'ไข้หวัดนก H5N1' มีรายงานเกิดการกลายพันธุ์ในจุดที่น่ากังวล

'ไข้หวัดนก H5N1' มีรายงานเกิดการกลายพันธุ์ในจุดที่น่ากังวล

ไวรัสไข้หวัดนก H5N1 มีรายงานเกิดการกลายพันธุ์ในจุดที่น่ากังวล ไวรัสเพิ่มจำนวนได้ดีขึ้น-ดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ที่เป็นยารักษา  คร.ปรับเพิ่มคำแนะนำป้องกันโรค

KEY

POINTS

  • ไข้หวัดนก เป็นหนึ่งโรคระบาดที่จะต้องจับตา เฝ้าระวังอย่างมากในปี  2568 เนื่องจากทั่วโลกพบสถานการณ์โรคในคน สัตว์ปีกและสัตวเลี้ยงลูกด้วยนมเป็นระยะ
  • ไวรัสไข้หวัดนก H5N1 มีรายงานเกิดการกลายพันธุ์ในจุดที่น่ากังวล จุดแรกช่วยให้ไวรัสเพิ่มจำนวนได้ดีขึ้นในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จุดที่สอง ส่งผลต่อการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ที่เป็นยารักษา 
  • ไข้หวัดนก กรมควบคุมโรค เพิ่มคำแนะนำในการป้องกัน ไม่แค่เฉพาะเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกป่วยหรือตาย   แต่รวมถึงสุกร โคนมหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และต้องเลือกซื้อเนื้อสัต

โรคไข้หวัดนก สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคน และสัตว์ (สัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ติดเชื้อ) ทั่วโลกยังพบมีรายงานเป็นระยะ โดยเฉพาะสายพันธุ์A (H5N1) ซึ่งติดต่อจากสัตว์มาสู่คน

ไข้หวัดนกในอเมริกา-กัมพูชา

จากการรายงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 มีผู้ป่วยสะสม 68 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยพบรายล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 และมีการแพร่กระจายในสัตว์หลายชนิด ทั้งวัวนม สัตว์ปีก และสัตว์อื่นๆ

จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัส H5N1 พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ Clade 2.3.4.4b, สายพันธุ์ย่อย (Genotype) D1.1 เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงสูงและแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางตั้งแต่ปี 2020 ทั่วหลายทวีปรวมถึงอเมริกาเหนือและใต้ ไวรัสนี้มีความสามารถในการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพิ่มขึ้น

ขณะที่ ในประเทศที่ใกล้กับประเทศไทย อย่างกัมพูชา ในปี 2567 มีผู้ป่วยไข้หวัดนกสะสม 10 ราย ส่วนในปี 2568  กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา ได้รายงานผู้เสียชีวิตจากเชื้อไข้หวัดนก H5N1 รายล่าสุดเป็นเด็กชายอายุ 2 ปี 7 เดือน จากจังหวัดเปรยแวงทางตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 หลังมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับไก่ป่วยในบ้านเรือน นับเป็นผู้ติดเชื้อรายที่ 2 ของประเทศในปี 2568 และเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 9 จากทั้งหมด 19 รายนับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา

ในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมา (2566-2568) พบผู้ติดเชื้อ H5N1 19 ราย แบ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 14 ราย (เสียชีวิต 7 ราย) และผู้ใหญ่ 5 ราย (เสียชีวิต 2 ราย) แนวโน้มนี้สอดคล้องกับงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารไวรัสวิทยาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งพบว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนมีระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ H5 ต่ำกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากขาดการสัมผัสเชื้อในอดีต

ไข้หวัดนก ความเสี่ยงของไทย

ส่วนประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ มาเป็นเวลาประมาณ 19 ปี หลังจากพบผู้ป่วยรายสุดท้าย เมื่อปี 2549 โดยประเทศไทย มีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกทั้งในคน สัตว์และสัตว์ป่า รวมทั้งประเมินความเสี่ยง เน้นย้ำประชาชนไม่สัมผัสสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ป่วยตาย

“ความเสี่ยงการแพร่ระบาดใหญ่ในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ แต่ยังต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสายพันธุ์ที่ระบาดในอเมริกาและพบในกัมพูชานั้น แม้เป็น H5เหมือนกันแต่มีความแตกต่างในสายพันธุ์ย่อย โดยในแถบบ้านเรายังเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรง อัตราเสียชีวิตค่อนข้างสูง ต่างจากในอเมริกาความรุนแรงจะต่างกัน ” นพ.วีระวัฒน์ มโนสุทธิ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)


เช่นเดียวกับ สถานการณ์ไข้หวัดนกในสัตว์ ซึ่งผลการประเมินความเสี่ยงของการนำเข้าโรคไข้หวัดนกจากโคนมมีชีวิตประเทศสหรัฐอเมริกา ที่อาจทำให้เกิดโรคในฟาร์มโคนมในประเทศไทย พบอยู่ในระดับต่ำ
เนื่องจากไม่มีรายงานการนำเข้าโคนมมีชีวิตจากประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตภัณฑ์นมที่นำเข้า ผ่านการทำลายเชื้อในขั้นตอนการแปรรูป ประกอบกับมีมาตรการลดความเสี่ยงจากการนำเข้าตัวอ่อนและน้ำเชื้อของโคนม

