ประชากรโลก 8 พันล้านคน | วรากรณ์ สามโกเศศ
เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โลกมีประชากร 8 พันล้านคน เพิ่มจาก 7 พันล้านคนเมื่อ 12 ปีก่อน และจะเพิ่มเป็น 9 พันล้านคนใน 15 ปีข้างหน้า ปรากฏการณ์เช่นนี้นำไปสู่หลายประเด็นของคุณภาพชีวิตของพลเมืองโลก
หากมองย้อนไปในอดีต มนุษย์ในรูปลักษณ์เช่นมนุษย์ปัจจุบันใช้เวลา 150,000-200,000 ปี ในการเพิ่มจำนวนสมาชิกของเผ่าพันธุ์จากจำนวนพันเป็นหนึ่งพันล้านแรกในประมาณปี ค.ศ. 1800 และอีกหนึ่งร้อยปีต่อมาคือ ค.ศ. 1900 ก็มีจำนวนถึง 2 พันล้านคน จากนั้นก็เพิ่มเป็นลำดับด้วยอัตราการเกิดที่สูงมากและอัตราการตายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
มีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจหลายประการที่เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกดังนี้
ประการแรก ประชากรเพิ่มขึ้นในประเทศต่าง ๆ อย่างแตกต่างกัน ในจำนวนการเพิ่มขึ้นจาก 7 เป็น 8 พันล้านคนนั้น ร้อยละ 70 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของประชากรในกลุ่มยากจนถึงกลุ่มล่างของประเทศรายได้ปานกลาง
ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขต Sub-Saharan Africa ( คือประเทศที่อยู่ในทวีปอาฟริกาแต่ไม่รวมอยู่ในกลุ่ม North Africa ซึ่งได้แก่ อียิปต์ ลิเบีย อัลจีเรีย ตูนิเซีย โมร็อคโก ฯลฯ) และในช่วง 8 ถึง 9 พันล้านคน ร้อยละ 90 ของประชากรที่เพิ่มขึ้นจะมาจากกลุ่มประเทศนี้
กลุ่มประเทศดังกล่าวมีประชากรรวมปัจจุบันประมาณ 1.17 พันล้าน ใน 46 ประเทศ เช่น ไนจีเรีย (219 ล้านคน) เอธิโอเปีย (122 ล้านคน) คองโก (96 ล้านคน) เคนยา (54 ล้านคน) อูกานดา (46 ล้านคน) ทันซาเนีย (62 ล้านคน) ฯลฯ
ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของประชากรในดินแดนเหล่านี้ อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศร่ำรวยกลับลดลง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาและยุโรป ฯลฯ จนทำให้อัตราการเกิดเฉลี่ยของโลกลดลง แต่จำนวนประชากรจะยังคงเพิ่มขึ้นแต่ในอัตราที่ลดลง
จนเชื่อว่าหลังจากที่โลกมีประชากรถึง 9 พันล้านคน แล้ว จำนวนจะไม่พุ่งขึ้นมากเหมือน 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยสหประชาชาติพยากรณ์ว่าในปี 2100 จะมีประชากรประมาณ 10.4 พันล้านคน
ประการที่สอง เพื่อให้เห็นภาพจำนวนประชากรโลก ต่อไปนี้คือ 20 ประเทศที่มีประชากรมากสุดในโลก (หน่วย:ล้านคน)
(1) จีน (1,452) (2) อินเดีย (1,412) (3) สหรัฐอเมริกา (336) (4) อินโดนีเซีย (280) (5) ปากีสถาน (232) (6) ไนจีเรีย (219) (7) บราซิล (216) (8) บังคลาเทศ (169) (9) รัสเซีย (146) (10) เม็กซิโก (132)
(11) ญี่ปุ่น (125) (12) เอธิโอเปีย (122) (13) ฟิลิปปินส์ (113) (14) อียิปต์ (107) (15) เวียดนาม (100) (16) คองโก (96) (17) อิหร่าน(87) (18) ตุรกี (87) (19) เยอรมนี (84) (20) ไทย (70)
ประการที่สาม ในภาพกว้างประชากรโลกกระจายกันอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ดังนี้
(1) เอเชีย (4.6 พันล้านคน / 59.5% ของชาวโลก) (2) อาฟริกา (1.34 พันล้านคน / 17.2%) (3) ยุโรป (748 ล้านคน / 9.6%) (4) ละตินอเมริกาและคาริเบียน (654 ล้านคน / 8.4%) (5) อเมริกาเหนือ (369 ล้านคน / 4.7%) (6) กลุ่มประเทศมหาสมุทร (43 ล้านคน / 0.5%)
ประการที่สี่ ในปีหน้า (2023) อินเดียจะมีจำนวนประชากรแซงหน้าจีน ปัจจุบันจีนมี1,452 ล้านคน ส่วนอินเดีย 1,412 ล้านคน สหประชาชาติเชื่อว่าจีนมีประชากรถึงจุดสูงสุดแล้ว
