"sex worker"อาชีพถูกตีตรา สิทธิ สวัสดิการ ความคุ้มครอง ที่ไม่เคยได้รับ

"sex worker"อาชีพถูกตีตรา สิทธิ สวัสดิการ ความคุ้มครอง ที่ไม่เคยได้รับ

หลายคนอาจไม่ยอมรับอาชีพ “sex worker” เพราะเป็นอาชีพขายบริการ โสเภณี และในประเทศไทยอาชีพนี้ถือว่าผิดกฎหมาย ถูกตีตราให้เป็นอาชญากร ทั้งที่พนักงานบริการเหล่านี้ล้วนเป็นคนธรรมดาที่ต้องการประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวของเขา

Sex Worker” ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญผลกระทบจากการห้ามการค้าประเวณี ทั้งการถูกล่อลวง การบังคับให้ขายบริการทางเพศ การใช้ความรุนแรงต่อผู้ให้บริการทางเพศ โดยขาดการเข้าถึงสิทธิเสรีภาพ สวัสดิการ อย่าง การรักษาพยาบาล การคุ้มครองดูแลจากภาครัฐ

ปัจจุบันประเทศไทยแม้ไม่มีการจัดทำสถิติจำนวนผู้ให้บริการทางเพศอย่างเป็นทางการ แต่จากการสำรวจของเว็บไซต์ Havocscope ที่สำรวจสถิติในธุรกิจสีเทาของโลก พบว่าในปี พ.ศ. 2558 มีจำนวนผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการให้บริการทางเพศทั่วโลก ประมาณ 13.8 ล้านคน และประเทศไทยมีผู้ให้บริการประมาณ 2.5 แสนคน หรือคิดเป็นอันดับ 8 ของโลก

\"sex worker\"อาชีพถูกตีตรา สิทธิ สวัสดิการ ความคุ้มครอง ที่ไม่เคยได้รับ

ผลการสำรวจ ยังชี้ว่าอุตสาหกรรมทางเพศในประเทศไทยสร้างรายได้ประมาณ 6.4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี แต่การค้าบริการทางเพศในไทยเป็นอาชีพในระบบเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) ไม่ถูกนำไปคิดคำนวณใน GDP จึงเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ถูกนับรวมในระบบเศรษฐกิจ แต่ในทางกฎหมายผู้ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศนั้นถูกนับรวมในฐานะอาชญากรที่รัฐสามารถจับกุมเอาผิดได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิดชีวิต 'หญิงขายบริการ' เอาตัวรอดอย่างไร ในวิกฤติ 'โควิด-19'

ทำความรู้จักอาชีพ “โสเภณี” ผ่านมุมมองของภาพยนตร์ “คังคุไบ”

พลวัตรการเคลื่อนย้ายงานของผู้ค้าบริการทางเพศในอาเซียน

จาก “คังคุไบ” สู่ความเป็นไปได้ของ “โสเภณี” ถูกกฎหมายในไทย

 

กฎหมายตีตรา "Sex worker" เป็นอาชญากร

ปัจจุบันกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศมีทั้งบทบัญญัติที่มุ่งแก้ไขปัญหาการค้าบริการทางเพศโดยตรงและโดยอ้อม โดยมีแนวคิดว่า การค้าบริการทางเพศ หรือการค้าประเวณีเป็นอาชญากรรม (Criminalization)

โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ที่กำหนดความผิดอาญาและกำหนดโทษสำหรับ Sex worker ในหลายกรณีไว้ เช่น การติดต่อชักชวนเพื่อการค้าประเวณี (หาลูกค้า) การโฆษณาการค้าประเวณี เป็นต้น

\"sex worker\"อาชีพถูกตีตรา สิทธิ สวัสดิการ ความคุ้มครอง ที่ไม่เคยได้รับ

เจตนารมณ์ของกฎหมายที่เน้นเพียงการลงโทษผู้ให้บริการทางเพศ ส่งผลให้พนักงานเจ้าหน้าที่มุ่งแต่จะบังคับใช้กฎหมายกับผู้ให้บริการทางเพศ โดยในช่วง ม.ค. - มิ.ย. ปี 2564 พบว่ามีกรณีการดำเนินคดีผู้ให้บริการทางเพศ 4 คดีเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ตรงกับจำนวนผู้ให้บริการทางเพศที่มีในปัจจุบัน

