เปิดประวัติ 'วันมวยไทย' 6 ก.พ. ศิลปะไทย ที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก(มีคลิป)
'มวยไทย' ถูกยกให้เป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย ถือเป็นศิลปะการป้องกันตัวที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก อีกทั้ง วันที่ 6 กุมภาพันธ์ของทุกปี ยังถือเป็น 'วันมวยไทย' อีกด้วย
'มวยไทย' เป็นศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวของชาติไทยที่มีมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ และได้รับการสืบทอดมาสู่ชนรุ่นปัจจุบัน ศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวของไทยแขนงนี้ เป็นการฝึกฝนให้สามารถใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายเป็นอาวุธได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันได้แก่ มือ เท้า เข่า ศอก รวมถึงศรีษะ
จึงเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ครบเครื่องมีพิษสงรอบด้าน จนเกิดการถ่ายทอดและมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เป็นที่นิยมไปทั่วไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่ยังได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศโซนยุโรปและทั่วโลก ซึ่งเป็นกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก
จากเหตุผลดังกล่าว ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2556 กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทยให้เป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในคุณค่าและยกย่ององค์ความรู้ และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย เพื่อให้มรดกอันทรงคุณค่านี้ได้รับการยกย่อง ส่งเสริม และเชิดชูให้คนในชาติให้ความสำคัญต่อศิลปะการป้องกันตัวของตนเองที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
6 กุมภาพันธ์ วันมวยไทย
สำหรับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งได้ถูกกำหนดให้เป็น "วันมวยไทย" นั้น ข้อมูลจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า กระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมมือกับ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้มีการสถาปนา "วันมวยไทย” โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ กำหนดให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันมวยไทย
ซึ่งตรงกับวันเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าเสือ) ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระปรีชาสามารถด้านมวยไทยเป็นที่ประจักษ์ และเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ที่เสด็จออกไปชกมวยกับสามัญชน ตามบันทึกในพงศาวดาร (ฉบับพระราชหัตเลขา พ.ศ.2542) ที่กล่าวว่า
พระเจ้าเสือ ทรงแต่งกายแบบชาวบ้าน และเสด็จทางชลมารคพร้อมเรือตามเสด็จ ไปจอดที่ตำบลตลาดกรวด ซึ่งมีงานมหรสพมีผู้คนไปเที่ยวงานอย่างเนืองแน่น มีการละเล่นมากมายหลายอย่าง พระองค์เสด็จไปยังสนามมวยและให้นายสนามจัดหาคู่ชกให้ โดยนายสนามประกาศให้ประชาชนทราบว่า พระองค์เป็นนักมวยจากเมืองกรุง ประชาชนสนใจมาก เพราะสมัยนั้น นักมวยกรุงศรีอยุธยามีชื่อเสียงมาก
นายสนามได้จัดเอานักมวยฝีมือดีของเมืองวิเศษไชยชาญเท่าที่มีอยู่ มาเป็นคู่ชก พระเจ้าเสือได้ชกกับ นักมวยถึงสามคนมี นายกลาง หมัดตาย นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก ซึ่งแต่ละคนมีฝีมือดีเยี่ยม การต่อสู้เป็นไปอย่างน่าดูด้วยฝีมือเก่งพอ ๆ กัน แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและความชำนาญในศิลปะมวยไทย ที่พระองค์ได้ทรงฝึกหัดและศึกษาจากสำนักมวยหลายสำนัก จึงทำให้พระองค์สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ทั้ง 3 คนได้ โดยที่คู่ต่อสู้ต่างได้รับความบอบช้ำเป็นอันมาก และได้รับรางวัลเป็นเงินหนึ่งบาท ส่วนผู้แพ้ได้สองสลึง ซึ่งพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยกับการได้ชกมวยในคราวนั้นไม่น้อย
และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ใช้ศิลปะมวยไทยมาใช้ต่อสู้ปกป้องราชอาณาจักรให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชาวต่างชาติ ตามบันทึกว่า พระเจ้าเสือทรงมีฝีมือการชกมวยไทยชำนาญมาก ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งขุนหลวงสรศักดิ์ เคยใช้ศิลปะมวยไทยไล่ชกเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน จนฟันหักไปสองซีก ซึ่งเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เป็นขุนนางฝรั่งที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดปรานเป็นอย่างมาก
ในสมัยอยุธยา จะมีกองกำลังทหารกองหนึ่งทำหน้าที่ถวายอารักขาพระเจ้าแผ่นดิน เรียกว่า 'กองทนายเลือก' ผู้ที่ได้ทำงานในกองนี้ได้รับการคัดเลือกมาจากนักมวยฝีมือดี ทนายเลือก มีบทบาทสำคัญและอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน ดังปรากฏว่า ระหว่างที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงประชวรใกล้สวรรคต มีข่าวว่า เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ คิดก่อการกบฏ ขุนหลวงสรศักดิ์ได้ใช้ทนายเลือกไปลวงเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เข้ามาในพระราชวัง พอเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ นั่งเสลียงคนหามเข้ามา ทนายเลือกจึงตีด้วยไม้พลองแล้วฆ่าเสีย