และต่อจากนี้ไปจะมีจำนวนลดลงทุกปีจนกว่าถึงปลายศตวรรษนี้ โดยมีจำนวนการตายในแต่ละปีมากกว่าจำนวนการเกิด (ไทยซึ่งมีโครงสร้างประชากรคล้ายจีน ก็จะมีลักษณะใกล้เคียงกันซึ่งจะทำให้จำนวนประชากรคงตัว และลดลง)
อินเดียกับจีนต่างมีประชากรเกือบ 18 %ของประชากรโลก ดังนั้นเมื่อรวมสองประเทศนี้ด้วยกันก็มีประชากรประมาณ 36% หรือกว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลก
อินเดียมีประชากรเพิ่มขึ้นปีละประมาณกว่าร้อยละ 1 ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่าปีหนึ่ง ๆ มีประชากรเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 14-15 ล้านคน ในปี 1965 อินเดียมีประชากรเพียง 500 ล้านคน แต่อัตราการเพิ่มขึ้นปีละ 1-2.3% ทำให้มีจำนวนพุ่งสูงขึ้นถึงแม้จะเพิ่มในอัตราที่ลดต่ำลงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาก็ตาม
ประการที่ห้า โลกมีความเหลื่อมล้ำมาก หากรวมมูลค่าความมั่งคั่งของเศรษฐีระดับพันล้านไม่กี่คนในโลกก็มีค่าเท่ากับความมั่งคั่งรวมของคนครึ่งโลกที่นับจากคนยากจนต่ำสุดขึ้นมา
นอกจากนี้ 1% ของคนรวยสุดของโลกรวมกันมีรายได้เท่ากับ 1 ใน 5 ของรายได้รวมของคนทั้งโลก และคนในประเทศร่ำรวยสุดมีอายุขัยเฉลี่ยมากกว่าคนในประเทศยากจนสุดถึง 30 ปี
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด-19 การขาดแคลนอาหาร ราคาพลังงานและราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น ตลอดจนวิกฤตสภาวะอากาศอันเนื่องมาจากการปล่อยกาซเรือนกระจกจนอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น
การเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิตัล และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ฯลฯ ล้วนประดังกันทำให้คนยากจนอยู่แล้วในโลกยิ่งลำบากขึ้น กลไกและสภาวะแวดล้อมที่มีอยู่ทำให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นทุกขณะ
โลกของคน 8 พันล้านคนที่กำลังเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคนในอีก 15 ปีข้างหน้านั้น ดูอย่างไรก็ไม่สดใส ไม่ว่าจากแง่มุมของคนมีฐานะหรือยากจน สารพัดปัญหาเกิดขึ้นเพราะมนุษย์เป็นผู้สร้าง
ข้อขัดแย้งทางสังคมและปัญหาความแตกแยกทางความคิดของสังคมในประเทศต่าง ๆ ตลอดจนปัญหาการเมืองในระดับโลกนับวันจะทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นอย่างท้าทายความกินดีอยู่ดีของมนุษยชาติที่ดีขึ้นโดยเฉลี่ยอย่างต่อเนื่องตลอดเวลานับพันปีที่ผ่านมา
ถ้ามนุษย์มองไม่เห็นปัญหาเหล่านี้และไม่พยายามช่วยกันแก้ไขอย่างจริงจังและรีบด่วนแล้ว คุณภาพชีวิตของคนรุ่นต่อ ๆ ไปน่าจะถูกกระทบไปทางเสื่อมอย่างน่ากังวล
การมีพลเมืองโลกเพิ่มขึ้นนั้นเป็นได้ทั้งด้านดีและด้านลบ ถ้าคนเหล่านี้ได้รับการศึกษาและมีสุขอนามัยที่ดี เป็นคนมีคุณภาพภายใต้สันติสุขของโลกก็จะเป็นผลดีต่อคนทั้งโลก แต่ถ้าถูกละเลยโดยชาวโลกแล้วจะเกิดผลเสียอย่างร้ายแรง คนเหล่านี้จะกลายเป็นภาระของชาวโลกในช่วงเวลาต่อไป
นับตั้งแต่มีมนุษย์เผ่าพันธุ์ homo sapiens ของพวกเราเกิดขึ้นในโลกโดยมี ประมาณรวมทั้งสิ้น 1,000 พันล้านคน ถ้าจะมีเพี่อนใหม่ร่วมโลกเพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องน่ายินดี
แต่จะเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งขึ้นหากชาวโลกร่วมกันช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เพื่อนใหม่เหล่านี้เป็นทรัพยากรที่มีค่าของชาวโลก.