อีกทั้ง การกำหนดความผิดทางอาญาแก่ผู้ให้บริการทางเพศได้สร้างต้นทุนจำนวนมากในการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไปดำเนินการจับกุม รวมถึงระยะเวลาของกระบวนการในการดำเนินคดีทางกฎหมาย และยังเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตรับสินบนหรือการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ

 

Sex worker ในไทยมีมากกว่า 1 ล้านคน

"สุรางค์ จันทร์แย้ม" ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) เล่าว่าทำงานด้านการเคลื่อนไหวด้านสวัสดิการของผู้ค้าบริการทางเพศ หรือ Sex worker และผลักดันการแก้กฎหมายมานานกว่า 32 ปี ซึ่งอาชีพนี้ในปัจจุบันมี Sex worker มากกว่า 2 แสนคนตามการสำรวจของภาครัฐ โดยจากการทำงานคาดว่ามี Sex worker มากกว่า 1 ล้านคนในประเทศ และ 85% เป็นคนไทย คนกลุ่มนี้ถูกทำให้เป็นอาชีพผิดกฎหมายตั้งแต่มี พ.ร.บ. ปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 กำหนดโทษทั้งจำและปรับ รวมทั้งข้อความในนั้นอ่านได้ว่ารัฐไม่ต้องการให้การค้าบริการอยู่ในประเทศ

ต่อมา มีการแก้กฎหมายอีกครั้ง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เนื่องจากมองว่าการค้าประเวณีเกิดจากสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งเขียนกำหนดว่า “ผู้ทำการค้าประเวณีส่วนมากเป็นผู้ซึ่งด้อยสติปัญญาและการศึกษา สมควรลดโทษผู้กระทำการค้าประเวณี และเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ” แต่เมื่อดูกฎหมายทั้งฉบับกลับพบว่าไม่มีมาตราไหนใดที่คุ้มครอง มีแต่การบอกว่าให้ไปพัฒนาอาชีพ

“ภารกิจหลักของมูลนิธิ SWING คือ การส่งเสียงให้แก่รัฐเพื่อเกิดความเป็นธรรม และยอมรับความเป็นว่าอาชีพ Sex worker มีอยู่จริงในสังคมและมีมานาน ยิ่งนานวันยิ่งมีผู้ประกอบอาชีพด้านนี้มากขึ้น แต่เมื่อดูถึงการเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ และการคุ้มครอง กลับพบว่าอาชีพนี้ไม่ได้รับการดูแลอะไรจากภาครัฐเลย ดังนั้น ทางมูลนิธิ SWING กำลังอยู่ในช่วงทำร่างกฎกระทรวง และคาดว่าในช่วงเดือนม.ค.2566 นี้ จะมีการนำเสนอไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อให้อาชีพ Sex worker เป็นอาชีพงานบริการ  และมีเงื่อนไขที่จะทำให้การทำงานได้รับสิทธิ สวัสดิการและการคุ้มครองเหมือนกับอาชีพบริการอื่น” สุรางค์ เล่า

\"sex worker\"อาชีพถูกตีตรา สิทธิ สวัสดิการ ความคุ้มครอง ที่ไม่เคยได้รับ

โควิด-19 ซ้ำเติม Sex worker ไร้บ้าน ไม่มีแม้เงินทำศพ

ในช่วงโควิด-19 ผู้ประกอบอาชีพ Sex worker ได้รับผลกระทบเหมือนกับผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ แต่ในการช่วยเหลือ พวกเขาไม่สามารถรับการช่วยเหลือใดๆ ได้ ทำให้อาชีพนี้ก่อนจะเกิดโควิดก็ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากอยู่แล้ว  แต่โควิดยิ่งซ้ำเติมให้คนกลุ่มนี้ลำบากมากยิ่งขึ้น หลายๆ คนไม่มีแม้แต่เงินจะทานข้าว  หรือแม้แต่พ่อ แม่ คนในครอบครัวเสียชีวิตก็ไม่มีเงินทำศพ

