‘เมอร์เคิล แคปปิตอล’ เตือน! ภาวะ Stagflation หลังเฟด คงดอกเบี้ย

เมอร์เคิล แคปปิตอล มองภาวะ Stagflation และนโยบายภาษี Trump เป็นความไม่แน่นอน หากเงินเฟ้อลด และ เฟดส่งสัญญาณชัด อาจเป็นบวกต่อ หุ้น-คริปโท
KEY
POINTS
- Fed คงดอกเบี้ย ที่ 4.25-4.5
ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยที่ 4.25-4.5% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน แม้ว่าสัญญาณทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นถึงการชะลอตัว และความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามการค้าของสหรัฐ กับจีนจะเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม FED เลือกที่จะลดความสำคัญของความเสี่ยงเหล่านี้ โดยกล่าวว่า ผลกระทบด้านเงินเฟ้อจากมาตรการภาษีเป็นเพียงแค่ “ชั่วคราว” (transitory) และไม่จำเป็นต้องดำเนินการตอบโต้ทันที
โดยคำดังกล่าวนี้เคยเป็นแนวคิดที่ Fed เคยใช้ผิดพลาดในช่วงที่เงินเฟ้อพุ่งสูง ช่วงหลังโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัย ในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่าเป็นการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำเกินไป โดยไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่มาตรการดังกล่าวอาจส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน หาก Fed สูญเสียการควบคุมด้านเงินเฟ้อสิ่งนี้อาจจะให้ การลดเงินเฟ้อในอนาคตอาจต้องใช้มาตรการที่หนักต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน
แม้ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน บ่งชี้ว่าผู้บริโภคคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 3.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี แต่อย่างไรก็ตามพาวเวล กลับมองว่าข้อมูลดังกล่าวเป็น “ค่าผิดปกติ” (outlier) และไม่ใช่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากเกินไป
นอกจากนี้ เขายังแสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงแข็งแกร่ง และตัวชี้วัดที่เป็นข้อมูลจริง ยังคงแสดงถึงความมั่นคงของตลาดแรงงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ Fed ยังไม่จำเป็นต้องรีบลดดอกเบี้ยในขณะนี้
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้แพลตฟอร์ม Truth Social กดดันให้ Fed ลดอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่ามาตรการภาษีของสหรัฐ กำลังเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และเป็นเวลาที่ Fed ควร “ทำในสิ่งที่ถูกต้อง”
พร้อมทั้งกล่าวว่า วันที่ 2 เมษายน คือวันปลดปล่อยของอเมริกา การที่ Fed ยังคงดอกเบี้ยในระดับสูงและสร้างแรงกดดันต่อภาคธุรกิจ และผู้บริโภค ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง ทว่าพาวเวลยังคงรักษาจุดยืนว่าการลดดอกเบี้ยต้องเกิดขึ้นในจังหวะที่เหมาะสมเท่านั้น
ทั้งนี้ มุมมองของนักวิเคราะห์ Merkle Capital เชื่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่ FED ยังไม่มีท่าทีชัดเจนในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
สถานการณ์ดังกล่าวกำลังสร้างความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ (Stagflation) ซึ่งเป็นภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อยังคงสูงอยู่ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ Fed ยังคงระมัดระวัง และเลือกใช้นโยบายแบบรอดูท่าที โดยให้น้ำหนักกับการควบคุมเงินเฟ้อมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างแรงกดดัน และความไม่แน่นอนให้กับตลาดคือ ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องนโยบายภาษีที่ยังไม่มีความชัดเจน มองว่าผลกระทบจากนโยบายภาษีจะเริ่มชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่ได้สะท้อนอย่างเต็มที่ ซึ่งหากนโยบายภาษีมีแนวโน้มไม่เอื้อต่อการเติบโต หรือสร้างภาระให้กับภาคธุรกิจภายในประเทศก็อาจกดดันสินทรัพย์เสี่ยงให้ปรับตัวลงในระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม หากตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐ เริ่มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และ Fed มีสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นว่าจะปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี นั่นอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน และส่งผลเชิงบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น และคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งตอบสนองต่อสภาพคล่องได้อย่างรวดเร็ว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์