1 ใน 8 ประชากรโลกมีปัญหาสุขภาพจิต แต่ไทยมี “จิตแพทย์” 1.28 คน ต่อประชากรแสนคน
เมื่อจำนวนจิตแพทย์ในประเทศไทยสวนทางกับแนวโน้มผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น โดยมีทั้งหมด 845 คน คิดเป็นจิตแพทย์ 1.28 คนต่อประชากรแสนคน และมีนักจิตวิทยา 1,037 คน คิดเป็น 1.57 คนต่อประชากรแสนคน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก
จากข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก (WTO) พบว่า ปัจจุบันในโลกนี้ทุก 8 คนจะมี 1 คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับปัญหาสุขภาพจิต และในทุกการเสียชีวิต 100 ครั้งจะมีอย่างน้อย 1 ครั้งที่เป็นการฆ่าตัวตาย แต่ที่น่าเป็นห่วงคืออัตราดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นสำหรับคนวัยหนุ่มสาวช่วง 15-29 ปี ที่ทุกการเสียชีวิต 100 ครั้งจะมีถึง 8 ครั้งที่เป็นการฆ่าตัวตาย ดังนั้นในภาพรวม ทุก 1 การเสียชีวิตที่มาจากการฆ่าตัวตาย จะมีการพยายามฆ่าตัวตายไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง
ปัจจัยด้านความเสี่ยงของสุขภาพจิตในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับการรับมือ แม้หลายประเทศจนั้นเข้าใจว่าเป็นปัญหาสำคัญ แต่ยังมีข้อจำกัดสำหรับการแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจำกัดด้าน “ทรัพยากรสาธารณสุข”
สำหรับค่ามัธยฐานของอัตราส่วนบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพจิตต่อประชากรจาก 158 ประเทศอยู่ที่ “13 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน” โดยแต่ละภูมิภาคจะมีช่องว่างห่างกันมาก เช่น ค่ามัธยฐานของทวีปยุโรปสูงกว่าของทวีปแอฟริกา 40 เท่า เป็นความแตกต่างระหว่างประเทศรายได้สูงกับรายได้น้อย โดยประเทศรายได้น้อยมีบุคลากรด้านสุขภาพจิตเพียง 1.4 คน ต่อประชากรแสนคน ในขณะที่ประเทศรายได้สูงมี 62 คนต่อประชากรแสนคน
จากตัวอย่างอัตราส่วนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาใน 11 ประเทศจากภูมิภาคต่างๆ ในปี 2563 ประเทศในยุโรปตะวันตก นำโดยสวิตเซอร์แลนด์ มีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรมากที่สุด ที่ 47.17 คน ต่อประชากรแสนคน ในเอเชีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศพัฒนาแล้ว มีอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรแสนคนอยู่ที่ 12.55 และ 7.91
- ทรัพยากรด้านจิตวิทยาของไทยอยู่ตรงไหน?
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตล่าสุด (6 ก.ค. 65) ระบุว่า ไทยมีจิตแพทย์ทั้งหมด 845 คน คิดเป็นจิตแพทย์ 1.28 คนต่อประชากรแสนคน และมีนักจิตวิทยา 1,037 คน คิดเป็น 1.57 คนต่อประชากรแสนคน จากข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าจำนวนบุคคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพจิตของไทยมีน้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 10.15 คน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงพอสมควรเนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชและผู้ที่มีภาวะต่างๆ ทางจิตเวชในสังคมไทยเป็นจำนวนมาก
- บุคลากรด้านสุขภาพจิตในแถบอาเซียน
สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงแค่สิงคโปร์เท่านั้นที่มีอัตราส่วนจิตแพทย์สูงถึง 4.7 คนต่อประชากรแสนคน ถือว่าสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะเป็นประเทศที่มีรายได้สูงด้วย ในส่วนของภาพรวมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค่ามัธยฐานของอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรแสนคนอยู่ที่ 0.4 และของนักจิตวิทยาอยู่ที่ 0.3
ในส่วนของประเทศมาเลเซียมีอัตราส่วนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาอยู่ที่ 1.21 และ 0.56 คน ต่อประชากรแสนคน ส่วนประเทศฟิลิปปินส์มีอัตราส่วนจิตแพทย์และนักจิตวิทยาอยู่ที่ 0.22 และ 0.08 คน ต่อประชากรแสนคน
จากอัตราส่วนข้างต้นแม้ว่าในภูมิภาคอาเซียนประเทศไทยอาจจะมีบุคลากรด้านสุขภาพจิตมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่หากเทียบจากอัตราส่วนในระดับโลกแล้วถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำแม้ว่าไทยจะไม่ใช่ประเทศที่มีรายได้น้อยก็ตาม
หากในอนาคตยังคงไม่มีบุคลากรมาเสริมในส่วนนี้ จะส่งผลกระทบให้จำนวนผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการขาดแคลนการเข้าถึงการดูแลรักษาของผู้ป่วยต่อจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ที่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลรักษาหรือได้รับการดูแลรักษาได้ไม่ดีพอ
เพราะฉะนั้นที่มีทรัพยากรสาธารณสุขไม่เพียงพอ ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่สำคัญในการแก้ปัญหาของภาครัฐ ที่ไม่ใช่แค่การป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยจิตเวชและโรคซึมเศร้า แต่ยังต้องคำนึงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำจากทรัพยากรสาธารณสุขที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ด้วย
…………………..
อ้างอิงข้อมูล : Rocket Media Lab, กรมสุขภาพจิต และ WHO