“เตรียมพร้อมหรือยัง”
มีข้อคิดมาฝาก สำหรับปีใหม่ 2566 นี้ครับ
ผมได้ฟังคำสอนที่เข้าใจง่าย และคิดว่าคนทั่วไปน่าจะปฏิบัติได้ จึงขอนำมาถ่ายทอดครับ เป็นของ พระไพศาล วิสาโล เรื่องการเดินทางของมนุษย์ ซึ่งท่านบอกว่ามนุษย์เราเดินทางไปสู่เป้าหมาย 2 อย่าง
หนึ่ง คือไปสู่ “จุดหมายของชีวิต” และ สอง คือไปสู่ “ปลายทางของชีวิต” ซึ่งจุดหมายของชีวิต ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป บางคนอยากเป็นนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ บางคนอยากเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง บางคนอยากเป็นรัฐมนตรี ฯลฯ
แต่ไม่ว่าจุดหมายของชีวิต จะแตกต่างกันอย่างไร ในที่สุดทุกคนก็ไปถึงปลายทางของชีวิต ที่เหมือนกันหมด
ท่านพูดมาถึงตรงนี้ ผมนึกในใจว่า ก็เป็นเรื่องที่ใครๆทราบดีอยู่ ใจผมอยากฟังมากกว่านั้น และคิดว่าท่านมีคงจะมีคำแนะนำ ในเรื่องการเดินทางนี้
เหมือนรู้ใจ ท่านกล่าวต่อทันทีว่า จุดหมายของชีวิตนั้น บางคนก็ไปถึง บางคนก็ไปไม่ถึง ส่วนปลายทางของชีวิต บางคนไปถึงในเวลาอันควรและอย่างสงบ บางคนไปถึงก่อนเวลาอันควร ด้วยความเจ็บป่วยหรือเจ็บปวด
พระอาจารย์บอกว่า เราต้องรู้จัก “เตรียมความพร้อม” เพราะเมื่อถึงเวลานั้น แม้กายจะปวดร้าว แต่ถ้าเตรียมตัวมาดี เราจะยังรักษาความสงบของใจไว้ได้ ตรงนี้สิครับ น่าสนใจ
ท่านบอกว่า เราต้องเตรียมตัว 3 อย่างด้วยกันครับ
หนึ่ง คือ “ทำความดีงาม” เช่นทำบุญ ทำทาน และช่วยเหลือผู้คนไว้มากๆ เพราะเมื่อเราทำสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง จิตใจของเราก็มีความสุข เมื่อถึงปลายทาง เราก็จะไปถึงอย่างอิ่มบุญ อิ่มความดีงาม และผลก็คือจิตใจสงบ
สอง คือ “ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” ดูแลคุณพ่อคุณแม่ ดูแลคู่สมรส ดูแลบุตรธิดา ให้เวลาและความอบอุ่นแก่คนในครอบครัว เพราะถ้าทำเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อไปถึงปลายทาง ใจเราก็จะสงบเช่นกัน
เราจะไม่เกิดความรู้สึก “เสียดาย” ว่าวันเวลาที่ผ่านไป ทำไมเราไม่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ให้แก่คนในครอบครัวของเรานะ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นก็รู้สึกไม่สงบแน่
พระอาจารย์ยกตัวอย่างประกอบ ท่านกล่าวถึงบุคคลผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง แม้ไม่ได้กล่าวนาม แต่ผู้ฟังก็พอทราบว่าหมายถึงใคร บุคคลท่านนั้น พอเดินทางไปถึงปลายทางชีวิต เขารู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านไป
เพราะได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อไปสู่ “จุดหมายของชีวิต” จนประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักของคนในสังคม แต่กลับลืมให้เวลา แก่พ่อแม่ ภรรยา และลูกๆเท่าที่ควร พอนึกได้ ก็เกือบถึงปลายทาง และทำอะไรไม่ได้เสียแล้ว
