'ค่าไฟ'ถูกกว่า 'การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค' 2 เท่า แผนใช้ 'กังหันน้ำ'ผลิต
ประหยักค่าไฟกว่าซื้อจาก 'การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค' 2เท่า ยกร่างแผนแม่บท กระจายการใช้ “กังหันน้ำขนาดเล็กคีรีวง” ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ใช้ในพื้นที่เกษตร 40 อำเภอ 6 จังหวัด รอบเทือกเขานครศรีธรรมราช
กล่าวถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ อาจจะนึกถึงเขื่อนขนาดใหญ่ แต่ไม่ใช่เสมอไป เพราะจากการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) วิจัย พัฒนา ติดตั้ง และทดลองใช้กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่หมู่บ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี 2548 จนสามารถติดตั้ง “กังหันน้ำคีรีวง” ที่มีกำลังผลิต 1 กิโลวัตต์ เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2552 ปัจจุบันติดตั้งแล้วกว่า 160 ชุด มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันกว่า 110 กิโลวัตต์ และมีแผนขยายการใช้ไปในอีก 40 อำเภอ 6 จังหวัด รอบเทือกเขานครศรีธรรมราช
ผศ.ดร.อุสาห์ บุญบำรุง หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า มจธ.พัฒนากังหันน้ำที่ผลิตไฟฟ้าขนาดต่าง ๆ ทั้งขนาด 300 วัตต์ 1 กิโลวัตต์ 3 กิโลวัตต์ ไปจนถึงการต่อยอดพัฒนาจากกังหันพลังน้ำที่ผลิตไฟฟ้ากระแสสลับ (AC)
ไปสู่กังหันน้ำผลิตไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ที่ออกแบบใช้งานได้ที่ระดับความสูงหัวน้ำต่ำ ๆ และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงขึ้น จากการนำไฟฟ้าที่ผลิตได้เก็บไว้ในแบตเตอรี่ ทำให้ระบบจ่ายไฟฟ้าได้มากกว่า 3 กิโลวัตต์ ซึ่งหมายถึงประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การใช้ตู้เย็น การใช้ตู้แช่เพื่อแช่แข็งทุเรียน เป็นต้น
ไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานทดแทนที่ถูกบรรจุอยู่ภายใต้ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 (AEDP2015) แต่ส่วนใหญ่เน้นที่เทคโนโลยีกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบสายส่ง
ทั้งที่เทคโนโลยีกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก มีราคาต่อหน่วยพลังงานต่ำสุดในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ประมาณ 1.5-12 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นเทคโนโลยีนำเข้า ที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงถึงกิโลวัตต์ละ 100,000 บาท เพราะยังไม่มีบริษัทของไทยที่สามารถผลิตกังหันน้ำขนาดเล็กได้ ทั้งที่เป็นเทคโนโลยีที่จะก่อประโยชน์กับเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลจากสายส่งอย่างมาก
ขยายใช้กังหันน้ำใน 40 อ. 6จ.
ผศ.ดร.อุสาห์ กล่าวว่า การพัฒนาแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมกังหันน้ำขนาดเล็กในชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช โดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ภายใต้การสนับสนุนของ วช. ที่จะต่อยอดจากการใช้งานกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กในชุมชนคีรีวง ไปสู่ชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราชทั้งหมด ที่ครอบคลุม 40 อำเภอ ของ 6 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา
เป็นโครงการที่จะทำให้การขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP2018) ตามยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผนปฏิรูปพลังงาน และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG ข้อ 7 สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา ทำให้การผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลของประเทศมีความยั่งยืน
มีการยกร่างแผนแม่บท 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การเพิ่มศักยภาพการผลิต การใช้พลังงานน้ำขนาดเล็กมากที่เหมาะสมและยั่งยืน 2.การสร้างจิตสำนึกและเข้าถึงองค์ความรู้ ต่อการผลิตการใช้พลังงานน้ำขนาดเล็กมากอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และ3.การวิจัยและพัฒนาเพื่อการจัดหาระบบผลิตไฟฟ้าที่ยั่งยืน เป็นแหล่งศึกษาวิจัยและพัฒนา สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของชุมชน
เสียค่าไฟถูกลง 2 เท่า
เงินลงทุนประกอบด้วยค่ากังหันน้ำ ท่อน้ำ สายไฟฟ้า วัสดุประกอบการติดตั้งกังหันน้ำ 37,000 บาท และ 60,000 บาท สำหรับกังหันน้ำ ขนาด 300 วัตต์และ 1 กิโลวัตต์ตามลำดับ ซึ่ง
การติดตั้งใช้งานช่วย ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมตลอด 24 ชั่วโมง จากการใช้ระบบกังหันน้ำผลิตไฟฟ้า คิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 1,314 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี และ 4,380 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี(ที่ Capacity factor 0.5) สำหรับกังหันน้ำ ขนาด 300 วัตต์-ชั่วโมง และ 1 กิโลวัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการพลังงานเพื่อการอุปโภค บริโภคในปัจจุบัน เช่น มีไฟฟ้าแสงสว่างใช้ตลอดคืน มีไฟฟ้าส้าหรับการล่อแมลงศัตรูผลไม้ มีไฟฟ้า โทรทัศน์ วิทยุ ไฟฟ้าสำหรับเครื่องมือการเกษตรขนาดเล็ก เป็นต้น
ผลตอบแทนการลงทุน กรณีเปรียบเทียบกับการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การวิเคราะห์ทางด้านการเงินในการติดตั งระบบกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก เมื่อรวมผลประโยชน์ จากอัตราค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ 5,256 บาท/ปี และ 17,520 บาท/ปี (เมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อไฟฟ้า จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในอัตรา 4 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง) สำหรับกังหันน้ำขนาด 300 วัตต์และ 1 กิโลวัตต์ ที่อายุโครงการ 20 ปี
เมื่อสิ้นสุดโครงการมีผลประโยชน์สูงกว่าต้นทุนถึง 19,279 บาท และ 132,820 บาท ตามลำดับ ระยะเวลาคืนทุน ในการติดตั้งระบบกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาด 300 วัตต์และ 1 กิโลวัตต์ อยู่ที่ 7 ปี 2 เดือน และ 3 ปี 6 เดือน ตามลำดับ
คิดเป็นมูลค่าพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบกังหันน้ำ 2.7 บาท/กิโลวัตต์- ชั่วโมง และ 1.3 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่อยู่ที่ 4 บาท
“การนำกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากมาใช้งานในพื้นที่ชุมชนคีรีวง การจะทำให้พื้นที่เป็นแหล่งที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เอื้อประโยชน์ชุมชนรอบเทือกเขาแห่งนี้อย่างยั่งยืน ความเข้มแข็งชุมชนสำคัญมาก ต้องทำให้แต่ละคนเห็นถึงประโยชน์และความคุ้มค่าของการติดตั้งอย่างเป็นรูปธรรม โดยทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างยั่งยืน” ผศ.ดร. อุสาห์กล่าว