ยุตินำเข้าข้าวโพด แก้ฝุ่นพิษได้จริงหรือ? | พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล
ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน หลายคนแสดงความคิดเห็น โดยพยายามหาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษแต่ดูเหมือนจะไปกันคนละทางสองทาง
ไม่มีใครรวบรวมประเด็นที่มาและชี้แนะแนวทางแก้ไขได้อย่างครอบคลุมรอบด้าน โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่มาแทน เช่น บางพรรคการเมืองที่เสนอแนวคิดเพื่อเรียกคะแนนเสียง หรือ NGO ที่ใช้โอกาสนี้ทำผลงาน โดยไม่มองผลกระทบใหม่ที่จะตามมา
สาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นควันก็คือ “ไฟป่า” ซึ่งเกิดจากภัยธรรมชาติ และไฟป่าจาก “ฝีมือมนุษย์” ที่เผาเพื่อหาของป่า หรือไถกลบพืชไร่ เช่น อ้อย ข้าวโพด ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสาเหตุ
ทั้งการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงบนท้องถนน การผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ต้องใช้พืชไร่มหาศาล การขับเคลื่อนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม แม้แต่กิจกรรมจุดธูป-เทียนไหว้พระ เผากระดาษไหว้เจ้า หรือการสูบบุหรี่ ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สร้างฝุ่นควันขึ้นมาบนโลกใบนี้ได้ทั้งสิ้น
ล่าสุด กลับมีบางหน่วยงานเสนอให้ยุตินำเข้าข้าวโพดจากเพื่อนบ้าน ซึ่งมีข้อจำกัดมากมาย และมองไม่เห็นเลยว่าจะแก้ปัญหา PM2.5 ได้อย่างไร ในทางกลับกัน จะกลายเป็นการสร้างปัญหาให้ประเทศต้องแก้ไขอีกหลายเปลาะ
ประการแรก : ต้องเข้าใจภาพรวมก่อน ว่าประเทศไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เพียง 5 ล้านตันต่อปี แต่ความต้องการใช้มีราว 8 ล้านตันต่อปี
ขณะเดียวกันไทยก็ได้ลงนาม “ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน” (ASEAN Free Trade Area หรือ AFTA) ของประเทศในภูมิภาคนี้ โดยให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสินค้านำเข้าเสรี ไม่ต้องเสียภาษีและไม่มีโควตาตลอดปี
แต่ประเทศไทยอนุญาตให้นำเข้าได้เฉพาะช่วงกุมภาพันธ์-สิงหาคมเท่านั้น ในขณะที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ เปิดเสรีตลอดปี แค่นี้ยังสร้างปัญหากลายเป็นดินพอกหางหมูมาจนถึงปัจจุบัน กระทบต่อเนื่องไปถึงต้นทุนการผลิตภาคปศุสัตว์ ทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งเรื่อยมา
ประการต่อมา : การจะยุตินำเข้าข้าวโพดกับประเทศสมาชิก หากมีหลักฐานชัดเจนว่าเราได้รับผลกระทบจากเพื่อนบ้านเท่านั้น ในไทยไม่มีการเผาใดๆ เลย ก็อาจเป็นเหตุเป็นผลพอรับฟังได้
แต่ถ้าไม่ใช่ มันก็จะย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแผนที่จุด Hot Spot ผ่านดาวเทียมที่ทุกประเทศมี ประเทศไทยก็คงถูกประชาคมโลกประณามและงัดมาตรการใดๆ ขึ้นมาตอบโต้ให้ต้องแก้ปัญหาอีกหลายตลบ
ประการที่สาม : สำหรับประเด็นจุด Hot Spot ในเมียนมา มีการศึกษาหรือไม่ว่าจุดความร้อนนั้นเกิดจากไฟป่าเหมือนบ้านเรา หรือเกิดจากอะไรกันแน่ ที่สำคัญ การจัดการแก้ปํญหาฝุ่นควันในประเทศเมียนมานั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของใคร?