สุรางค์ เล่าต่อว่า ตั้งแต่เกิดโควิด-19 มีการล็อกดาวน์ ปิดกิจการในสถานบันเทิง ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักมาก บางคนอาศัยพักนอนในสถานบันเทิง พอสถานบันเทิงปิดทำให้เขาไม่มีที่หลับนอน ต้องออกมาเป็น “คนไร้บ้าน” หรือHomeless และเมื่อปิดนานขึ้น นานขึ้น คนเหล่านี้ไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน  กลายเป็นผู้ถูกสังคมทอดทิ้ง  ไม่สามารถรับเงินเยียวยาช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐได้ และถ้าไปขอใช้สิทธิอะไรก็อาจจะถูกตำรวจจับหากรู้ว่าประกอบอาชีพ Sex worker

“ช่วงโควิด-19 เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส ถึงจะเป็นวิกฤตซ้ำเติมคนนี้มากกว่าโอกาส แต่อย่างน้อยผู้คนในสังคมให้ความสนใจ รู้จักและยอมรับอาชีพนี้มากขึ้น มูลนิธิ SWING ให้การช่วยเหลือ Sex workerมาโดยตลอด แต่เราก็ไม่ได้มีเงินมากมาย ที่ผ่านมาได้มีการเปิดกองทุนเพื่อช่วยเหลือ Sex worker พบว่า มีผู้คนบริจาคช่วยเหลือจำนวนมาก และเงินช่วยเหลือทั้งหมด ไม่ได้นำมาใช้ในมูลนิธิ เรานำไปช่วยเหลือ Sex worker ทั้งหมด เพราะในแต่ละวันจะมี Sex worker จำนวนหนึ่งมาขอเงินทานข้าว หรือเงินไปซื้อยารักษาโรคที่เขาเป็น”สุรางค์ กล่าว

สังคมยอมรับ Sex worker ร้องยกเลิกพ.ร.บ.ค้าประเวณี

สังคมได้ให้การช่วยเหลือ Sex worker มากขึ้น แต่ยังคงไม่เพียงพอ เพราะข้อจำกัดของ Sex worker คือ กฎหมายที่ตีตราพวกเขา และทำให้พวกเขาไม่ได้รับสิทธิ สวัสดิการ ที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้รับ

สุรางค์ เล่าต่อไปว่า การมีอยู่ของกฎหมาย พ.ร.บ.ค้าประเวณี ไม่ได้ทำให้เกิดการแก้ปัญหาการค้าบริการทางเพศอย่างถูกจุด เพราะกฎหมายมีกว่า 30 ปี แต่การค้าบริการทางเพศยังคงมีอยู่ และเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดังนั้น ควรจะมีการยกเลิกฎหมาย แล้วใช้กฎหมายที่มีอยู่ อย่าง พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ร.บ.แรงงาน เหมือนกับอาชีพอื่นๆ เพื่อทำให้ Sex worker ได้รับการปฎิบัติแบบที่มนุษย์ ผู้ประกอบอาชีพหนึ่งควรจะได้รับ โดยเฉพาะสิทธิ สวัสดิการ และการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน

สิ่งที่มีอยู่ตลอด กว่า 60 ปี เป็นความเชื่อทางกฎหมายที่ไม่สามารถเอาผิด หรือแก้ปัญหาการค้าประเวณีได้  ทั้งที่อาชีพนี้ ไม่ได้ทำร้ายใคร ไม่ได้ไปขโมย ปล้น ฆ่าใคร เพียงใช้สิทธิในร่างกายของตนเองในการทำมาหากิน ทำไมคนเหล่านี้ต้องประสบกับความไม่เท่าเทียมดังกล่าว

