทยาลัยสูตินรีฯออกประกาศแสดงจุดยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2568 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ข้อชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลของข้อมูลที่มีการเผยแพร่ ในประเด็นการฟ้องร้องเรื่องความปลอดภัยของการใช้วัคซีนเอชพีวี( HPV) ระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีการฟ้องร้อง บริษัทผู้ผลิตวัคซีน HPV ในต่างประเทศ เกี่ยวกับประเด็นความปลอดภัยของการใช้วัคซีน HPV ซึ่งมีการเผยแพรในสื่อสังคมออนไลน์ และได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมากนั้น
สถาบันวัคซีนแห่งชาติขอยืนยันว่า ความปลอดภัยและประสิทธิผลของการใช้วัคชีน HPV เป็นสิ่งที่ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และหน่วยงานควบคุมกำกับคุณภาพยาและวัคชีนในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งวัคชีน HPV ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิผล และมีการใช้วัคชีนอย่างแพร่หลายทั่วโลกมานานกว่าทศวรรษ โดยข้อมูลทางวิชาการชี้ให้เห็นว่า ประโยชน์ของการได้รับวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม สถาบันตระหนักถึงข้อกังวลของประชาชน ต่อรายงานกรณีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคชีน HPV ตามข่าวที่มีการเผยแพร่ และขอยืนยันว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทยมีระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยของวัคชีนอย่างเข้มงวด ซึ่งหากมีข้อมูลด้านความปลอดภัยเพิ่มเติมที่ส่งผลต่อแนวทางการใช้วัคชีน สถาบันจะเร่งดำเนินการตรวจสอบและแจ้งข้อมูลแก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด
สถาบันขอให้ประชาชนมั่นใจว่า นโยบายการใช้วัคชีนของประเทศไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งหากท่านมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ขอให้รับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงแพลตฟอร์มการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารของประเทศ เช่น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ชัวร์ก่อนแชร์ เป็นต้น นอกจากนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติเองก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ท่านสามารถตรวจสอบข้อสงสัยหรือข้อกังวลของการใช้วัคซีนได้เช่นกัน
ทั้งนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติและหน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศ ยังคงมุ่งมั่นที่จะปกป้องสุขภาพของประชาชน และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคชีน เพื่อให้ประชาชนไม่พลาดโอกาสในการปกป้องตนเอง รวมถึงบุคคลที่ท่านรัก จากโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนได้ต่อไป
วันเดียวกัน ราชวิทยาลัยสูตินรึแพทย์แห่งประเทศไทย ก็ได้ออกประกาศ จุดยืนของราชวิทยาลัยสูตินรึแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่อง ความปลอดภัยของวัคซึนเอชพีวี (HPV vaccine) ระบุว่า
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ขอแสดงจุดยืนเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนเอชพีวี โดยราชวิทยาลัยฯ ได้ทบทวนข้อมูลวิชาการด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนเอชพีวี และร่วมจัดกำแนวทางการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก พ.ศ. 2567 (https://www.nci.go.th/th/cpg/e-book/Cervical_Cancer/mobile/index.html#p=1) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขา
พบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 องค์การอนามัยโลก และVaccine Adverse Event Reporting System (VAERS) ได้ทบทวนข้อมูลเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนเอชพีวีจากการฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 270 ล้านเข็ม พบว่า วัคซีนเอชพีวีมีความปลอดภัยสูงมาก ส่วนใหญ่มีปฏิกิริยาตรงตำแหน่งที่ฉีดยา ได้แก่ อาการปวด บวม ผื่นแดง อาการแพ้รุนแรงพบได้น้อยมาก(https://www.who.int/groups/global-advisory-committee-on-vaccine-safety/topics/human-papillomavirus-vaccines/safety)
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยจึงสนับสนุนการฉีดวัคซีนเอชพีวี สำหรับเด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.5 ของภาครัฐ และการฉีดวัคซีนเอชพีวีสำหรับประชาชนทั่วไป ตามแนวทางเวชปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งอันดับ 4 ในสตรีไทย รวมถึงป้องกันมะเร็งและโรคอื่นๆ ที่มีสาเหตุจากเชื้อเอชพีวี
ขณะที่ นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO), ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (US CDC) และอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย ยังคงแนะนำให้มีการฉีดวัคซีน HPV อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV และลดความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก
โดยอ้างอิงผลงานวิจัยและการศึกษาทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากหลายๆสาขา และหลายประเทศขององค์การอนามัยโลก (Strategic Advisory Group of Expert on Immunization: SAGE) ระบุว่าวัคซีนนี้มีความปลอดภัย ข้อมูลจากการฉีดกว่า 500 ล้านโดสตั้งแต่ปี 2549
พบรายงานผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมักเป็นอาการที่ไม่ร้ายแรง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด บางส่วนมีไข้ มีรายงานอาการแพ้รุนแรงแต่เกิดขึ้นน้อยมากๆ ส่วนอาการทางระบบประสาท เช่น ภาวะการอักเสบของเส้นประสาท (Guillain Barre Syndrome หรือ Bell palsy) ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าวัคซีนไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าว
ในประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับวัคซีน (AEFI) โดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคร่วมกับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมถึงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งข้อมูลปัจจุบันไม่พบความผิดปกติที่เป็นเหตุให้ต้องระงับหรือเพิกถอนวัคซีน
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังคงดำเนินการติดตามความปลอดภัยของวัคซีนอย่างใกล้ชิด และขณะนี้ ยังไม่มีรายงานการเรียกคืนวัคซีนดังกล่าว ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร และติดตามข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์ของ อย., กระทรวงสาธารณสุข หรือองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในวัคซีนและมาตรการสาธารณสุข หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422