ปภ.เตือน 11 จังหวัดภาคใต้ รับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่า คลื่นลมแรง 20-25 ม.ค.
ปภ.เตือน 11 จังหวัดภาคใต้ เตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน – น้ำป่าไหลหลาก – คลื่นลมแรง ช่วง 20 – 25 ม.ค.66 ด้าน มท.3 สั่งการเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย – เตรียมพร้อมเผชิญเหตุ - ช่วยเหลือประชาชนเต็มกำลัง
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 เวลา 15.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศฉบับที่ 1 (22/2566) ลงวันที่ 19 มกราคม 2566 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีกำลังแรง มีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 20 – 25 มกราคม 2566 ดังนี้
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง
- สุราษฎร์ธานี (อ.กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก พนม เวียงสระ เกาะสมุย เกาะพะงัน)
- นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ขนอม เชียรใหญ่ เฉลิมพระเกียรติ ท่าศาลา นบพิตำ ปากพนัง พรหมคีรี พระพรหม ร่อนพิบูลย์ ลานสกา สิชล)
- พัทลุง (อ.เมืองฯ กงหรา เขาชัยสน ควนขนุน ตะโหมด บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน ศรีนครินทร์)
- สงขลา (อ.เมืองฯ กระแสสินธุ์ ควนเนียง จะนะ เทพา บางกล่ำ ระโนด รัตภูมิ หาดใหญ่)
- ปัตตานี (อ.เมืองฯ กะพ้อ โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก)
- ยะลา (อ.เมืองฯ รามัน ยะหา กาบัง)
- นราธิวาส (อ.เมืองฯ จะแนะ เจาะไอร้อง ตากใบ บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ แว้ง สุคิริน สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี)
- ภูเก็ต (อ.เมืองฯ)
- กระบี่ (อ.เกาะลันตา เหนือคลอง)
- ตรัง (อ.กันตัง หาดสำราญ)
- สตูล (อ.เมืองฯ)
พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง
- นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ขนอม สิชล ท่าศาลา ปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่)
- สงขลา (อ.เมืองฯ ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงหนคร จะนะ เทพา)
- ปัตตานี (อ.เมืองฯ หนองจิก ยะหริ่ง ปะนาเระ สายบุรี ไม้แก่น)
กอปภ.ก. จึงได้ประสานแจ้ง 11 จังหวัดภาคใต้ และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา เขต18 ภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามปริมาณฝนตกในแต่ละจุดอย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่มีฝนตกหนัก และปริมาณฝนตกสะสม
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำ น้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่ รวมถึงจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) และเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนทันที ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย
สำหรับพื้นที่ คลื่นลมแรง ให้แจ้งเตือนห้ามลงเล่นน้ำทะเล เดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง ให้พิจารณาสั่งห้ามการเดินเรือโดยเด็ดขาดทั้งนี้ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) ห่วงใยประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย จึงได้สั่งการให้ ปภ. กำชับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานการปฏิบัติกับจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้การเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว อีกทั้งมุ่งดูแลความปลอดภัยและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้สามารถดำเนินชีวิตท่ามกลางสถานการณ์ภัยได้