อนาคตของคนรุ่นใหม่ | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า คนรุ่นใหม่ของไทยจำนวนหนึ่ง กำลังหาลู่ทางยักย้ายส่ายสะโพกไปอยู่ประเทศใหม่ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะมีอนาคตที่ดีกว่า
ที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะคนรุ่นใหม่สามารถรับข้อมูลข่าวสารหลายช่องทาง เห็นโลกกว้าง เห็นโอกาสมากกว่าคนรุ่นเก่าก็ย่อมจะเห็นโลกแบบข้ามพรมแดน คนรุ่นใหม่ในประเทศอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ต่างก็ขวนขวายหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของตนในอนาคต
ที่สำคัญก็คือ คนรุ่นใหม่คงรู้แล้วว่าโลกในอนาคตซึ่งแม้แต่ในปัจจุบันก็เป็นโลกที่ VUCA คือ ผันแปร (volatile) ไม่แน่นอน (uncertain) ซับซ้อน (complex) และคลุมเครือ (ambiguous)
ก่อนที่จะเกิดโรคระบาดโควิด-19 โลกอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างที่จะสมบูรณ์พูนสุข ปลอดภัย และสงบสุขมากกว่ายุคอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ ส่วนหนึ่งเกิดจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า การเข้าถึงและการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย
ความสามารถของมนุษย์ในการจัดการสถาบันสังคมทั้งในระดับย่อยและระดับชาติ รวมถึงการจัดระเบียบระดับโลก นักคิดและนักประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งคือ Yuval Harari ถึงกับประกาศในหนังสือ ซึ่งดังไปทั้งโลกชื่อ Sapien ว่า
ยกเว้นปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โลกได้หมดยุคแห่งความทุกข์เข็ญที่จะเกิดจากโรคระบาด สงคราม และความอดอยากหรือข้าวยากหมากแพง
แต่เมื่อโควิด-19 มาเยือนโลก ปรากฏว่าคำพยากรณ์นี้ผิดทั้งหมด โลกพบทั้งโควิด 19 สงครามล้างเผ่าพันธุ์และความไม่สงบในหลายประเทศ เช่น เมียนมาและยูเครน ผลพวงที่ตามมาจากสงครามยูเครนก็คือ เงินเฟ้อ ภาวะขาดแคลนอาหาร และน้ำมัน การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกจะทำให้อนาคตของภูมิภาคต่างๆ ไม่แน่นอน คาดเดาและพยากรณ์ได้ยากขึ้น
อนาคตจึงมีหลายเส้นทางมากขึ้น ขึ้นอยู่กับระบบนิเวศ (ecosystem) และที่สำคัญก็คือการตัดสินใจและการออกแบบชีวิตของแต่ละคน ซึ่งรวมกันแล้วก็จะกลายเป็นการออกแบบอนาคตของพื้นถิ่นและประเทศไปโดยปริยาย
การศึกษาอนาคตของประเทศไทยโดยมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงอันยิ่งใหญ่ เป็นความเสี่ยงเชิงระบบซึ่งเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม และอำนาจที่รวมศูนย์ ที่สะสมความเหลื่อมล้ำมานานแล้ว
โควิด 19 ยิ่งทำให้เห็นปัญหาดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้น ความท้าทายและความเสี่ยงเชิงระบบนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างในด้านประชากร เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรมและการเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับโลกไม่สมดุลสอดคล้องกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดจากข้อจำกัดด้านขีดความสามารถในการปรับตัวและพัฒนาของประเทศไทยเอง
- ใครในอนาคตจะเป็น Useless Class?
- เด็กเกิดน้อยลงกับอนาคตของครอบครัวไทย
- สื่อออนไลน์: คนรุ่นใหม่ไม่เหมือนเดิม
- ความเสี่ยงกับฉากทัศน์อนาคตของประเทศไทย
ในงานวิจัยชื่ออนาคตประเทศไทย พุทธศักราช 2585 สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มองภาพอนาคตของประเทศไว้ โดยดูจากแนวโน้มที่สำคัญๆ ของโลกและประเทศที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมไทย การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า อนาคตไม่ใช่หนึ่งเดียว
ผู้พยากรณ์ได้แก่ รศ. ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ซึ่งเป็นกูรูด้านการมองอนาคตเชิงวิชาการของไทยได้เสนอว่า เรามีทางเลือกอย่างน้อยที่สุดก็ 4 ทางเลือกด้วยกัน