พระอาจารย์เล่าเรื่องของผู้ชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีทารกน้อยที่เพิ่งลืมตามาสู่โลก แต่เขากลับทอดทิ้งลูกน้อยและครอบครัวไป ไม่เคยเหลียวแลหรือพบลูกชายคนนี้อีกเลย
เวลาผ่านไป 30 ปี เขามาถึงปลายทางของชีวิต วันนั้นรู้สึกผิด และขอร้องผู้คนรอบข้างว่า อยากเห็นหน้าลูกชายคนนี้สักครั้ง ช่วยไปบอกให้ลูกชายมาพบด้วย เรื่องนี้ฟังแล้วน่าเศร้าใจนะครับ
ข้อที่สาม คือ “การปล่อยวาง” หมายถึง ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น เมื่อถึงปลายทางชีวิต เราก็จะยังห่วงนั่น ห่วงนี่ จิตใจไม่สงบ
ท่านยกตัวอย่างบุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่ทำอะไรจริงจัง เขากำลังสร้างอุโบสถให้วัด แต่ปลายทางชีวิตได้มาถึงเสียก่อน อุโบสถยังไม่สำเร็จ เขามีอาการกระสับกระส่ายตลอดเวลา
เพื่อนคนหนึ่ง ก้มลงไปกระซิบที่หูว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องอุโบสถนะ พวกเราจะช่วยกันสร้างให้เสร็จอย่างแน่นอน หลังจากนั้นท่านผู้นี้ก็สงบลงทันที
ผมเห็นว่าการเตรียมตัวทั้ง 3 เรื่องที่ท่านสอนนั้น เข้าใจง่าย และใครๆก็ปฏิบัติได้ คนทำงานทั่วไป ที่ไม่ได้มีโอกาสไปวัดไปวาบ่อยๆ หรือปฏิบัติธรรมบ่อยๆ ก็พอทำได้ แต่จะทำได้มากน้อยเพียงใด ก็อยู่ที่แต่ละคน
ที่สำคัญคือ พระอาจารย์บอกว่าการเตรียมตัวทั้งสามข้อนี้ เราต้องเตรียมไว้ ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่เริ่มทำเมื่อเดินทางใกล้ถึงปลายทางชีวิตแล้ว ตรงนี้ชัดเจนครับ ผมว่าเหมือนการสอบไล่ ต้องเตรียมอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ไปเร่งอ่านก่อนสอบเพียงวันเดียว
ถ้ามัวแต่รอ เมื่อไรจะได้ทำล่ะครับ และถ้าปลายทางชีวิตมาถึงเร็ว ก็หมดเวลาทำเสียก่อน ดังตัวอย่างที่ท่านได้เล่าไว้ข้างต้น
ระหว่างนั่งฟัง ผมแอบถามตัวเองว่า ผมได้ทำตาม หนึ่ง สอง สาม มากน้อยแค่ไหน ผมตอบตัวเองว่า ทำพอสมควรและในเวลานี้จิตใจก็ค่อนข้างสงบ เพียงแต่ยังต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า อย่าหยุดทำนะ
ถ้าผมถ่ายทอดคำสอนของพระอาจารย์ ขาดตกบกพร่องประการใด ขอประทานอภัยด้วย และขอขอบพระคุณ ท่านเจ้าภาพ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ที่ได้กราบนิมนต์ท่านไปให้ข้อคิดดีๆในวันนั้น
ปีใหม่ 2566 นี้ ใครๆก็ตั้งความหวังดีๆ ผมหวังว่าคำสอนของพระอาจารย์ ที่ผมนำมาถ่ายทอดนี้ จะเป็นแนวทางให้ท่านนำไปทบทวนว่า ท่านได้เตรียมพร้อมใน 3 ข้อนี้แล้วหรือยัง และมากน้อยเพียงใด
ต้องรีบทบทวนนะครับ อย่าช้าไปแม้แต่วันเดียว
เพราะคนเรานั้น ปลายทางชีวิต อาจมาถึงก่อนที่จะถึงจุดหมายของชีวิตด้วยซ้ำ
เมื่อเราต่างไม่รู้ว่าปลายทางจะมาถึงเมื่อใด เราจึงต้องไม่ประมาท และอย่าปล่อยให้โอกาสในการเตรียมความพร้อมนั้น ผ่านไป…
แม้แต่นาทีเดียว