จากการที่พระเจ้าเสือทรงพระปรีชาสามารถเกี่ยวกับมวยไทย จึงทรงคิดท่าแม่ไม้ ไม้กลมวยไทยขึ้นมาเป็นแบบเฉพาะพระองค์ เรียกว่า 'มวยไทยตำรับพระเจ้าเสือ' จากที่ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยรัชการที่ 5 ซึ่งเป็นตำรามวยตำรับพระเจ้าเสือที่เก่าแก่ที่สุด เป็นมรดกทางภูมิปัญญาจากบรรพชนที่ได้รับการถ่ายทอดมาสู่ชนรุ่นหลัง และสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
สืบสาน วันมวยไทย ปี 2566
สำหรับ 'วันมวยไทย' ในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ตระหนักถึงความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ มวยไทย ศิลปะการป้องกันตัวและศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ ที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และเป็น Soft Power พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ร่วมจัดที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สำหรับบรรยากาศช่วงเช้า ณ ตำหนักพระเจ้าเสือ วัดตึก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เวลา 08.39 น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีมอบสมรรถนะครูมวยไทย พิธีบวงสรวงสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าเสือ) โดยมีนายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และผู้บริหาร นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะกรรมการบริหารสมาคมกีฬามวยไทยพระเจ้าเสือ พระครูภาวนาวชิรคุณ เจ้าอาวาสวัดตึก ร่วมพิธี พร้อมด้วยเครือข่ายวัฒนธรรม ประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมงานจำนวนมาก
พิธีดังกล่าวมีนายจรัสเดช อุลิต ครูมวยไทยอาวุโส (เจ้าพิธีประกอบพิธีบวงสรวง) จากนั้นเจ้าหน้าที่งานพิธีได้นำมงคลมอบแก่ประธานในพิธีเพื่อทำการมอบให้กับครูมวยไทยได้ใช้ประกอบพิธีครอบครู โดยมีครูมวยไทยทำหน้าที่ครอบครูในครั้งนี้ นำโดย นายจรัสเดช อุลิต นายกสมาคมกีฬามวยไทยพระเจ้าเสือ นายปรเมษฐ์ ภักดีคีรีไพรวัลย์ เลขาสมาคมกีฬามวยไทยพระเจ้าเสือ นายชาญณรงค์ สุหงษา นายกสมาคมสถาบันศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทย นายชินวุธ ศิริสัมพันธ์ นายกสมาคมครูมวยไทย นายแสวง วิทยพิทักษ์ อุปนายกสมาคมมวยโบราณ พร้อมวิทยากรครูมวยไทยอาชีพ License กกท. ทำพิธีครอบครูให้นักเรียนมวยไทย
จากนั้น จึงเป็นกิจกรรม พิธีไหว้ครูร่ายรำมวยไทยเทิดพระเกียรติสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (สมเด็จพระเจ้าเสือ) ประกอบด้วย ครูมวยไทย ครูมวยไทยต่างประเทศ นักมวย พร้อมนักเรียนมวยไทย จำนวน 668 คน ร่ายรำมวยไทยเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งมวยไทย อย่างพร้อมเพรียงสวยงามสมพระเกียรติอย่างยิ่ง พิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะและผู้เข้าประกวดคีตะมวยไทยเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าเสือ จำนวน 8 รางวัล ได้รับเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัล จากนั้นเป็นการแสดงคีตะมวยไทยเทิดพระเกียรติฯ โดยผู้แสดงประกอบด้วยนักเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นักแสดงคีตะมวยไทย ชมรมมวยไทยพระเจ้าเสือประเทศเกาหลี ร่วมแสดง ปิดท้ายด้วย การแสดงศิลปะแม่ไม้มวยไทย 15 แม่ไม้ และลูกไม้มวยไทย 15 ลูกไม้ ที่หาชมได้ยากซึ่งทำให้ผู้ชมงานได้ตื่นตาตื่นใจและประทับใจในศิลปะการต่อสู้มวยไทย ที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
ส่วนกิจกรรมในภาคบ่าย มีการเสวนาหัวข้อ “มวยไทย : ที่มาและความสำคัญกับการขึ้นทะเบียนยูเนสโก” ณ ห้องประชุม อาคารเครื่องทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ กรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รองศาสตราจารย์ชัชชัย โกมารทัต อนุกรรมการกลั่นกรองด้านการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว นายจรัสเดช อุลิต นายกสมาคมกีฬามวยไทยพระเจ้าเสือ ฯลฯ
ส่วนที่อุทยานราชภักดิ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เวลา 16.30 น. นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และผู้บริหาร ร่วมงานเฟสติวัลมวยไทย ประจำปี 2566 “Amazing MuayThai Festival 2023” โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้จัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ประวัติความเป็นมา ความสำคัญของมวยไทย และกิจกรรมการสาธิต ให้ผู้เข้าชมงานเทศกาลมวยไทย ได้ร่วมประดิษฐ์เครื่องแต่งกายนักมวยสมัยโบราณ พร้อมรับเป็นที่ระลึก เช่น มงคล สวมศีรษะ ประเจียด ผูกกับต้นแขน เป็นต้น
อ้างอิง : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม