ถอดรหัสคำเตือน ‘เวิลด์แบงก์’ โลกเข้าสู่วิกฤติ ‘ความไม่มั่นคงทางอาหาร’

ถอดรหัสคำเตือน ‘เวิลด์แบงก์’ โลกเข้าสู่วิกฤติ ‘ความไม่มั่นคงทางอาหาร’

ผลกระทบจากสงครามยูเครน ส่งผลเสียถึง “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” ของหลายๆ ประเทศทั่วโลก ที่นอกจากผลผลิตด้านอาหารจะมีราคาแพงแล้ว ยังกระทบการนำเข้าและส่งออกด้วยแม้ว่าก่อนหน้านี้ราคาอาหารทั่วโลกจะลดลงกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมยังถือว่ามีราคาสูงลิ่ว

Key Points:

  • ปัญหาเงินเฟ้อกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของประชาชนในหลายประเทศ ส่งผลให้ แอฟริกา อเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา เอเชียใต้ ยุโรป และเอเชียกลาง ได้รับผลกระทบด้านราคาอาหาร
  • แม้ว่าราคาผลผลิตจะยังสูงอยู่ แต่ราคาของผลผลิตลดลงตั้งแต่  7%, 6% และ 2% ตามลำดับ เมื่อเทียบข้อมูลรายปี
  • แม้ว่าไทยไม่ได้ติดลำดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศเสี่ยงเผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารแต่ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงอยู่

จากกรณี “อัตราเงินเฟ้อในราคาอาหาร” ของหลายๆ ประเทศทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูงอ้างอิงจากข้อมูลจากธนาคารโลกล่าสุด ระหว่างเดือน ต.ค. 2565 ถึง ก.พ. 2566 ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อราคาอาหารดีดตัวขึ้นสูงลิ่ว โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ซึ่งมีระดับเงินเฟ้อสูงกว่า 5% ในหลายๆ ประเทศ โดยมีสัดส่วนคือ

  • 94.1% ของประเทศที่มีรายได้ต่ำ 
  • 86% ของประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับล่าง 
  • 87.0% ของประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน 

นอกจากนี้ ยังมีอีกประมาณ 87.3% ของประเทศที่มีรายได้สูง ก็กำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อราคาอาหารสูงเช่นกัน ทั้งนี้กลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอยู่ในแอฟริกา อเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา เอเชียใต้ ยุโรป และเอเชียกลาง

ในส่วนของดัชนีราคาสินค้าเกษตรและธัญพืชปิดลดลง 2% และ 5% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีราคาส่งออกปิดที่ระดับเดียวกัน ได้แก่ ราคาข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าว ปิดลดลงเมื่อเทียบกับสองสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า ราคาของผลผลิตลดลงตั้งแต่ 7%, 6%  และ 2% ตามลำดับ เมื่อเทียบข้อมูลรายปี โดยสามารถแบ่งตามผลผลิตและราคาได้ดังนี้

ราคาข้าวโพดและข้าวสาลีลดลง 15% ในขณะที่ราคาข้าวสูงขึ้น 19% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2564 ราคาข้าวโพดและข้าวสาลีสูงขึ้น 24% และ 7% ตามลำดับ ขณะที่ราคาข้าวลดลง 3%

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก Market Monitor ฉบับเดือน มี.ค. 2566 ของ Agricultural Market Information System (AMIS) ย้ำว่า ความไม่แน่นอนของตลาดเกษตรนั้นเกิดขึ้นในขณะที่สงครามในยูเครนยังดำเนินต่อไป การผลิตอาหารที่ลดลงของยูเครนถือเป็นตัวบ่งชี้ว่า ประเทศอื่นๆ จะต้องปลูกธัญพืชและเมล็ดพืชน้ำมันเพิ่ม เพื่อเก็บไว้สำรองสำหรับผู้คนทั่วโลกและส่งผลให้เกิดการลดราคา

ที่สำคัญ แม้ว่าราคาอาหารทั่วโลกจะลดลงจากระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ แต่ในภาพรวมก็ยังถือว่าสูงอยู่ และการจำกัดการส่งออกใหม่ อาจทำให้ราคายิ่งดีดตัวพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง ในระยะเวลา 1 ปีหลังจากที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน ทำให้มาตรการจำกัดการส่งออกจำนวนมากเป็นอันต้องสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม ราคาผลผลิตที่ยังสูงอยู่นั้นส่วนใหญ่สะท้อนถึงภาวะเงินเฟ้อในวงกว้างทั่วโลก และด้วยข้อจำกัดต่างๆ ที่เหลืออยู่ยังคงเป็นปัญหา เช่น ข้อจำกัดการส่งออก 101 รายการ ที่รวมถึงโควตา ใบอนุญาต และการห้ามส่งออก ที่คงถูกบังคับใช้อยู่ ซึ่งสวนทางกับหลักการของ “องค์การการค้าโลก” ที่ว่าด้วยการจำกัดการส่งออกควรเป็นไปแบบชั่วคราว

นอกจากนี้ยังมีการประมาณการว่า ข้อจำกัดเหล่านั้นครอบคลุมการค้าอาหารทั่วโลกมากกว่า 11% ในปี 2565 โดยที่การห้ามส่งออกเพียงอย่างเดียวคิดเป็น 3.8% แม้ว่าประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกอาหารเพียงเล็กน้อยจะมีข้อจำกัดที่เหลือเกือบทั้งหมด

สำหรับ 10 อันดับ ประเทศแรกที่กำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารที่ประเมินจากข้อมูล “อัตราเงินเฟ้อในราคาอาหาร” มีดังต่อไปนี้

1. ซิมบับเว 264%

2. เลบานอน 139%

3. อาร์เจนตินา 99%

4. อิหร่าน 73%

5. ตุรกี 67%

6. กานา 61%

7. ซูรินาม 58%

8. รวันดา 58%

9. ศรีลังกา 54%

10. ลาว 49%

แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็จัดอยู่ในประเทศกลุ่มสีส้มจากทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ สีแดง มีความเสี่ยงสูง, สีส้ม มีความเสี่ยงปานกลาง, สีส้มอ่อน มีความเสี่ยงน้อย และ สีฟ้า ไม่มีความเสี่ยง

นั่นหมายความว่า ประเทศไทยเองก็มีความเสี่ยงจะเกิดปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องรีบหาทางแก้ไขร่วมกัน

อ้างอิงข้อมูล : World Bank