ทางเลือกที่ 1 ได้รับสมญานามว่า กิ้งกือในเขาวงกต ซึ่งใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นสถานการณ์ที่ถ้าเราไม่ทำอะไร ปล่อยให้คอร์รัปชันและความไร้ประสิทธิภาพกัดกินโครงสร้างการบริหารจัดการทั้งในภาครัฐ ภาคศาสนา ภาคการศึกษา ประเทศเราก็จะถดถอยลงไปสู่โศกนาฏกรรมเป็นกิ้งกือในเขาวงกตคือเจริญช้าและหาทางออกไม่ได้
ทางเลือกที่ 2 ไก่ในเล้าไฮเทค คือภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันเราสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิผล มีการดูแลสภาพแวดล้อมที่ดี แต่ประเทศก็ยังคงเหลื่อมล้ำมากเพราะการครอบงำของทุนขนาดใหญ่ซึ่งมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
ทางเลือกที่เราจะมีรัฐบาลแบบคุณพ่อรู้ดี ซึ่งทำให้เราดูเหมือนจะพัฒนาแล้วในเชิงกายภาพ แต่อาจจะยังไม่พัฒนาแล้วในด้านความเป็นธรรม ความเสมอภาคและเสรีภาพ
ทางเลือกที่ 3 ปลาไหลพ้นโคลนตม คือประเทศไทยได้เติบโตในลักษณะที่เรียกว่าการเติบโตแบบสีน้ำตาล (brown growth) ซึ่งเน้นการผลิตและบริโภคทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และมักนำไปสู่การพัฒนาที่เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา
เรายังไม่ได้ให้ความสนใจกับการดูแลทรัพยากรของชาติไม่ให้เสื่อมโทรม รักษาสภาพสิ่งแวดล้อม เราจึงยังเป็นแค่ปลาไหล ยังไม่สามารถที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดอื่นๆ
ทางเลือกที่ 4 เป็นทางเลือกที่เป็นอุดมการณ์และเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่คือ อนาคตที่เราเป็นนกพิราบไร้พรมแดน (ที่จริงผู้เขียนอยากจะเลือกชื่อฉากทัศน์ว่า พิราบเหนืออินทรีย์มากกว่า) มีชีวิตที่มีเสรีภาพและเสมอภาค
เป็นประเทศที่สามารถใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสำหรับคนทุกคนไม่ใช่สำหรับแค่คนบางคน คนไทยยังไม่เท่าเทียมกันในด้านวัตถุถึงแม้จะดีขึ้นมากแล้วก็ตาม แต่จะมีความเท่าเทียมกันในด้านของโอกาส การแสดงความคิดเห็น ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และมีความปลอดภัยในชีวิต
คำถามก็คือ แล้วเราจะหาเส้นทางที่ไปสู่ทางเลือกที่เราต้องการได้อย่างไร เรื่องนี้ยังยาวเกินกว่าที่จะเสนอในบทความคราวนี้ ขอให้ผู้ที่สนใจไปดาวน์โหลดการศึกษาฉบับเต็มมาอ่านได้ฟรีจากเว็บไซต์ของ แผนงานคนไทย 4.0 แต่ตอบได้อย่างย่อๆ ว่าจะต้องทำอย่างน้อย 4 อย่างด้วยกันคือ
1) สานเสวนากติกาประชาคม เราจะต้องหันหน้าเข้ากันและหากติกาและทางออกร่วมกัน
2) ดิจิทัลไทยแลนด์ รัฐบาลไทยต้องสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบสนองให้เข้าสู่ยุคแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเต็มตัว และควรใช้ข้อมูลของรัฐให้เป็นประโยชน์กับประชาชน และให้ประชาชนสามารถควบคุมข้อมูลส่วนตัวของตน
3) รื้อสร้างประเทศไทย ปรับรื้อโครงสร้าง หันมาเอาจริงเอาจังกับกลุ่มปลิงในระบบ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่แท้จริงทั้งในระบบการศึกษา ระบบยุติธรรม ระบบราชการ และระบบการเมือง
4) ต้องกระจายอำนาจแบบเครือข่าย ไม่ใช่กระจายอำนาจแบบรวมศูนย์ดังเช่นปัจจุบัน ให้ประชาชนรวมกลุ่มกันมีส่วนร่วมในการจัดการชุมชน ท้องถิ่น และทรัพยากร ส่วนร่วมมากขึ้น
ในระดับส่วนบุคคล แนวทางที่จะช่วยให้คนรุ่นใหม่สามารถออกแบบอนาคตต้องเริ่มที่การศึกษาหาความรู้ แล้วนำมาวิเคราะห์หาเหตุผลและเครื่องมือ ที่สำคัญก็คือเทคโนโลยีดิจิทัล หากคนรุ่นใหม่ไม่มีทักษะด้านดิจิทัลแล้วก็จะตกขบวนรถไฟสายอนาคตที่ดีกว่า
คนรุ่นใหม่ต้องสร้างเครือข่าย เพราะอนาคตไม่ว่าฉากทัศน์ไหนก็เปราะบางจากปัญหาโลกร้อน แต่การที่จะมีเครือข่ายได้ เราต้องรู้จักช่วยคนอื่นก่อน
เครือข่ายเป็นทรัพยากรที่เราสร้างเองได้ ไม่ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นลูกหลานใคร เล่าเรียนหนังสือมามากแค่ไหน และเครือข่ายยังเป็นทรัพยากรที่สามารถร่วมกันสร้างทรัพยากรที่มีค่าอื่นๆ ได้ ในยามที่โลกเข้าสู่ยุคไม่แน่นอน เครือข่ายเป็นที่พึ่งในเวลาที่เรามีความเดือดร้อน เพราะเราก็รู้แล้วว่ารัฐบาลอยู่ไกลเกินกว่าที่เราจะพึ่งได้
เริ่มตั้งแต่วันนี้เลยค่ะ พรุ่งนี้ก็จะสายไปแล้ว!