‘รมว.สธ.' ยันตัวเลขผิด! ยอดเก็บ 'ค่ารักษาต่างด้าว' ไม่ได้

‘รมว.สธ.' ยันตัวเลขผิด! ยอดเก็บ 'ค่ารักษาต่างด้าว' ไม่ได้

“รมว.สธ.”ยันตัวเลขผิด! กรณีเก็บเงินรักษาต่างด้าวไม่ได้  ไม่ใช่ 90,000 ล้าน   เฉลี่ยอยู่ที่ราว 2,500 ล้าน ลั่นเป็นไปไม่ได้จะใช้ถึง 50 % ของงบฯบัตรทองดูแลคนไทย 

จากกรณีที่ในรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/67 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ระบุเรื่องคนต่างด้างกับสาธารณสุขชายแดน ว่าในปีงบประมาณ 2567 มีคนต่างด้าวเข้ารับบริการสาธารณสุขชายแดน 3.8 ล้านครั้ง แบ่งเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิการรักษาจำนวน 4.9 แสนครั้ง คนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิการรักษาจำนวน 1.5 ล้านครั้ง และคนต่างด้าวที่ไม่ระบุสิทธิอีกจำนวน 1.8 ล้านครั้ง โดยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้จากคนต่างด้าวในพื้นที่ชายแดนไทยที่เก็บไม่ได้มีมูลค่า 92,083 ล้านบาทนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2568 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า  ข้อมูลตัวเลขดังกล่าวมีความผิดพลาด  เป็นเหมือนหูหนวกตาบอด เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เงินไปถึง 92,000 ล้านบาทในการดูแลคนต่างด้าว เพราะภาพรวมของงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนไทยหรือบัตรทอง 30 บาท ก็อยู่ที่เพียงปีละราว 150,000 ล้านบาท ตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ไม่สามารถเก็บเงินกรณีรักษาต่างด้าวได้เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 2,565 ล้านบาท โดยเพิ่มสูงไปที่ 3,500 ล้านบาทในปี 2564 และปี 2565ที่มีสถานการณ์โควิด19ระบาด ส่วนข้อมูลปีล่าสุดที่เห็นอยู่ที่ 2,054 ล้านบาท
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังระดมสมองว่า จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปแม่สอด จ.ตาก ตรวจเยี่ยม 5 โรงพยาบาลและรับรายงานตัวเลขประมาณ 154 ล้านบาทซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดปี 2567

“เรื่องนี้ผิดพลาดตรงที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ให้ข้อมูลระหว่างกัน ก็อาจจะเป็นไปได้อย่างเรื่องเครื่องหมายคอมมา( ,) กับจุดทศนิยม( .) ยกตัวอย่างเช่น 100.500 กับ 100,500 เป็นต้น”นายสมศักดิ์กล่าว   

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนประกันสุขภาพ คนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าวว่า ตัวเลขที่เจ้าหน้าที่ส่งไปนั้น  เป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้มีการคลีนซิ่ง  ไม่ได้เป็นข้อมูลอย่างเป็นทางการที่แจ้งไป จึงมีการหารือและย้ำว่า จากนี้เมื่อหน่วยงานต่างๆ ขอข้อมูลเข้ามาก็ขอให้ทำอย่างเป็นทางการ โดยกระทรวงสาธารณสุข พร้อมที่จะตอบกลับไปเป็นทางการ เพราะถ้าเอาข้อมูลที่ยังไม่ไม่ได้ยืนยันไป พอเป็นข่าวก็จะเป็นประเด็นได้

“ตัวลข 9 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้คลีนซึ่ง ยังไม่ได้เคลียร์ผิด เคลียร์ถูก บางทีเป็นข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกัน เรื่องนี้ฝ่ายปฏิบัติการต้องไปคุยกัน” นพ.โอภาส กล่าว

ด้านนพ.สวัสดิ์ชัย นวกิจรังสรรค์วร ผอ.กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เป็นข้อมูลดิบที่ต้องมาตรวจสอบข้อมูลกันก่อน เพราะบางครั้งเราคีย์ข้อมูลเคสหนึ่งเป็นพันล้านบาท ก็จะต้องมาตรวจสอบกันก่อน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่กระทรวงสาธารณสุขใช้เรียกเก็บจากประชากรต่างด้าวไม่ได้ ย้อนหลัง 5 ปี เฉลี่ยปีละประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปี ใน 31 จังหวัด เฉลี่ยจังหวัดละ 66.25 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่ตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขต้องอนุเคราะห์ทั้งหมด แต่จะมีบางส่วนที่มีองค์กรนานาชาติ เอ็นจีโอนานาชาติสนับสนุนบางส่วน บางส่วนเป็นการบริหารจัดการขอโรงพยาบางแต่ละแห่ง เช่น เปิดคลินิกนอกเวลา หรืออื่นๆ เพื่อนำรายได้มาดูแลตรงนี้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขจะดูอยู่ เช่น  เรื่องการควบคุมสุขาภิบาล เรื่องโรคระบาดต่างๆ จำเป็นต้องให้การรักษา และรักษาตามหลักสิทธิมนุษยชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2568 ที่ใช้ดูแลรักษาพยาบาลคนไทยในสิทธิบัตรทอง 30 บาทกว่า 47 ล้านคนนั้นอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท หากระบบสาธารณสุขไทยต้องใช้งบไปดูแลรักษาสุขภาพคนต่างด้าวและเรียกเก็บไม่ได้ 92,000 ล้านบาทจริง ก็เท่ากับว่าใช้งบถึง 50 %ของงบที่ดูแลรักษาพยาบาลคนไทย ซึ่งเป็นไม่น่าจะเป็นไปได้ 

สิทธิรักษาต่างด้าวในประเทศไทยนั้น แยกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มแรงงาน  หากเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในสถานประกอบการไทยที่มีระบบประกันสังคมรองรับ แรงงานกลุ่มนี้จะมีการจ่ายเงินสมทบและรับบริการรักษาพยาบาลได้ตามสิทธิประกันสังคมมาตรา 33

ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในสิทธิประกันสังคม จะต้องซื้อบัตรประกันสุขภาพเป็นรายปี  โดยนำเงินเข้ากองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว ดูแลบริการจัดการโดยกระทรวงสาธารณสุข

2.ต่างด้าวที่รอพิสูจน์สถานะหรือสัญชาติ ในการรักษาพยาบาลจะอยู่ภายใต้กองทุน ท.99

3.กลุ่มที่เข้ามารักษาในประเทศไทยโดยการจ่ายเงินเอง (ส่วนใหญ่รพ.ชายแดน)