ความเสี่ยง คือ ต้นตอของความสูญเสีย
ความจริงในวันนี้ ก็คือ เราทุกคนต่างอยู่ท่ามกลาง “ความเสี่ยง” ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเราทุกคน (ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และไม่มากก็น้อย)
เพียงอาทิตย์เดียว เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงขั้นระเบิด 2 ครั้ง ซึ่งถือเป็น “ภัย” ที่ใกล้ตัวเราทุกคน ได้แก่ (1) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 เวลา 13.20 น. มีรายงานข่าวทางออนไลน์ว่า “เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานบรรจุแก๊สใกล้วัดปัญจะ ที่ลำลูกกา คลอง5 จ.ปทุมธานี เบื้องต้นพบว่า เกิดจากสารเคมีรั่วไหลจนระเบิดต่อเนื่องเป็นระยะๆ เสียงดังได้ยินถึงคลอง 4 ………”
และ (2) เมื่อเวลา 17:50 น. ของวันที่ 30 ม.ค.2566 มีรายงานข่าวจากช่อง 29 ว่า “เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงที่ร้านขายแก๊ส ประเทศอินโดนีเซีย...”
ความจริงในวันนี้ ก็คือ เราทุกคนต่างอยู่ท่ามกลาง “ความเสี่ยง” ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเราทุกคน (ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และไม่มากก็น้อย)
โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการ ความประมาทของผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงความไม่รับผิดชอบของผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรม แต่ (โชคดี) ที่ความเสี่ยงส่วนใหญ่ สามารถแก้ไขและบริหารจัดการให้หมดไปหรือลดลงได้
ปัญหาอยู่ที่ว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า รอบตัวเรามีอะไรที่เสี่ยงบ้าง ในบ้านเรือนที่เราพักอาศัย (รวมถึงระแวกใกล้เคียง) ในสถานที่ทำงาน หรือในโรงงาน มีจุดไหนที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้บ้าง ซึ่งหากเรารู้ เราก็จะระมัดระวังเป็นพิเศษได้ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียในอนาคต
ในทางวิชาการด้าน “วิศวกรรมความปลอดภัย” (Safety Engineering) แล้ว เราเรียก “วิธีการค้นหาและบริหารจัดการความเสี่ยง” ว่า “การประเมินความเสี่ยง” (Risk Assessment) เพื่อจะได้ดูว่ามีจุดเสี่ยงหรืออันตรายที่ไหนบ้าง และมีอันตรายมากน้อยเพียงใด
เพื่อจะได้หาทางแก้ไขป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงหรืออันตรายนั้นๆ เกิดขึ้น เพื่อไม่ทำให้คนงานหรือผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงได้รับรับบาดเจ็บ พิการ หรือตายด้วย
ว่าไปแล้ว คนทั่วไปมักจะพูดถึง “ความเสี่ยง” และ “อันตราย” ในความหมายที่คล้ายกันและหลายท่านก็ใช้แทนกันด้วย ซึ่งสามารถเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว ทั้ง 2 คำนี้ มีความหมายต่างกัน (จากหนังสือ “คู่มือการประเมินความเสี่ยง ของ กระทรวงแรงงาน”
คำว่า “อันตราย” (Hazard) หมายถึง สิ่งใดๆ ซึ่งมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน สภาพแวดล้อม หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ที่อยู่ใกล้เคียง
ศักยภาพที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายนี้ จะมีอยู่หรือแฝงอยู่ในตัวของ สิ่งของ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องจักร สภาพแวดล้อม หรืออยู่ในวิธีการปฏิบัติงานหรือการบริหารจัดการที่ไม่ถูกต้องก็ได้
