แก้กฎหมาย "หาบเร่แผงลอย" ของขวัญปีใหม่
สมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯชงกทม.แก้ประกาศหาบเร่แผงลอย เปิดโอกาสกระจายรายได้ หวังผู้ว่าฯชัชชาติจัดให้เป็นของขวัญปีใหม่ ย้ำจัดระบบดีเป็นอัตลักษณ์เมืองกรุง ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ในการสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2565 ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “กรุงเทพฯ เมืองสุขภาวะ ปลอดภัย เศรษฐกิจดี...สร้างได้!” เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2565 ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพฯ
นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ ประธานคณะทำงานกำหนดแนวทางและติดตามการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า มติสำคัญในการประชุมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งแรก คือ การจัดทำธรรมนูญสุขภาพ เพื่อวางหลักการ แนวคิด แนวปฏิบัติในการสร้างสุขภาวะของ กทม. โดยมีหลักการสำคัญที่พูดถึงกระบวนการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ การจัดการและกระจายทรัพยากร เพื่อนำไปสู่ความเป็นธรรมในระบบบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่จะส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค
หลังจัดทำธรรมนูญฯ แล้ว มีการลงนามร่วมกันของ 10 องค์กร เช่น สช. กทม. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ เพื่อจับมือพัฒนากลไกให้เกิดการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ สู่ภาคปฏิบัติ จนเกิดการขยายเป็นธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ รวม 12 เขต ที่ให้เครือข่ายภายในเขตได้มาพูดคุยว่าจะจัดทำธรรมนูญ เคลื่อนโครงการที่ทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีได้อย่างไร
อีก 2 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าว่าคงมีการขยายการทำงานของธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ออกไปอีก 10 เขต เพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนในภาพรวมของสุขภาวะคน กทม. เพิ่มมากขึ้น ผ่านการใช้เงินของกองทุนท้องถิ่น และเรายังคิดว่าจะทำให้เกิดศูนย์วิชาการสุขภาวะเขตเมืองอีกอย่างน้อย 5 แห่งใน กทม. จึงขอชวนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพ กทม. ร่วมกันต่อไป
“หาบเร่แผงลอย”ในมติสมัชชาสุขภาพ
นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า ประเด็น หาบเร่แผงลอย ถูกพิจารณาในเวทีสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ นับตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2563 และเกิดเป็นมติร่วมกันคร่าวๆ ใน 4 ข้อ คือ
1. การพัฒนาหาบเร่แผงลอยเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการพัฒนาเชิงพื้นที่ของ กทม.
2. ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับนโยบายและคณะกรรมการระดับพื้นที่
3. สร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่ายหาบเร่แผงลอย
4. ทบทวนและปรับแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย
ปัจจุบันมีการตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เข้ามาแลกเปลี่ยนให้ข้อเสนอแนะกับทีมผู้ว่าฯ ลงพื้นที่คุยพบปะกับเครือข่ายหาบเร่แผงลอย เพื่อกลับมากำหนดนโยบายแนวทางพัฒนา
รวมทั้งการแก้ไขกฎกติกาที่ไม่เอื้อต่อการจัดระเบียบ ซึ่งเชื่อว่าการที่ กทม. เข้ามารับฟังเรื่องนี้อย่างตั้งใจ จะช่วยให้การจัดสำเร็จ
สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะเห็นภายในสิ้นปี 2565 คือการตั้งคณะกรรมการหาบเร่แผงลอย รวมทั้งการแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ชงแก้กฎหมายหาบเร่แผงลอย
นางพูลทรัพย์ บอกด้วยว่า ในเรื่องการแก้ไขระเบียบนั้น เนื่องจากมีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การค้าบนพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมี 16 ข้อออกเมื่อปี 2563 แต่มีข้อจำกัดหลายอันที่ไม่สามารถดำเนินการได้ อย่างเช่น
1.ใครหรือพื้นที่ไหนเคยมีคดีกับทางกรุงเทพมหานคร จะไม่พิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิ์ เพราะกลายเป็นว่ากรุงเทพมหานครทำอะไร ก็ไม่สามารถมีใครไปฟ้องกรุงเทพมหานครได้ และขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ไม่ควรออกมา
2.จะให้มีการจับสลากผู้ค้า ซึ่งถ้าผู้ค้าต้องการพื้นที่ขาย ก็ยื่นเรื่องกับเขตเพื่อให้เปิดพื้นที่สำหรับให้ผู้ค้าในการค้าขาย แต่กติกาบอกว่าต้องมีการจับสลาก และไม่ได้พูดถึงสัดส่วน ทำให้คนที่ขายของอยู่แล้ว หากต้องการดำเนินการอย่างถูกต้องแล้วไปยื่นเรื่องกับสำนักงานเขต กลายเป็นไม่มีความมั่นคง เพราะท้ายที่สุดก็ต้องมาลุ้นการจับสลาก
“กลายเป็นว่าแทนที่กลุ่มผู้ค้าที่ไปยื่นเรื่องกับเขตเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง ก็ต้องกลับมาจับสลาก และไม่แน่ใจว่าเราจะได้เป็นผู้ค้า ทั้งที่เป็นคนริเริ่มว่าอยากทำเรื่องนี้ให้ถูกต้อง”นางพูลทรัพย์กล่าว
3. ผู้ค้าต้องมีที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ทำการค้า ซึ่งหากเป็นพื้นที่สีลมหรือสุขุมวิท ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยจะไปอยู่ได้อย่างไร เป็นข้อกำหนดที่ไม่ค่อยสอดคล้องเพราะในความเป็นจริง ผู้ค้าหลายคนต้องอยู่ชานเมืองและเข้ามาขายของในเมือง
4.กรณีที่มีการกำหนดคุณสมบัติผู้ค้า สมมติว่ากำหนดให้ผู้ค้าต้องเป็นผู้ถือบัตรคนจน ซึ่งในความเป็นจริงไม่ควรเป็นแบบนี้ เพราะผู้ค้าควรต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ มิเช่นนั้น ก็จะเกิดการขายสิทธิ์กันในอนาคต
“เหล่านี้เป็นเพียงบางที่ข้อยกตัวอย่าง โดยที่ผ่านมาได้มีนำข้อกำหนดทั้ง 16 ข้อมาพิจารณา และเสนอให้กรุงเทพมหานครได้มีการแก้ไข เพราะหลายข้อไม่สะดวกและไม่สอดคล้องความเป็นจริง โดยให้ได้หารือกับผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เท่าที่ทราบตอนนี้ได้มีการเสนอร่างการแก้ไขและส่งไปให้ทีมนโยบายของผู้ว่าฯชัชชาติ ซึ่งหากผู้ว่าฯบอกว่าเป็น 1 ใน 4 นโยบายเร่งด่วน ก็หวังว่าจะมีการแก้ไขและมอบเป็นของขวัญปีใหม่นี้”นางพูลทรัพย์กล่าว
หาบเร่แผงลอยอัตลักษณ์เมืองกรุง
นางพูลทรัพย์ กล่าวอีกว่า หาบเร่แผงลอยในกทม.ตัวเลขเดิมมีอยู่ประมาณ 2 แสนราย ซึ่งจะเกี่ยวพันกับคนเกือบล้าน เพราะถ้า 1 คนมีสมาชิกในครอบครัว 3-4 คน รวมถึง ผู้บริโภคและผู้ผลิตที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม หาบเร่แผงลอย ถูกมองใน 2 กลุ่มความคิดเห็น คือ คนกลุ่มหนึ่งมองเป็นการทำให้เมืองสกปรก กีดขวางทางเท้า ส่วนคนอีกกลุ่มมองเป็นส่วนที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ขณะเดียวกันก็ยังเป็นอัตลักษณ์และเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวของ แต่ไม่ว่ามุมมองไหน สิ่งที่คนทั้ง 2 กลุ่มเห็นตรงกันคือการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยนั้น คือสิ่งจำเป็น
“ช่วงนี้เป็นไฮซีซั่น ขณะเดียวกันเริ่มมีนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามามากขึ้น ซึ่งมี 2 ส่วน คือ 1.กลุ่มชาวบ้านคนกรุงเทพฯเอง ก็ต้องการความมั่นคงทางอาหาร ก็อยากจะได้หาบเร่แผงลอยที่มีการดำเนินการที่ดี และเมื่อประเทศเปิด มีคนเริ่มเข้ามาท่องเที่ยว ก็อยากเห็นการกระจายรายได้ ไม่ใช่เมื่อมีการท่องเที่ยว มีการค้าขาย แต่คนเล็กคนน้อยไม่มีโอกาส ก็จะกลับไปปัญหาเดิมคือรวยกระจุก จนกระจาย จึงต้องทำอย่างไรที่กรุงเทพมหานครจะมีแผนการที่จะทำให้เกิดการกระจายสิ่งเหล่านี้ได้”นางพูลทรัพย์กล่าว