ไข้หวัดนก H5N1 กลายพันธุ์จุดน่ากังวล

สิ่งที่ต้องจับตาและน่ากังวลของไวรัสไขหวัดนก H5N1 คือ การกลายพันธุ์ในจุดที่สำคัญ จนทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น หรือแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น 
ล่าสุด ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลจากรายงานการติดตามไข้หวัดนก H5N1 ของศูนย์ป้องกันควบคุมโรค(CDC) สหรัฐอเมริกาเมื่อ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2025ว่า รายงานการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ทั้งจีโนมในผู้ป่วย 3 รายในรัฐโอไฮโอ ไวโอมิง และเนวาดา สหรัฐอเมริกา ในปีนี้ 2568 พบการกลายพันธุ์ของไวรัสในสองยีน PB2 และ NA ที่น่ากังวล

การกลายพันธุ์ของไวรัส H5N1 ที่ยีน PB2 แม้มักถูกมองข้าม แต่กลับเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับตัวของไวรัสเพื่อการแพร่ระบาดข้ามสายพันธุ์ ยีนนี้มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ไวรัสที่ปกติอาศัยในสัตว์ปีกซึ่งมีอุณหภูมิร่างกายสูง (ประมาณ 41°C) สามารถปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพิ่มจำนวนในร่างกายมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า (ประมาณ 37°C)
การเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นความท้าทายใหม่ในการควบคุมและป้องกันการระบาดของไวรัสไข้หวัดนก ซึ่งปกติจะติดต่อมายังมนุษย์ได้ไม่ดีนัก เนื่องจากความแตกต่างของอุณหภูมิร่างกายระหว่างนกและมนุษย์
การวิเคราะห์พันธุกรรมของไวรัสพบการกลายพันธุ์ที่สำคัญหลายประการ เช่น PB2-E627K ในผู้ป่วยจากไวโอมิง และ PB2-D701N ในผู้ป่วยจากเนวาดา ซึ่งช่วยให้ไวรัสเพิ่มจำนวนได้ดีขึ้นในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

นอกจากนี้ ยังพบการกลายพันธุ์ NA-S247N ที่อาจลดความไวต่อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม CDC ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาต้านไวรัสหรือวัคซีนที่มีอยู่ และยังไม่ติดต่อระหว่างคนสู่คน

ไวรัสไข้หวัดนก ดื้อยาโอเซลทามิเวียร์

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามา ระบุอีกว่า งานวิจัยล่าสุดพบไวรัสไข้หวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีกของแคนาดาปี 2024 ดื้อต่อยาโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกรณีผู้ป่วยไทยที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 และดื้อต่อยาชนิดเดียวกันเมื่อ 15 ปีก่อน

งานวิจัยทั้งในประเทศไทยปี 2009 และแคนาดาปี 2024 พบการกลายพันธุ์ H275Y ที่ทำให้ไวรัสไข้หวัดใหญ่ดื้อต่อยาโอเซลทามิเวียร์ โดยในปี 2009 พบผู้ป่วยไทย 1 รายที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ดื้อยาแม้ไม่เคยได้รับยามาก่อน ส่วนในปี 2024 พบไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ที่มีการกลายพันธุ์แบบเดียวกันในฟาร์มสัตว์ปีก 8 แห่งในแคนาดา

การกลายพันธุ์นี้ทำให้ไวรัสดื้อต่อยาโอเซลทามิเวียร์เพิ่มขึ้น 161.4 เท่า เมื่อเทียบกับไวรัสปกติ สะท้อนให้เห็นว่าการกลายพันธุ์แบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติและส่งผลกระทบต่อการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ควรมีการพัฒนาแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินหากมีเชื้อดื้อยาแพร่ระบาด

คำแนะนำป้องกันไข้หวัดนก H5N1

กรมควบคุมโรค ให้คำแนะนำในการป้องกันโรคไข้หวัดนกสำหรับประชาชน

1.เลือกซื้อเนื้อสัตว์ และไข่จากร้านสะอาดได้มาตรฐาน เนื้อสดใหม่ สีชมพู ไม่มีจุดช้ำเลือด ไข่ไม่เปื้อนมูลสัตว์

2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก สุกร โคนมหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ป่วยหรือตาย และงดการบริโภคน้ำนมดิบ

3.หากต้องสัมผัสสัตว์ปีก สุกร หรือโคนม ควรสวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส

4.รับประทายอาหารที่ปรุงสุก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากโคนม

5.เกษตรกรผู้เลี้งสัตว์ปีก สุกรและโคนม หากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมาก บริเวณใกล้เคีย

กับพื้นที่ที่เลี้ยงโคนม ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และไม่ควรนำซากสัตว์ปีกไปประกอบอาหาร

6.เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก สุกร และโคนม หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ หรือตาแดงอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง เช่น การเดินทาง ให้แพทย์ทราบ