การมีอยู่ของกฎหมายดังกล่าว ทำให้คนทำงานถูกมองว่าเป็นอาชญากร  เป็นสิ่งที่ไม่ดี บาป ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธจึงไม่ควรมีสิ่งนี้  โดยมุมมองที่กล่าวขึ้นเป็นกรอบที่นำมาสู่การเลือกปฏิบัติ และผลัก sex woker ออกจากความเป็นคนและมนุษย์ เช่น มีคำศัพท์เรียกผู้ค้าบริการว่า  ผีขนุน’ ‘ผีมะขาม ทำให้สังคมถูกสะกดจิต ตามมาด้วยความรุนแรง

“บ่อยครั้งที่พี่น้อง Sex worker ถูกทำร้ายร่างกาย เมื่อผู้คนพบเห็น หรือไปแจ้งความขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ กลับถูกดำเนินคดีในข้อหาค้าประเวณี อาชีพนี้ไม่ได้ถูกเหลียวแลจากภาครัฐ ทำให้เกิดภาพความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ได้ถูกให้ค่าของความเป็นคน ทุกคนที่ประกอบอาชีพ Sex worker เขาเพียงทำงานหารายได้ที่ไม่ได้มากมายนักเพื่อเลี้ยงครอบครัว อยากให้ภาครัฐให้สิทธิความเป็นคนแก่ Sex worker ยกเลิกกฎหมาย หรือการกระทำที่ไม่ได้คุ้มครองพวกเขา” สุรางค์ กล่าว

สังคมส่งเสียงถึงภาครัฐ ให้สิทธิ สวัสดิการคุ้มครองคนทุกอาชีพ

หากทุกคนนึกย้อนกลับไป ถ้าวันหนึ่งเราเลือกไม่ได้ว่าต้องประกอบอาชีพอะไร และเลือกเราที่จะประกอบอาชีพ Sex worker เราใช้เนื้อตัวร่างกายของเราทำงาน โดยไม่ได้เบียดเบียนใคร ถ้าเราถูกรังเกียจ ถูกประนาม ในสังคมนี้เราจะเป็นอย่างไร อยากให้ทุกคนมองคน Sex worker เหมือนกับอาชีพอื่นๆ เราต้องไม่ไปนั่งดูถูกใคร ไปว่าใคร ไม่ว่าเขาจะประกอบอาชีพอะไร หรือเพศอะไร เรารู้สึกเสียใจอะไร เรารู้สึกรักอะไรพวกเขาก็มีความรู้สึก และนึกคิดเหมือนเรา อย่ามองว่าเขาเป็นโสเภณี เป็น Sex worker แต่ให้มองว่าเขากำลังประกอบอาชีพอาชีพหนึ่งเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง ครอบครัวของเขาเท่านั้น

สุรางค์ เล่าด้วยว่าคนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน ทุกคนมีโอกาสแตกต่างกัน หลายคนอาจเลือกอาชีพของตนเองได้ แต่มีอีกหลายคนไม่สามารถเลือกได้ สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ คือ ให้โอกาสผู้อื่น และไม่ซ้ำเติมผู้อื่น ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องไม่ด้อยค่าคนกลุ่มนี้  อยากให้ทุกคนช่วยส่งเสียงยกเลิก พ.ร.บ การค้าประเวณี ที่ไม่ได้คุ้มครองความเป็นมนุษย์ของ Sex worker 

"การทำงานของมูลนิธิฯ ไม่ได้เป็นการประจานภาครัฐ หรือบอกว่าเราทำดีกว่ารัฐ แต่เราอยากสะท้อนให้เห็นว่ารัฐลืมคนกลุ่มนี้หรือไม่ อยากให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในช่วยดูแลคนกลุ่มนี้ เพราะหากพวกเขามีโอกาส ก็สามารถทำอาชีพอื่นได้เหมือนคนอื่นๆ แต่ตอนนี้เขายังขาดการช่วยเหลือที่ควรได้รับ"สุรางค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพี่น้อง Sex worker  สุรางค์ กล่าวทิ้งท้ายอย่างห่วงใยว่า อยากให้พวกเราดูแลตัวเอง และภูมิใจตัวเอง รักตัวเอง เขารู้ดีว่าทำไมถึงต้องเลือกงานนี้ เขาต้องดูแลพี่น้องหรือครอบครัวจำนวนมาก มีปัญหาอะไรขอให้ติดตามมายังมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ Swing Thailand