กรมควบคุมโรค สธ. ย้ำ 'โรคไข้ดำแดง' ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่

กรมควบคุมโรค สธ. ย้ำ 'โรคไข้ดำแดง' ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่

กรมควบคุมโรค ย้ำ "โรคไข้ดำแดง" ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ผู้ป่วยส่วนมากจะเป็นเด็ก

เมื่อวันที่้ 1 มี.ค.2568 นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าพบเด็กนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ป่วยเป็นโรคไข้ดำแดง และมีการหยุดเรียนในบางชั้นเรียนว่า กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการป้องกันควบคุมโรค ตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยให้โรงเรียนคัดกรองเด็กทุกเช้า ให้เด็กที่ป่วยหยุดเรียน ขอความร่วมมือผู้ปกครองเฝ้าระวังโรคและสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ ของใช้ และของเล่นต่าง ๆ

ย้ำว่า โรคไข้ดำแดง ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “สเตรปโตคอคคัสชนิดเอ” ก่อให้เกิดโรคหลายชนิด เช่น คออักเสบ โรคติดเชื้อทางผิวหนัง เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง

จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์ของโรคไข้ดำแดง ในวันที่ 1 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 พบผู้ป่วยจำนวน 455 ราย ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต ค่ามัธยฐานผู้ป่วย 5 ปีย้อนหลัง จำนวน 605 รายต่อปี โดยโรคไข้ดำแดงมักจะเกิดในเด็กอายุระหว่าง 5-15 ปี แต่กลุ่มอายุอื่นสามารถเกิดโรคไข้ดำแดงได้เช่นกัน

อาการของโรคจะเริ่มจากมีอาการไข้ เจ็บคอ มีผื่นแดงตามลำคอ รักแร้ ลำตัว แขน หรือขา ลักษณะของผื่นเมื่อสัมผัสจะคล้ายกระดาษทราย ใบหน้าแดง ริมฝีปากซีด และอาจมีปื้นขาวที่ลิ้น ซึ่งภายหลังจะลอกออกทำให้ลิ้นมีลักษณะบวมแดง การติดต่อมักเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการ หรือผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรค หรือหายใจเอาละอองฝอยที่ติดเชื้อเข้าทางระบบทางเดินหายใจ ส่วนการติดเชื้อผ่านการรับประทานอาหารสามารถพบได้แต่น้อย

 การป้องกันโรคทำได้โดย 1. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ

2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไข้ดำแดง

3. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อมีความจำเป็นต้องใกล้ชิดผู้ป่วย

4. ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย โดยเฉพาะของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า เครื่องนอน เป็นต้น

5. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย หรือของใช้ของผู้ป่วย

6. หลีกเลี่ยงการขยี้ตา แคะจมูก หรือปาก

7. หากพบเด็กป่วยควรแยกออกจากเด็กปกติทันที

และ 8.หากพบผู้ป่วยหลายคนควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422