‘รักษาฟัน’ สิทธิบัตรทอง 30 บาท ไป ‘คลินิกเอกชน’ ได้ มีกว่า 1,400 แห่ง

สปสช.ย้ำรักษาฟรี 5 รายการ สิทธิบัตรทอง 30 บาทไป คลินิกทันตกรรมเอกชนร่วม 30 บาทรักษาทุกที่ได้ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนทำฟันเทียม-รากฟันเทียม ติดต่อ รพ.รัฐประจำอำเภอและ รพ.รัฐประจำจังหวัดได้ทุกแห่ง
ตามที่มีการนำเสนอข่าวกรณีผู้ป่วยทันตกรรม สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เข้ารับบริการทำฟันที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี และได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าต้องรอคิวบริการนานถึง 8 ปี
ต่อมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 4 สระบุรี ได้พูดคุยกับผู้ป่วย และได้ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนนทบุรี (สสจ.) โดยจะนำผู้ป่วยเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลปากเกร็ด เนื่องจากสภาวะในช่องปากจำเป็นต้องได้รับการใส่ฟัน
ขณะนี้ทาง สสจ.นนทบุรี ได้มีการประสานคิวบริการกับทาง รพ.ปากเกร็ด เพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทอง ไม่เสียค่าใช้จ่าย
“เรื่องนี้น่าจะเกิดจากข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการบริหารจัดการคิวบริการของโรงพยาบาลดังกล่าว แต่ในส่วนของระบบบัตรทองนั้น สปสช. ยืนยันในสิทธิประโยชน์บริการทันตกรรมที่ครอบคลุมเพื่อมอบให้กับประชาชนคนไทยผู้มีสิทธิทุกคน อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของการให้บริการทันตกรรม เป็นการรักษาที่ต้องทำหัตถการแทบทุกราย แต่ละเคสต้องใช้เวลามากน้อยขึ้นอยู่กับความยากง่าย จึงมีข้อจำกัดในการให้บริการประชาชนจำนวนมากในแต่ละวัน” ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าว
คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงหาทางเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการรักษา โดยการเชิญชวนคลินิกทันตกรรมเอกชนมาช่วยให้บริการทันตกรรมพื้นฐาน ได้แก่ อุดฟัน ถอนฟัน ขุดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ ซึ่งเป็นบริการที่มีความต้องการมาก เพื่อแบ่งเบาภาระของหน่วยบริการภาครัฐ ทำให้ทันตแพทย์เฉพาะทางได้มีเวลาให้การรักษาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
ปัจจุบันมีคลินิกทันตกรรมเอกชนที่ขึ้นทะเบียนในระบบแล้วจำนวน 1,427 แห่ง ร่วมให้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่ ที่ครอบคลุมบริการทันตกรรม 5 รายการ โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ปีละ 3 ครั้ง ดังนี้
1. ขูดหินปูน
2. อุดฟัน
3. ถอนฟัน
4. เคลือบหลุมร่องฟัน
และ 5. เคลือบฟลูออไรด์
ส่วนกรณีการทำฟันเทียมและรากฟันเทียมนั้น ประชาชนสามารถติดต่อรับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทองได้ที่ รพ.รัฐประจำอำเภอและ รพ.รัฐประจำจังหวัดทุกแห่ง
“ที่ผ่านมามี รพ.หลายแห่ง ได้ดึงคลินิกทันตกรรมเอกชน ร่วมเป็นเครือข่ายบริการ เช่น รพ.แพร่ มีคลินิกทันตกรรมเป็นเครือข่ายบริการ โดยร่วมให้บริการทันตกรรม 5 รายการข้างต้น ทำให้ทันตแพทย์ที่โรงพยาบาลสามารถใช้เวลาในการรักษาผู้ป่วยทันตกรรมที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น ทั้งการใส่ฟันเทียมและรากฟันเทียม เป็นต้นแบบของการจัดบริการทันตกรรมเพื่อลดคิวผู้ป่วยได้” ทพ.อรรถพรกล่าว
ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถดูรายชื่อคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วม 30 บาทรักษาทุกที่ ได้ที่ เว็บไซต์ สปสช. media.nhso.go.th/30plus/map_responsive.php
ทั้งนี้ ข้อมูลจากทันตแพทยสภา ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีทันตแพทย์ประมาณ 22,000 คน หรือคิดเป็น ทันตแพทย์ 1 คน ต่อ ประชากร 3,000 คน ซึ่งสามารถดูแลประชาชนได้อย่างเหมาะสมในระดับหนึ่ง
แต่เมื่อคิดเฉพาะสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ต่อทันตแพทย์ที่อยู่ในสังกัดของโรงพยาบาลของรัฐ เช่น โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข หรือ โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยนั้น
ทันตแพทย์จะต้องดูแลผู้ป่วยบัตรทองในสัดส่วนที่สูงมาก เช่น ในจังหวัดที่เป็นข่าวดังกล่าว สัดส่วนจะอยู่ที่ ทันตแพทย์ 1 คน ต่อ ประชากรบัตรทอง 9,150 คน หรือมากกว่าสัดส่วนที่ควรจะเป็นอยู่ที่ประมาณ 3 เท่า
ตัวเลขดังกล่าวจึงบ่งบอกถึงการมีจำนวนทันตแพทย์สำหรับรองรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ยังมีไม่เพียงพอ จึงทำให้เกิดปัญหาการรอคิวในการทำฟันในระยะเวลาที่นาน