8 ยาพิษฆ่าเด็ก | วรากรณ์ สามโกเศศ

8 ยาพิษฆ่าเด็ก | วรากรณ์ สามโกเศศ

“วันเด็ก” ที่ผ่านมา เตือนให้นึกถึงความสำคัญของเด็กว่ากลุ่มสมาชิกสำคัญของสังคมนี้จะมาแทนที่พวกเราในอนาคต การสะท้อนคิดเช่นนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกเหตุการณ์สำคัญจะเกิดเป็นมรรคผลขึ้นมาก็ต่อเมื่อสังคมสะท้อนคิดจนเกิดประเด็นเพื่อพิจารณา

ผู้เขียนได้พบคลิปชื่อ 8 Toxic Things Parents Say To their Children ที่เว็บ psych2go.net ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีคำพูดต้องห้าม หรือยาพิษสำหรับเด็ก เพราะการใช้วาจายาพิษจะไปทำลายจิตใจและการพัฒนาบุคลิกภาพของเขาอย่างยิ่ง

ผู้เขียนนึกถึงสุภาษิตแอฟริกันที่กล่าวถึงการเลี้ยงดูเด็ก กับคำพูดของขงจื๊อเรื่องคำพูดที่เป็นพิษเมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อน ดังนี้ “ต้องใช้ทั้งหมู่บ้านเพื่ออุ้มชูเลี้ยงดูเด็กสักคน” กับ “แผลหอกดาบเหือดแห้งแต่คำพูดอันเจ็บปวดสร้างแผลมิรู้หาย”

คนที่อุ้มชูดูแลเด็กในบริบทของสังคมไทยนอกจากพ่อแม่แล้วก็ยังมีปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา และญาติมิตรทั้งหลายอีก ที่มักพูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเด็กและพูดจา สั่งสอนเด็กซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่บ่อยครั้งคำพูดเหล่านี้กลายเป็นพิษภัยอย่างร้ายแรงแก่เด็กโดยไม่รู้ตัว

8 ยาพิษฆ่าเด็ก | วรากรณ์ สามโกเศศ

คำกล่าวของขงจื๊อชี้ให้เห็นความสำคัญของคำพูด ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม สามารถสร้างแผลในใจของคนหนึ่งได้ไปตลอดชีวิต

คำพูดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อใช้กับเด็ก เด็กซึ่งเป็นสิ่งเปราะบาง งานวิจัยปัจจุบันพบว่าช่วงอายุ 0 ถึง 6 ขวบนั้นสำคัญเป็นพิเศษ

เด็กจะมีบุคลิกภาพอย่างไร จะมีความมั่นใจในตัวเอง เห็นคุณค่าและความสำคัญของตนเอง ไว้วางใจคนอื่น มีความรักให้คนอื่น สามารถปรับชีวิตเข้ากับคนอื่น มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น มีจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมชีวิตของเขาซึ่งส่วนหนึ่งสร้างโดยคำพูดของผู้ใหญ่

  • มี 8 ชนิดคำพูดหรือเรียกว่ายาพิษที่ห้ามพูดกับเด็กไม่ว่าในวัยใดก็ตามดังต่อไปนี้

(1) กล่าวถึงตัวเด็กในทางลบ เช่น “เธอหน้าตาน่าเกลียด” “เธออ้วนไป” “ผอมไป” “ผมเธอหยิกไม่น่าดูเลย” ฯลฯ คำพูดลักษณะนี้ทำให้เด็กมีภาพลักษณ์เกี่ยวกับตนเองไปในทางลบ

เนื่องจากเด็กมักเชื่อสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดเพราะยังมิได้อยู่ในวัยที่สามารถใช้วิจารณญาณของตนเองได้ เมื่อมีคนบอกว่าหน้าตาหรือลักษณะของตนเป็นไปอย่างนั้นก็ปักใจเชื่อและมีผลต่อความเชื่อมั่นในตนเอง

(2) กล่าวถึงการกระทำของเด็ก เช่น “ทำไมเธอเดินเอียงๆ แบบนั้น” “เธอเคี้ยวอาหารน่าเกลียดจัง” “เธอพูดช้าและไม่ชัด” ฯลฯ คำพูดลักษณะนี้ทำให้เด็กเกิดความสงสัยในตัวเองว่าจะไม่เป็นปกติเช่นคนอื่นและไม่เป็นที่ยอมรับ ความเชื่อเช่นนี้บั่นทอนการเห็นคุณค่าของตนเอง

8 ยาพิษฆ่าเด็ก | วรากรณ์ สามโกเศศ

(3) แสดงออกถึงความปรารถนาที่เห็นแก่ตัว เช่น “ลูกไม่น่าเกิดมาเลย” “ถ้าย้อนเวลาไปได้ฉันทำแท้งไม่ให้แกเกิดมาแล้ว” ฯลฯ คำพูดลักษณะนี้เป็นการพูดเพื่อเยียวยาทางจิตวิทยาของผู้พูดแต่เป็นการทำร้ายจิตใจเด็ก