ในขณะที่ “ความเสี่ยง (Risk)” หมายถึง โอกาส หรือความเป็นไปได้ของอันตรายที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บ เจ็บป่วย พิการ หรือตาย และหรือเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม และอาจทำให้เกิดความรุนแรงต่อเนื่องได้
โดยหลักการแล้ว “ความเสี่ยง = โอกาสที่จะเกิดอันตราย x ความรุนแรงของอันตราย”
ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็พอจะประมาณได้ว่า “ความเสี่ยง” ก็คือ สิ่งที่มีโอกาสทำให้เราบาดเจ็บ พิการ หรือ ตายได้ จากการสัมผัสสิ่งนั้นหรือทำงานนั้นๆ และอาจทำให้ทรัพย์สินเสียหายด้วยก็ได้
ดังนั้น ความเสี่ยงจึงขึ้นอยู่กับ “โอกาสที่จะเกิด” (ความถี่) และ “ความรุนแรง” (มากน้อยเพียงใด) ส่วนอันตรายจะมากน้อยเพียงใดจะขึ้นอยู่กับมาตรการในการควบคุมป้องกันที่มีอยู่และมาตรการของการลดระดับความเสี่ยงที่มีเพิ่มเติมด้วย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราพบว่าบ่อยครั้งที่โอกาสเกิดเหตุน้อย (เกิดนานๆ ครั้ง) แต่ละครั้งที่เกิดอาจจะรุนแรงถึงขั้นพิการหรือตายก็ได้ (กรณีหม้อไอน้ำระเบิด) แต่มีหลายกรณีที่เกิดเหตุบ่อยๆ แต่ละครั้งก็ไม่ค่อยร้ายแรง อาจทำให้เพียงแค่ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก หรือมีบาดแผลเล็กน้อย (กรณีหกล้ม ของมีคมบาด)
ทุกวันนี้ “อันตราย” และ “ความเสี่ยง” จึงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็น “ต้นตอ” ของความสูญเสียต่างๆ ความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่เราควรจะต้องศึกษาเรียนรู้และต้องหมั่นสังเกตว่า รอบตัวเรามีอะไรที่เสี่ยงหรือมีจุดอันตรายอะไรบ้างที่ต้องกำจัดให้หมดไปหรือต้องป้องกันแก้ไขเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด
ถ้าเราทุกคนรู้ว่า เรากำลังอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ทำงานที่เสี่ยง หรือใช้ชีวิตที่เสี่ยงแล้ว เราก็ต้องหาวิธีลดคววามเสี่ยงหรือ หาวิธีแก้ไขป้องกันอันตรายและความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น และต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า ความเสี่ยงระดับใดที่เรายอมรับได้ด้วยการปล่อยให้คงสภาพอย่างนั้นต่อไป
โดยมั่นใจว่าความเสี่ยงระดับนั้นๆ จะไม่ทำให้กิดความสูญเสีย (เพราะในชีวิตจริงจะไม่มีสภาพแวดล้อมใดๆ ที่ไม่มีความเสี่ยงเลย)
เรื่องของ “การประเมินความเสี่ยง” จึงมีความสำคัญมากขึ้นในวันนี้ จนขยายผลเข้าไปอยู่ในแทบทุกสาขาวิชาของการบริหารจัดการ โดยเฉพาะใน “แวดวงของการเงินการธนาคาร” (Financial and Banking Management)
แต่ “ความเสี่ยง” ต่างๆ จะมีความหมายต่างกันในบริบทที่ต่างกัน รวมทั้ง “วิธีการประเมินความเสี่ยง” ที่มุ่งเน้นถึงการลดระดับความรุนแรงของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเป็นหลัก อาทิ ความเสี่ยงจากการตัดสินใจลงทุน ความเสี่ยงจากการประกอบกิจการธุรกิจอุตสาหกรรม เป็นต้น
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ “ความเสี่ยงจากอันตรายรอบตัว” จะมีแต่ “ความสูญเสีย” เท่านั้น ซึ่งต่างจาก “ความเสี่ยงจากการลงทุน” ซึ่งมีได้มีเสีย ครับผม !