ไม่น่าไว้ใจ! ไทยมอง ‘ทุนนิยม’ แง่ลบมากสุดในโลก

ไม่น่าไว้ใจ! ไทยมอง ‘ทุนนิยม’ แง่ลบมากสุดในโลก

คนส่วนใหญ่ทั่วโลกเชื่อว่า “ทุนนิยม” เป็นโทษมากกว่าประโยชน์ และประเทศที่มองทุนนิยมในแง่ลบมากที่สุดในโลกคือ “ไทย”

“เอเดลแมน ทรัสต์ บารอมิเตอร์” ซึ่งเป็นการสำรวจความไว้ใจและเชื่อถือในสถาบันหลักมานาน 20 ปี เผยผลสำรวจความเห็นพลเมืองกว่า 34,000 คนใน 28 ประเทศและดินแดนทั่วโลก รวมถึงไทย เพื่อทำความเข้าใจว่าคนทั่วไปมองระบบทุนนิยมอย่างไร พบว่า ผู้ตอบ 56% เห็นด้วยว่า ทุนนิยมในปัจจุบันเป็นอันตรายต่อโลกมากกว่าเป็นประโยชน์

นอกจากนี้ หากมองเป็นรายประเทศ พบว่า คนส่วนใหญ่ใน 22 จาก 28 เศรษฐกิจที่ถูกสำรวจ เห็นด้วยว่าทุนนิยมยุคนี้สร้างโทษมากกว่าประโยชน์ โดยไทยเป็นประเทศที่คนไม่ไว้ใจในทุนนิยมมากที่สุดถึง 75% หรือ 3 ใน 4 ตามมาด้วยอินเดีย 74% ฝรั่งเศส 69% มาเลเซีย 68% อินโดนีเซีย 66% และจีน 63%

เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกา มีเพียงแคนาดา สหรัฐ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และญี่ปุ่นที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยว่า ทุนนิยมในปัจจุบันเป็นโทษมากกว่าประโยชน์

ปัจจุบัน ลัทธิปกป้องการค้าและการเคลื่อนไหวชาตินิยมกำลังขยายตัวไปทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือ หลังผ่านพ้นวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2551 มากว่า 10 ปี

157960445987

การเปิดเผยผลสำรวจที่จัดทำโดย เอเดลแมน บริษัทด้านการสื่อสารของสหรัฐ มีขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกประจำปี 2563 ที่เมืองดาวอสของสวิตเซอร์แลนด์ระหว่างวันที่ 21-24 ม.ค. โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจเกี่ยวกับความไว้ใจต่อทุนนิยมด้วย

เดวิด เบอร์ซอฟฟ์ หัวหน้านักวิจัยที่ทำผลการศึกษานี้ กล่าวว่า ความรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ กระตุ้นให้นักวิจัยต้องถามพลเมืองโลกว่า ขณะนี้เริ่มมีความกังขามากขึ้นเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่อิงทุนนิยมแบบตะวันตกหรือไม่ ซึ่งผลสำรวจนี้ตอบคำถามอย่างชัดเจนว่า “ใช่!”

“ผู้คนยังตั้งคำถามในระดับที่ว่า สิ่งที่เรามีตอนนี้และโลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ เหมาะสมกับการสร้างอนาคตที่ดีแล้วหรือยัง” เบอร์ซอฟฟ์ระบุ

นอกจากนี้ ผลสำรวจดังกล่าวยังพบว่า ข้อกังวลที่กลายเป็นเรื่องคุ้นเคยในปัจจุบันไปแล้ว ตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยีก้าวหน้าเร็วจนตามไม่ทัน ความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน ความไม่ไว้วางใจสื่อ และความรู้สึกว่ารัฐบาลของตนตามความท้าทายในปัจจุบันไม่ทัน

ข้อมูลยังแสดงให้เห็นถึงความคิดที่หลากหลาย เช่น ชาวเอเชียมองแง่บวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของตนมากกว่าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก และพลเมืองโลกยังมีทัศนคติที่แตกต่างกันไปตามสถานะทางสังคม โดยกลุ่มที่มีฐานะร่ำรวยและจบการศึกษาระดับวิทยาลัยขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะเชื่อมั่นกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ

ขณะเดียวกัน ผู้ตอบส่วนใหญ่ไว้ใจภาคธุรกิจมากกว่าภาครัฐ ส่วนผู้ตอบที่เป็นลูกจ้างบริษัทมีถึง 92% ที่ต้องการให้บรรดาผู้บริหารพูดถึงเรื่องปัญหาสังคมและปัญหาจริยธรรมในปัจจุบันที่เวทีดาวอสด้วย