หรือเป็นความผิดของ “พ่อค้าพืชไร่ชาวไทย” ที่ไปนำเข้าข้าวโพดมาปรับปรุงคุณภาพ ลดความชื้น แล้วส่งขายให้บริษัทต่างๆ โดยต้องแข่งขันกับพ่อค้าจากเวียดนามและจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของ “ข้าวโพดเมียนมา” เช่นกัน
ตรงนี้ก็เป็นประเด็น เมื่อกระทรวงพาณิชย์ของไทยดันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศให้สูงกว่าตลาดโลก จึง “ล่อใจ” ให้พ่อค้าพืชไร่เร่งนำเข้าจากเมียนมา ถึงขนาดมีการลักลอบนำเข้าในช่วงเดือนที่ประเทศไทยห้ามนำเข้า ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเมียนมาขายได้ราคาดีตามไปด้วย
เมื่อราคาสูงขึ้นเกษตรกรก็เร่งขยายการปลูกทั้งในไทยและในเมียนมา เป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยมา
ประการที่สี่ : ภาคเอกชนไทยมีความพยายามอย่างยิ่งในการเรียกร้องให้ภาครัฐ ยกระดับมาตรฐานการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยสนับสนุนมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice)
เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบโต้จากผู้นำเข้าสินค้าปศุสัตว์ในยุโรปในประเด็นความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็คือแนวทางในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด
โดยกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมี ไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนได้ผลผลิตสูง คุ้มค่าการลงทุน ก่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเกษตร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
หากจะยุติการนำเข้าข้าวโพดเพื่อนบ้าน ประเทศไทยต้องมั่นใจว่าข้าวโพดของไทยทั้งประเทศมีมาตรฐาน GAP แล้ว ซึ่ง ณ ตอนนี้มาตรฐานดังกล่าวยังเป็นเพียงมาตรฐานสมัครใจ ไม่ใช่มาตรฐานบังคับ
จึงได้เห็นเพียงบริษัทใหญ่บางรายที่มีความพร้อมเท่านั้นที่สามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้อย่างมีมาตรฐานและบรรลุเป้าประสงค์ รับซื้อเฉพาะข้าวโพดที่ปราศจากการรุกป่าและการเผาได้แล้ว 100% โดยประเทศคู่ค้าของเขาสามารถตรวจสอบกลับได้จนถึงต้นทาง
ประการที่ห้า : การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างยุตินำเข้าข้าวโพดเสียดื้อๆ ใครจะรับประกันได้ว่าประเทศเพื่อนบ้านจะหยุดเผา เพราะเขายังขายข้าวโพดให้เวียดนามและจีนได้ตลอดทั้งปี
สมมติว่าไทยไม่สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวโพดในประเทศอีก 3 ล้านตันตามมาตรฐาน GAP และยังยุติการนำเข้าจากแหล่งอื่นอีก ก็หมายความว่า ผลผลิตข้าวโพดไม่พอใช้ ประเทศไทยจะผลิตสินค้าปศุสัตว์ลดลงราว 30%
กระทบเป็นลูกโซ่ให้ปริมาณอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค เกิดเป็นความไม่มั่นคงทางอาหารของประเทศไปเสียอีก ซึ่งอันตรายมาก เพราะนอกจากจะไม่แก้ปัญหาฝุ่นควันแล้ว ยังทำให้อาหารขาดแคลนและมีราคาแพงลิบ เดือดร้อนประชาชนคนไทยไปอีกยก
แนวทางแก้ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีหลายปาร์ตี้เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ผู้ปลูก ผู้นำเข้า และผู้ใช้ ซึ่งจำเป็นต้องแก้พร้อมๆ กันทั้งระบบ ซึ่งไม่ใช่เพียงอาณาเขตประเทศไทย แต่รวมถึงทุกๆ ประเทศในอาเซียน
สิ่งที่เล่ามา น่าจะพอทำให้เห็นภาพใหญ่ได้พอสมควร หากทุกภาคส่วนช่วยกันอย่างจริงใจ ศึกษาให้ลึกถึงแก่นแท้ของมัน เชื่อว่าจะช่วยให้ “ข้าวโพด” ตอบโจทย์การแก้ปัญหา PM2.5 ได้ดีกว่าแค่แนะให้ยุตินำเข้าเฉยๆ ซึ่งไม่มีข้อดีใดๆ จากคำแนะนำนี้เลยแม้แต่นิดเดียว