กรมอนามัย แนะ 7 วิธีรับมือฝุ่น PM 2.5 ที่จะรุนแรงขึ้นใน กทม.

กรมอนามัย แนะ 7 วิธีรับมือฝุ่น PM 2.5 ที่จะรุนแรงขึ้นใน กทม.

กรมอนามัย แนะ 7 วิธีรับมือฝุ่น PM2.5 ที่จะรุนแรงขึ้นใน กทม. ช่วงวันที่ 27 ม.ค. ถึง 1 ก.พ. 66 สำหรับ ปชช.ทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงวัย หญิงมีครรภ์ คนมีโรคประจำตัว

นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานเฝ้าระวังของกรมควบคุมมลพิษและกรุงเทพมหานคร สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงวันที่ 27-28 มกราคม 2566 และ 31 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2566 เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระบบต่าง ๆ เช่น ระบบตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และระบบหัวใจและหลอดเลือด หากร่างกายได้รับสัมผัส PM 2.5 เข้าไป จะก่อให้เกิดอาการต่างๆ โดยความรุนแรงของอาการมีตั้งแต่

  • ระดับเล็กน้อย เช่น แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก มีน้ำมูก แสบจมูก แสบคอ ไอแห้งๆ คันตามร่างกาย มีผื่น อาการ
  • ระดับปานกลาง เช่น ตาแดง มองภาพไม่ชัด เลือดกำเดาไหล เสียงแหบ ไอมีเสมหะ หัวใจเต้นเร็ว
  • ระดับรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่าย หากมีอาการรุนแรง ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
     

นายแพทย์เอกชัย กล่าวต่อไปว่า ประชาชนควรเฝ้าระวังและป้องกันตนเองจาก PM 2.5 ดังนี้

1.) ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ จากสื่อหรือช่องทางต่าง ๆ ในพื้นที่ ได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุชุมชน เป็นต้น โดยให้สังเกตสีเป็นหลัก หากเป็นสีส้มและสีแดง ซึ่งเป็นค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

2.) ประเมินตนเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่น มีอาชีพอยู่กลางแจ้งต้องสัมผัสฝุ่นเป็นเวลานานหรืออาศัยในพื้นที่เสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด หากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นและต้องดูแลป้องกันตนเองเป็นพิเศษ

3.) ในช่วงที่ฝุ่นละอองสูง ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน

4.) ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นสูง ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทั้งหน้ากากอนามัยหรือ N95 สามารถเลือกสวมได้ความตามเหมาะสมของแต่ละกลุ่ม หรือสวมหน้ากาก 2 ชั้นได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกรองฝุ่นได้
 

5.) ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดในช่วงฝุ่นสูง ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ โดยการเช็ด/ถู แบบเปียก

6) หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในบริเวณที่มีฝุ่นสูง เช่น ริมถนน และห้ามสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นทุกชนิดขณะออกกำลังกายโดยเด็ดขาด หรือเปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้าน

7) สังเกตอาการผิดปกติของร่างกายและคนในครอบครัว หากพบว่ามีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรืออาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ให้รีบพบแพทย์ทันที

ทั้งนี้ ในช่วงที่ฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โรงเรียน และศูนย์เด็กเล็ก ควรมีการสื่อสารสถานการณ์ และให้ความรู้แก่นักเรียนถึงอันตรายและวิธีการป้องกันตนเองที่ถูกต้อง เมื่อค่า PM 2.5 อยู่ในระดับสีเหลือง-ส้ม ควรลดหรืองดกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งการเข้าแถวหน้าเสาธงหรือพลศึกษา ส่วนเด็กที่มีโรคประจำตัว หรือเด็กเล็ก ควรได้รับการดูแลและเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด โดยจัดให้มีห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียน สำหรับมาตรการปิดโรงเรียน ขอให้แต่ละโรงเรียนประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน โดยอาจพิจารณาจากทั้งสถานการณ์ PM 2.5  สภาพแวดล้อมและการความปลอดภัยในโรงเรียนและสถานการณ์สุขภาพ 

สำหรับสถานที่ทำงาน สถานประกอบการ ให้พิจารณากำหนดมาตรการในการลดฝุ่นละออง เช่น carpool หากสถานการณ์ PM 2.5 อยู่ในระดับสีส้ม (> 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) อาจพิจารณาให้กลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจเป็นพิเศษ อยู่ในห้องปลอดฝุ่น ลดการทำงานกลางแจ้ง เพื่อลดการรับสัมผัสฝุ่น หรือสำหรับงานที่สามารถทำงานทางไกลได้ อาจพิจารณาให้ WFH ได้ตามความเหมาะสม