กรุงเทพอภิวัฒน์ เทียบกับต่างประเทศ (จบ) | กันต์ เอี่ยมอินทรา
สัปดาห์ที่แล้ว ผมเขียนเปรียบเทียบระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กับ สถานีกลางโตเกียวของญี่ปุ่นและสถานีกลางคิงส์ครอสของอังกฤษ
สถานีกลางของประเทศที่เจริญแล้วมีมากมายเป็นร้อยสถานี แต่เหตุที่อยากจะเปรียบเทียบกับ 2 สถานีนี้เพราะ สถานีโตเกียวเป็นสถานีที่เก่าแก่และใหญ่โตที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และก็สร้างพร้อม ๆ กับหัวลำโพง เพราะประเทศไทยและญี่ปุ่นเป็นชาติแรก ๆ ในเอเชียที่มีรถไฟและการขนส่งระบบราง
ขณะที่ญี่ปุ่นพัฒนาไปไกลมาก มีเอกชนลงทุนมากมายในเส้นหลายที่หลากหลาย แต่ก็ยังมีช่องว่างที่จะพัฒนาต่อและก็ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การมีรถไฟความเร็วสูงข้ามภูมิภาค การพัฒนาสร้างสายรถไฟและสถานีเพิ่มอย่างต่อเนื่องหรือแม้กระทั่งการพัฒนาสถานีรถไฟเดิม อาทิ สถานีกลางโตเกียวให้เป็นมิตรกับผู้โดยสารสัญจรมากขึ้น
สถานีกลางโตเกียวนั้นคับคั่งมากและมีความวุ่นวาย เพราะเป็นชุมทางสู่ภูมิภาค ดังนั้นจึงมีความซับซ้อนมากและถือเป็นจุดอ่อน ซึ่งทุกคนก็ต่างทราบดี การปรับปรุงสถานีโตเกียวล่าสุดจึงไม่ใช่เป็นเพียงการรักษาสถานีประวัติศาสตร์ แต่ยังทำให้สถานีเก่าที่วุ่นวายแห่งนี้ลดความซับซ้อนลง
ป้ายบอกทางที่ชัดเจน การเพิ่มภาษาต่างชาติ การเพิ่มลิฟต์ ทางลาดและบันไดเลื่อนสำหรับผู้สูงอายุและพิการ ตลอดจนการเพิ่มร้านค้าร้านอาหารมากมายก็เป็นอีกหนึ่งที่ทำให้สถานีโตเกียวดูเป็นมิตรกับผู้สัญจรมากขึ้น
อังกฤษซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแม่แบบของรถไฟที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นนำมาใช้เป็นโมเดลในการพัฒนายุคเริ่มแรกนั้น ถึงแม้จะไม่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและคุณภาพรถไฟไม่ได้ดีเท่าญี่ปุ่น แต่ก็ถือได้ว่าไม่แย่ บุญเก่าซึ่งคือระบบรางที่ครอบคลุมทั้งในเมืองใหญ่และสู่ต่างจังหวัดยังทำให้การเดินทางโดยรถไฟสะดวกและค่อนข้างประหยัด
ถึงแม้เกาะอังกฤษจะแยกตัวออกมาอย่างเอกเทศในเชิงภูมิศาสตร์กับภาคพื้นทวีปยุโรป แต่การเชื่อมต่อกับยุโรปผ่านระบบรางล่องผ่านอุโมงค์ช่องแคบอังกฤษที่เมืองโดเวอร์สู่ฝรั่งเศสนั้นก็เริ่มที่สถานีเซนต์แพนเครียส ซึ่งถือเป็นสถานีที่อยู่ติดกับสถานีคิงส์ครอส ซึ่งถือเป็นตัวอย่างในการเชื่อมการเดินทางระหว่างประเทศให้ง่ายขึ้น
อุโมงค์ช่องแคบอังกฤษไม่เพียงอำนวยความสะดวกต่อระบบรางเท่านั้นแต่ยังเป็นช่องทางในรถยนต์โดยสารไปมาระหว่างกันได้อย่างสะดวก โดยรถยนต์หรือรถบรรทุกสามารถข้ามทะเลได้โดยขับขึ้นไปจอดบนแพลตพอร์มและถูกลากไปด้วยหัวรถจักร
ที่สถานีเซนต์แพนเครียสซึ่งเป็นสถานีที่ถึงแม้จะพัฒนามาจากตึกเก่าแต่ก็มีความใหม่กว่าที่คิงส์ครอส ดังนั้นการตบแต่งจึงสวยงามมีร้านค้า ห้องน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวกหรือแม้กระทั่งมุมพักผ่อนหย่อนใจที่มากกว่าคิงส์ครอส สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีและไม่ไกลเกินเอื้อมที่กรุงเทพอภิวัฒน์จะนำแนวทางมาพัฒนาต่อยอดได้
หัวใจของสถานีกลางคือการเชื่อมต่อของระบบรางในเมืองใหญ่ และจากเมืองใหญ่สู่ภูมิภาคหรือแม้กระทั่งข้ามประเทศ ซึ่งไทยเรายังมีช่องว่างให้พัฒนาอีกมาก เพราะระบบรางของเราที่มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียหยุดพัฒนามานาน ขณะที่ประเทศอื่น ๆ อาทิ ญี่ปุ่น จีน หรือแม้กระทั่งลาว ก็มีการพัฒนาต่อเนื่องบ้างไม่ต่อเนื่องบ้าง แต่ก็มีการพัฒนา
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนกรุงเทพฯต้องเผชิญกับรถติด เพราะระบบรางที่ดีในระดับหนึ่งแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมเชื่อมต่อเท่าที่ควร แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น ภูเก็ต และหาดใหญ่ ที่ไม่มีแม้กระทั่งรถโดยสารประจำทาง คนกรุงเทพฯยังโชคดีกว่ามากมายนัก