“ชอบเก็บของ-ไม่อยากทิ้ง” อันตรายกว่าที่คิด อาจเข้าข่าย “โรคชอบสะสมของ”
ตัดสินใจเลือกทิ้งสิ่งของไม่ได้ หรืออยากเก็บไว้เพราะเชื่อว่าวันข้างหน้าอาจมีประโยชน์ พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ถ้าเป็นบ่อยๆ หรือเก็บสะสมมากผิดปกติ ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคทางจิตเวชและส่งผลเสียมากกว่าที่คิด
อันนั้นก็ยังไม่กล้าทิ้ง อันนี้ก็อยากเก็บไว้เผื่อมีประโยชน์ คิดแบบนี้มาเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีก็มีของรกเต็มบ้าน! พฤติกรรมดังกล่าวไม่เพียงทำให้บ้านรกและสกปรกเท่านั้น แต่ผู้ที่มีพฤติกรรมนี้เป็นเวลานาน ถือว่าเข้าข่ายป่วยด้วยโรคทางจิตเวช นั่นคือ “โรคชอบสะสมของ” หรือ “Hoarding Disorder”
“โรคสะสมของ” ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับวัยชราอย่างที่หลายคนเข้าใจยืนยันได้จากเรื่องราวในโลกโซเชียลที่มีการโพสต์คลิปคนวัยหนุ่มสาวบางคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในห้องรกๆ เต็มไปด้วยสิ่งของและขยะ สร้างความฮือฮาและมาพร้อมคำถามจากชาวเน็ตว่า ห้องรกขนาดนี้อยู่ได้อย่างไร?
เนื่องจากสภาพห้องที่เห็นในคลิปนั้น เรียกได้ว่ารกจนแทบไม่เหลือที่ให้เดิน และดูแล้วน่าจะสกปรกพอสมควร รวมถึงเจ้าของห้องดังกล่าวก็ยังไม่ได้มีอายุมากถึงขั้นที่จะเก็บกวาดไม่ไหว แต่ก็มีหลายคนตั้งคำถามว่าเจ้าของห้องอาจจะเป็น “โรคชอบสะสมของ” โดยไม่รู้ตัว จึงไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม บ้างก็เรียกว่าชอบสะสมขยะ
- “โรคสะสมของ” อีกหนึ่งอาการทางจิตเวชที่วัยทำงานต้องสังเกตตัวเอง
ผู้ที่มีพฤติกรรม “สะสมขยะ” จนลืมคำนึงถึงเรื่องความสะอาด สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ตนเองอยู่อาศัยนั้น ถือว่ามีภาวะป่วยทางจิตใจอย่างรุนแรงและจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยจิตแพทย์ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคดังกล่าว เพียงแค่คิดว่าสิ่งของต่างๆ มีประโยชน์ในตัวของมันและสามารถนำกลับมาใช้อีกได้ในอนาคต แต่หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นกับชื่อโรคเท่าไรนักเนื่องจากเป็นโรคที่ถูกเพิ่มเข้ามาในเกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวช (DSM 5) เมื่อ พ.ศ. 2556 และที่สำคัญโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในวัยชรา แต่เกิดได้กับคนทุกวัย
- สาเหตุและผลกระทบของ “นักสะสมขยะ”
สาเหตุโรคชอบสะสมของ พบว่ามาจากปัจจัยทางพันธุกรรมถึง ร้อยละ 50 เพราะผู้ป่วยโรคนี้จะพบว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย อีกสาเหตุคือความผิดปกติทางสมองของผู้ป่วยที่เลือกเก็บสะสมของบางชนิด
ผลกระทบโรคชอบสะสมของ มีทั้งส่งผลต่อสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตควบคู่กัน โดยผลกระทบต่อสุขภาพอาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคและอุบัติเหตุในที่อยู่อาศัย เช่น สะดุด หกล้ม ส่วนทางด้านสุขภาพจิตอาจเกิดร่วมกับอาการทางจิตอื่น ๆ ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล หรือโรคกลัวการเข้าสังคม
- ไม่ใช่วัยชราก็ป่วยเป็น “โรคสะสมของ” ได้
สำหรับบางคนอาจเริ่มแสดงอาการตั้งแต่อยู่ในช่วงวัยรุ่น แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ป่วยเป็นโรคชอบสะสมของจะมีอายุ 30 ปี ขึ้นไป ส่วนใหญ่มักพบในวัยชราทำให้หลายคนเข้าใจไปว่าโรคนี้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้นจึงต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมตัวเองและคนรอบข้างว่าเริ่มมีการสะสมสิ่งของที่ควรทิ้งหรือมีอาการชอบเสียดายสิ่งของบ้างหรือไม่
- ชอบสะสมของแก้ได้อย่างไรในทางจิตวิทยา
ผู้ป่วยโรคชอบสะสมของ เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา จิตแพทย์จะรักษาด้วย 2 วิธี ตามที่แพทย์เห็นสมควร โดยวินิจฉัยจากอาการ ซึ่งอาจจะรักษาทั้ง 2 วิธีร่วมกัน หรือแบ่งตามที่เหมาะสมก็ได้
โดยวิธีแรกจะเป็นการให้ยาเพื่อปรับความสมดุลของสารเคมีในสมองในส่วนของวิธีคิด แต่ก็ได้ผลไม่มากนัก
อีกวิธีคือ การบำบัดทางพฤติกรรมและความคิด ค่อนข้างได้รับความนิยมและได้ผลพอสมควร โดยจะเป็นการฝึกทักษะการตัดสินใจให้ผู้ป่วยสามารถจัดการเก็บหรือทิ้งสิ่งของได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น มีการจัดกลุ่มข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งฝึกให้ทนได้กับการทิ้งของเหลือใช้ด้วย
การที่เราจะเสียดายสิ่งของที่เป็นของเราและยากต่อการตัดใจทิ้งนั้น บางครั้งอาจเป็นเรื่องยาก แต่หากปล่อยไปเรื่อยๆ เราก็จะชอบสะสมสิ่งของโดยไม่รู้ตัว และทำให้เข้าสู่ภาวะโรคทางจิตเวชในที่สุด ดังนั้นการเริ่มต้นจากการจัดระเบียบบ้าน ถือเป็นขั้นตอนแรกที่ง่ายต่อการจัดระเบียบสิ่งของและความคิดของตัวเองไปพร้อมๆ กัน
อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลรามาธิบดี และ กรมสุขภาพจิต