(4) กล่าวว่าเป็นภาระ “อยากให้เด็กคนอื่นเกิดมาเป็นลูกฉัน” “เธอทำให้พ่อแม่จนไปหลายปี” “เธอทำให้พ่อแม่ต้องมีภาระเพิ่มขึ้นมากมาย” ฯลฯ ยาพิษร้ายแรงนี้ทำลายจิตใจและการพัฒนาของเด็กมากเพราะเขาจะเห็นว่าตนเองเป็นภาระของพ่อแม่

ทั้งหมดนี้ตรงข้ามกับสิ่งที่ควรกระทำคือทำให้เขาตระหนักว่ามีคนรักและต้องการเขาเสมอและเขาเป็นสิ่งมีค่าของพ่อแม่

(5) กล่าวในเชิงเปรียบเทียบ ทำไมแกไม่เก่งเหมือนลูกข้างบ้านเลย” “พี่น้องๆ เขาเก่งกว่าแกแยะเลย” “แกทำไมไม่ฉลาดเหมือนเด็กคนอื่นๆ” “ทำไมจึงงุ่มง่ามผิดจากเด็กคนอื่นๆ” “สมองแกช้ากว่าชาวบ้านมาก” ฯลฯ

ยาพิษลักษณะนี้หากใส่ลงในสมองทุกวันจะทำให้เขาขาดความเชื่อว่าตนเองมีความสำคัญ เป็นคนที่ไม่เอาไหน สู้คนอื่นๆ ไม่ได้เลย เมื่อเขาเชื่ออย่างนี้เพราะมีคนบอกอยู่บ่อยๆ เขาก็จะมีพฤติกรรมเช่นนั้นขึ้นมาจริงๆ

(6) กล่าวทำนายเด็กในทางลบ “แกมันโง่ชาตินี้ไปไม่รอดแน่” “แกมันโง่จริงๆ อย่างนี้เรียนหนังสือ ป.6 ก็พอแล้ว” “โตขึ้นอย่าไปทำอะไรเลย มันเจ๊งหมด” ฯลฯ ยาพิษที่ร้ายแรงนี้ทำร้ายจิตใจเด็กอย่างมาก บาดแผลที่เกิดขึ้นในใจจะหายได้ยากถึงแม้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม

(7) กล่าวว่าจะทอดทิ้ง “จะไม่เลี้ยงแกแล้วถ้าโง่แบบนี้” “จะเอาไปทิ้งน้ำหรือปล่อยในป่าดี” “ตื่นขึ้นไม่เจอฉันแน่” “จะเอาไปส่งบ้านเลี้ยงเด็กแล้ว” ฯลฯ เมื่อได้ยินเด็กจะรู้สึกหวาดหวั่นไม่มั่นคงจนมีผลต่อความไว้วางใจผู้อื่น 

(8) สัญญาแต่ไม่ปฏิบัติตาม “พรุ่งนี้จะพาไปเที่ยว” “ถ้าสอบผ่านจะพาไปสวนสัตว์” “จะซื้อเสื้อใหม่ให้เมื่อเปิดเทอม” ฯลฯ สัญญาที่ว่างเปล่าเพราะไม่เคยทำตามคำที่ให้ไว้จะช่วยทำให้ความไว้วางใจที่มีต่อโลกน้อยลงมาก

คำพูดเหล่านี้อย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็มีผลต่อการพัฒนาด้านจิตใจและบุคลิกภาพในเวลาต่อมาของเด็กเช่นกัน เด็กเป็นผลพวงของสิ่งแวดล้อมที่ผู้ใหญ่สร้างให้ เมื่อยาพิษฟุ้งกระจายอยู่โดยรอบ การคาดหวังว่าจะให้เด็กเติบโตมาอย่างเป็นปกติในด้านจิตใจจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก

ผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องพูดเพื่อให้เด็กเห็นว่า เขาอยู่ท่ามกลางความรักและความหวังดีอย่างไม่มีเงื่อนไข ทำให้เด็กรักและเห็นคุณค่าของตนเอง มีความเชื่อมั่นและเห็นความสำคัญของตนเอง มีความรักและไว้วางใจผู้อื่น ฯลฯ สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องระวังอย่างที่สุดก็คือการพูดในลักษณะยาพิษแปดอย่างในยามโกรธ ซึ่งมิได้หมายความจริงตามที่พูด 

แต่สำหรับเด็กแล้วคำพูดจะฝังใจยาวนานและมีผลต่อจิตใจและบุคลิกภาพ ถึงแม้จะมีการขอโทษในเวลาต่อมาว่ามิได้หมายความตามที่พูด

แต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้วอุปมาเหมือนการล้างท้องเอายาพิษออก แต่ไม่ว่าจะล้างดีอย่างไรก็มิวายมีพิษเหลือตกค้างที่อาจทำลายสุขภาพในอนาคตอยู่ดี